หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
การเพิ่มกำลังการผลิต
แนวทางการพิจารณาการขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิต มี 5 วิธี ดังนี้
- การเพิ่มกำลังผลิตโดยเพิ่มเวลาทำงาน
โครงการที่ได้รับส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้เพิ่มกำลังผลิตได้ตามสัดส่วนของเวลาทำงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าโครงการนั้นจะเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้วหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่าง เช่น
-
ก่อนแก้ไข : | มีกำลังผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปีละ 1,000,000 ตัว |
| (เวลาทำงาน 8 ชม./วัน : 320 วัน/ปี) |
หลังแก้ไข : | มีกำลังผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปีละ 3,000,000 ตัว |
| (เวลาทำงาน 24 ชม./วัน : 320 วัน/ปี) |
- การเพิ่มกำลังผลิตโดยลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม
มีแนวทางพิจารณา 2 กรณี ดังนี้
2.1 | กรณีที่ยังไม่เปิดดำเนินการเต็มโครงการ |
| มีแนวทางพิจารณา ดังนี้
|
| 2.1.1 | กรณีที่สิทธิประโยชน์ในการยื่นเป็นโครงการใหม่ แตกต่าง กับสิทธิประโยชน์ของโครงการเดิม
จะอนุญาตให้แก้ไขโครงการได้ เฉพาะกรณีที่เป็นการเพิ่มกำลังผลิตไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริมฉบับแรกเท่านั้น
ในกรณีที่เพิ่มกำลังผลิตเกินกว่า 30% แต่ผู้ได้รับส่งเสริมประสงค์จะขอแก้ไขโครงการโดยไม่ยื่นเป็นคำขอรับการส่งเสริมของโครงการใหม่ จะให้เพิ่มกำลังผลิตได้เพียง 30% ของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริมฉบับแรกเท่านั้น ส่วนกำลังผลิตที่เกินกว่านี้จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกทั้งไม่ให้ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรซึ่งเกินกว่า 30% นี้
แต่ทั้งนี้ จะต้องนำเครื่องจักรในส่วนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเข้ามาภายในระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรที่กำหนดอยู่เดิม และจะต้องเปิดดำเนินการเต็มโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนดอยู่เดิม เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้ขยายเวลา
|
| 2.1.2 | กรณีที่สิทธิประโยชน์ในการยื่นเป็นโครงการใหม่ไม่แตกต่างกับสิทธิประโยชน์ของโครงการเดิม
อนุญาตให้แก้ไขได้ทุกกรณี แม้ว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเกินกว่า 30% ของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริมฉบับแรกก็ตาม
|
2.2 | กรณีที่เปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว |
|
โครงการที่เปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว จะไม่อนุญาตให้แก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในกรณีที่จะต้องมีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมอีก
แต่ทั้งนี้ ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถนำเครื่องจักรที่ประสงค์จะลงทุนเพิ่มเติมไปยื่นขอรับส่งเสริมเป็นโครงการใหม่ก็ได้
|
-
การเพิ่มกำลังผลิตตามผลการตรวจสอบเปิดดำเนินการเต็มโครงการ
กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมนำเครื่องจักรเข้ามาเกินกว่ากำลังผลิตที่ได้รับอนุมัติไว้ในบัตรส่งเสริม และประสงค์จะขอเพิ่มกำลังผลิตตามกำลังผลิตของเครื่องจักรที่มีอยู่จริง จะอนุญาตให้แก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตได้ ตามผลการตรวจสอบเปิดดำเนินการเต็มโครงการของสำนักงาน
การแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตโดยวิธีนี้ จะทำให้บริษัทสามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำลังผลิต ในส่วนที่เกินกว่าบัตรส่งเสริม ได้ตั้งแต่วันที่เปิดดำเนินการเต็มโครงการเป็นต้นไปเท่านั้น
ในกรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมมีกำลังผลิตเกินกว่าบัตรส่งเสริม แต่ยังไม่ประสงค์จะเปิดดำเนินการเต็มโครงการ จะไม่อนุญาตให้แก้ไขกำลังผลิตด้วยวิธีนี้
- การเพิ่มกำลังผลิตโดยการปรับปรุงสายการผลิตหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
โครงการที่เปิดดำเนินการเต็มโครงการไปแล้ว แต่ประสงค์จะเพิ่มกำลังการผลิตโดยปรับปรุงสายการผลิตหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น ลงทุนเครื่องจักรในขั้นตอนการผลิตที่เป็นคอขวด (Bottle Neck) จะอนุญาตให้แก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องสามารถพิสูจน์ข้อมูลดังกล่าวด้วยหลักวิชาการ
การเพิ่มกำลังผลิตโดยวิธีนี้ จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้ในการปรับปรุงสายการผลิตหรือประสิทธิภาพการผลิตออกไปอีกตามความเหมาะสม แม้ว่าโครงการนั้นจะสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรไปแล้วก็ตาม
- การเพิ่มกำลังผลิตโดยวิธีอื่น
นอกเหนือจากการเพิ่มกำลังผลิตข้างต้นแล้ว อาจมีกรณีการเพิ่มกำลังผลิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กลง และมี Cycle Time ในการผลิตลดลง จึงมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นโดยบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักรหรือปรับปรุงประสิทธิภาพใดๆ
กรณีดังกล่าวนี้ จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตเป็นกรณีๆ ไป ตามข้อเท็จจริงของโครงการนั้น
แต่ทั้งนี้ การเพิ่มกำลังผลิตจากประสิทธิภาพของบุคลากร ไม่อยู่ในข่ายที่จะพิจารณาให้เพิ่มกำลังผลิตได้ ดังนั้น ในการขอรับการส่งเสริมจึงควรคำนวณกำลังผลิตสูงสุดจากกำลังผลิตของเครื่องจักรโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณ Loss Factor ซึ่งเกิดจากบุคลากร
การลดกำลังผลิต
กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมประสงค์จะลดกำลังผลิตสินค้าบางรายการหรือทุกรายการ สามารถยื่นคำร้องแก้ไขโครงการเพื่อลดกำลังผลิตได้ โดยมีแนวทางการพิจารณา 2 วิธี ดังนี้
- ยังไม่ได้นำเครื่องจักร/วัตถุดิบในส่วนที่จะลดกำลังผลิตเข้ามา
กรณีที่ผู้ได้รับประสงค์จะลดกำลังผลิต โดยยังไม่เคยนำเครื่องจักรหรือวัตถุดิบในส่วนที่จะลดกำลังผลิตนี้เข้ามาโดยได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า จะพิจารณาให้ลดกำลังผลิตได้ แต่ต้องไม่ทำให้โครงการส่วนที่เหลือมีสาระสำคัญต่ำกว่าหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการให้การส่งเสริม คือ ยังคงต้องมีขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินละทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
กรณีที่โครงการส่วนที่เหลือ มีสาระสำคัญไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้การส่งเสริม คือ มีขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะพิจารณายกเลิกบัตรส่งเสริม
- นำเครื่องจักร/วัตถุดิบในส่วนที่จะลดกำลังผลิตเข้ามาแล้ว
กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมนำเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเข้ามาโดยใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าแล้ว แต่ต่อมาประสงค์จะลดกำลังผลิตสินค้าดังกล่าว จะพิจารณาให้ลดกำลังผลิตลงได้ตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับข้างต้น
แต่ทั้งนี้ เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า และเกินกว่ากำลังผลิตที่จะแก้ไขให้ใหม่นี้ จะต้องส่งคืนกลับไปต่างประเทศ หรือชำระภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|