หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
ภาพรวมการเปิดดำเนินการ
การเปิดดำเนินการ ตามความหมายของ BOI ไม่ใช่หมายถึงการที่บริษัทเริ่มผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือบริการ แต่หมายถึงการที่บริษัทมีการลงทุนครบถ้วนตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดในบัตรส่งเสริม
ดังนั้น บริษัทจะเริ่มผลิตจำหน่าย และใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก่อนการได้รับอนุมัติเปิดดำเนินการก็ได้ แต่หากเมื่อครบกำหนดเปิดดำเนินการแล้ว ไม่สามารถดำเนินการให้ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการได้ จะถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม และต้องชำระภาษีอากรย้อนหลังเสมือนไม่เคยได้รับการส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น
ในการอนุญาตให้เปิดดำเนินการ บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วน ภายในเวลาที่กำหนด ดังนี้
- เครื่องจักรที่ใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม
- ทุนจดทะเบียน
- สัดส่วนการถือหุ้น
- ชนิดผลิตภัณฑ์/บริการและกำลังผลิต
- กรรมวิธีการผลิตหรือบริการ
- ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ
- ที่ตั้งโรงงานหรือสถานประกอบการ
- เงื่อนไขอื่นๆ ที่กำหนดให้ตรวจสอบในขั้นเปิดดำเนินการ
โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนทุกโครงการ จะมีเงื่อนไขกำหนดให้ต้องเปิดดำเนินการภายในเวลา 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักร ซึ่งปกติจะกำหนดไว้เป็นเวลา 30 เดือนนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม ซึ่งหากได้รับอนุมัติให้ขยายเวลานำเข้าเครื่องจักร ก็จะได้รับการขยายเวลาเปิดดำเนินการออกไปด้วย
สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร จะมีเงื่อนไขให้ต้องเปิดดำเนินการภายใน 36 เดือนนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม
ในการพิจารณาอนุญาตเปิดดำเนินการ BOI จะตรวจสอบสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
- ชนิดผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
- จะต้องเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์หรือให้บริการ ตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม
- กำลังผลิต หรือขนาดการให้บริการ
- จะต้องมีกำลังผลิตหรือขนาดการให้บริการสูงสุดตามผลการตรวจสอบ เป็นไปตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม
- กรณีที่มีกำลังผลิตตามผลการตรวจสอบ มากกว่าหรือน้อยกว่าบัตรส่งเสริม แต่ไม่เกินกว่าหรือไม่น้อยกว่า 20% ของบัตรส่งเสริม ให้ถือว่ามีกำลังผลิตเป็นไปตามบัตรส่งเสริม
- กรณีที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 20% ของบัตรส่งเสริม จะอนุญาตให้แก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตตามผลที่ตรวจสอบได้ โดยกำลังผลิตในส่วนที่เกินกว่าบัตรส่งเสริมนี้ จะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามระยะเวลาเท่าที่เหลืออยู่เดิม โดยมีผลตั้งแต่วันที่บริษัทยื่นขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิต
- กรณีที่มีกำลังผลิตน้อยกว่า 80% ของบัตรส่งเสริม จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ โดย BOI จะแก้ไขบัตรส่งเสริมโดยลดกำลังผลิตลงให้เท่ากับผลที่ตรวจสอบได้
- กรรมวิธีการผลิต
- จะต้องมีกรรมวิธีการผลิตเป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม
- กรณีที่มีกรรมวิธีการผลิตเกินกว่าที่ได้รับส่งเสริม จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ แต่เครื่องจักรและวัตถุดิบในส่วนที่เกินกว่ากรรมวิธีที่ได้รับส่งเสริม จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามมาตรา 28, 29 และ 36 เว้นแต่จะยื่นขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มขั้นตอนการผลิต
- กรณีที่มีกรรมวิธีการผลิตน้อยกว่าที่ได้รับส่งเสริม จะต้องยื่นเรื่องขอแก้ไขโครงการเพื่อลดขั้นตอนการผลิต ซึ่งหากได้รับอนุมัติ จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ แต่หากไม่ได้รับอนุมัติ อาจถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม
- ทุนจดทะเบียนและการชำระมูลค่าหุ้น
- จะตรวจสอบจากงบการเงินปีล่าสุด หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า มีทุนจดทะเบียนและชำระมูลค่าหุ้นตรงตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมหรือไม่
- กรณีที่มีทุนจดทะเบียนหรือชำระมูลค่าหุ้นน้อยกว่าที่ระบุในบัตรส่งเสริม จะต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อขอลดทุนจดทะเบียนหรือขอลดการเรียกชำระมูลค่าหุ้น
- สัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย
- กรณีที่ในบัตรส่งเสริมมีเงื่อนไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย จะตรวจสอบจากสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ว่ามีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่
- กรณีที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยน้อยกว่าที่ระบุในบัตรส่งเสริม จะต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อขอลดหรือขอยกเลิกสัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย โดยจะต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์การร่วมทุนที่ BOI กำหนด และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยทั้งหมดด้วย
- ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ
- จะตรวจสอบจากสมุดทะเบียนทรัพย์สิน งบการเงิน และเอกสารอื่น ว่ามีการลงทุนจริง (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริมหรือไม่ (โดยทั่วไป คือ 1 ล้านบาท)
- กรณีที่ขนาดการลงทุนน้อยกว่าเงื่อนไขที่กำหนด และบริษัทไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จะถูกดำเนินการเพิกถอนบัตรส่งเสริม
- สถานประกอบการ
- จะตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานหรือสถานประกอบการ ว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริมหรือไม่ และตรวจสอบว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือใบอนุญาตอื่นที่เทียบเท่าหรือไม่
- เงื่อนไขการได้รับอนุญาตเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เฉพาะกรณีที่มี)
- จะตรวจสอบใบอนุญาตเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เฉพาะกรณีที่มีการระบุเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม
- เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่า (เฉพาะกรณีที่มี)
- กรณีที่มีการใช้เครื่องจักรเก่าใช้แล้ว จะตรวจสอบรายการ จำนวน ปีที่ผลิต และใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักร ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในบัตรส่งเสริมหรือไม่
- กรณีที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม จะต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อขอใช้เครื่องจักรเก่าใช้แล้ว ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด
- กรณีที่ไม่ได้รับอนุมัติให้แก้ไขโครงการเพื่อใช้เครื่องจักรเก่า จะพิจารณาว่าเครื่องจักรดังกล่าว ไม่เป็นเครื่องจักรในโครงการที่ได้รับส่งเสริม จึงอาจทำให้โครงการมีกำลังผลิตหรือกรรมวิธีการผลิตไม่เป็นไปตามที่ได้รับส่งเสริม และจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบ ตามข้อ 2 และ 3 ต่อไป
- กรณีที่เป็นการโยกย้ายสถานประกอบการ
- จะตรวจสอบรายการและจำนวนเครื่องจักร ว่าได้ย้ายจากสถานประกอบการเดิมไปติดตั้งในสถานประกอบการใหม่ ครบถ้วนตามที่ขอรับการส่งเสริมหรือไม่
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|