หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบ
ปรับปรุงล่าสุด : 5 มกราคม 2566
โครงการที่จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- เป็นกิจการที่กำหนดไว้ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ตาม ประกาศคณะกรรมการ ที่ 9/2565 ประกอบด้วย
-
หมวด 1 อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
หมวด 2 อุตสาหกรรมการแพทย์
หมวด 3 อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์
หมวด 4 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมวด 5 อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ
หมวด 6 อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี
หมวด 7 สาธารณูปโภค
หมวด 8 อุตสาหกรรมดิจิทัล
หมวด 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
หมวด 10 บริการที่มีมูลค่าสูง
กรณีที่โครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม เป็นกิจการที่ไม่มีกำหนดไว้ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน อาจเป็นกิจการที่ BOI ประกาศระงับให้การส่งเสริมไปแล้ว หรือเป็นกิจการประเภทใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ขอรับการส่งเสริมมาก่อนก็ได้
กรณีที่เป็นกิจการประเภทใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริม คณะกรรมการจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดประเภทการให้การส่งเสริมการลงทุนขึ้นใหม่เป็นกรณีๆ ไป
- มีขนาดการลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ยกเว้นกิจการ SMEs ซึ่งกำหนดขนาดการลงทุนขั้นต่ำไว้ 5 แสนบาท
กรณีเป็นกิจการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินการธุรกิจ จะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนของบุคลากรต่อปีไม่น้อยกว่าที่กำหนด
ทั้งนี้ ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายดังนี้
| โครงการริเริ่ม | โครงการขยาย |
ค่าก่อสร้าง | O | O |
ค่าเครื่องจักร ค่าติดตั้ง ค่า Test-run | O | O |
ค่าทรัพย์สินอื่นๆ | O | X |
ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ | O | X |
ค่าที่ดิน | X | X |
ค่าวิชาการ | X | X |
เงินทุนหมุนเวียน | X | X |
- มีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% ของรายได้
ยกเว้นกิจการเกษตรและอาหาร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้
ทั้งนี้ มูลค่าเพิ่มมีแนวทางในการคำนวณดังนี้
มูลค่าเพิ่ม = | รายได้ - ค่าวัตถุดิบ - ค่าบริการที่มาจากแหล่งอื่น | x 100% |
รายได้ |
- มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 : 1 สำหรับโครงการริเริ่ม
สำหรับโครงการขยาย จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ดังนี้
- กรณีมีกำไรสะสม
- คำนวณอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (รวมโครงการขยาย) ไม่เกิน 3:1 หรืออาจเกิน 3:1 ก็ได้ ตามความเหมาะสม
- ดังนั้น โครงการขยายจึงอาจจะไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนก็ได้
- กรณีขาดทุนสะสม
- คำนวณอัตราส่วนหนี้สินของโครงการขยาย ต่อทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระเพิ่มขึ้น ให้ไม่เกิน 3:1
- มีกรรมวิธีการผลิตหรือขั้นตอนการให้บริการที่ทันสมัย
- ต้องใช้เครื่องจักรใหม่
กรณีที่ใช้เครื่องจักรเก่าใช้แล้วจากต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ต้องไม่ใช่เครื่องจักรเก่าในประเทศ หรือเครื่องจักรเก่าที่เคยใช้ในประเทศมาก่อน
- ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
- ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม (กรณีให้นับเป็นขนาดการลงทุนสำหรับยกเว้นภาษีเงินได้)
- กรณีทั่วไป
- ต้องเป็นเครื่องจักรเก่าอายุไม่เกิน 10 ปี นับจากปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า
- กรณีอายุไม่เกิน 5 ปี
ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- กรณีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี
ไม่ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- กรณีการย้ายฐานการผลิต
- กรณีอายุไม่เกิน 5 ปี
ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- กรณีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี
ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 50% ของมูลค่าเครื่องจักรตามบัญชี แต่ไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- กรณีอายุเกิน 10 ปี
ไม่ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
- กรณีอื่นๆ
- สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปี ในโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
เครื่องจักรเก่าที่ผ่อนผันให้มีอายุเกิน 10 ปี และไม่ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพ ได้แก่
- เครื่องจักรที่นำเข้ามาใช้ชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี
- แม่พิมพ์ แม่แบบ หรืออุปกรณ์ที่ใช้งานในลักษณะเดียวกัน เช่น Mold, Dies, Jig, Fixture, Pattern เป็นต้น
- ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน สำหรับกิจการดังนี้
- กิจการตามบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
- การป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยจะพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องสถานที่ตั้งและวิธีจัดการมลพิษ
- กิจการที่มีรายละเอียดโครงการ หรือกิจกรรมต่อเนื่อง ที่อยู่ในข่ายตามประเภทและขนาดโครงการที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม หรือตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ด้วย
- โครงการที่ตั้งในจังหวัดระยอง ต้องปฏิบัติตาม ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.1/2554 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 เรื่อง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง
- เงื่อนไข ISO
- โครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) จะต้องดำเนินการให้ได้ใบรับรองมาตรฐาน ISO 9000 หรือ 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า ภายใน 2 ปี นับแต่วันครบเปิดดำเนินการ
- กรณีปฏิบัติตามเงื่อนไข ISO ไม่ได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี
- โครงการที่มีขนาดการลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เกิน 2,000 ล้านบาท ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริม