หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะได้รับอนุญาตให้นำช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการที่เป็นคนต่างด้าว ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลที่อยู่ในอุปการะของช่างฝีมือและผู้ชำนาญการดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยช่างฝีมือและผู้ชำนาญการที่เป็นคนต่างด้าวดังกล่าว จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
การอนุญาตให้ช่างฝีมือและผู้ชำนาญการต่างด้าวเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย และเพื่ออำนวยความสะดวกให้โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น
ดังนั้น ในการใช้สิทธิประโยชน์การนำเข้าช่างฝีมือต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร คณะกรรมการจึงจะกำหนดตำแหน่งหน้าที่การงานของคนต่างด้าว ตลอดจนจำนวน และระยะเวลาที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละโครงการเป็นกรณีๆ ไป
การนำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการต่างด้าวทำงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร มีขั้นตอนดังนี้
- การขอวีซ่าเข้าประเทศไทย
ช่างฝีมือที่จะเดินทางมาปฏิบัติงานในประเทศไทย จะต้องเดินทางเข้าประเทศโดยใช้วีซ่า Non-B โดยมีข้อควรรู้ดังนี้
- จะต้องขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก ก่อนจะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ช่างฝีมือจะต้องเดินทางเข้ามาโดยใช้วีซ่า Non-B ส่วนครอบครัวช่างฝีมือ จะต้องเดินทางเข้ามาด้วยวีซ่า Non-O
- กรณีที่เดินทางเข้ามาโดย Tourist Visa (TR60) หรือ Transit Visa (TS30) จะต้องทำหนังสือถึง BOI เพื่อให้ออกหนังสือขอเปลี่ยนวีซ่าเป็น Non-B หรือ Non-O
- กรณีเดินทางเข้ามาโดยประทับตรา ผ 30 หรือ ผผ 90 จะต้องเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อยื่นขอวีซ่า Non-B, Non-O หรือ TR, TS จากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ โดยสามารถขอหนังสือขอความร่วมมือจาก BOI เพื่อประกอบการยื่นขอประทับตราวีซ่าด้วยก็ได้
- กรณีประเทศที่ช่างต่างชาติมีถิ่นพำนัก ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย สามารถขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศอื่นที่มีพื้นที่ดูแลครอบคลุมประเทศที่ช่างต่างชาติมีถิ่นพำนัก
-
การขออนุมัติตำแหน่ง
คือ ขั้นตอนการขออนุมัติอัตราตำแหน่งช่างฝีมือและผู้ชำนาญการต่างด้าว ที่จำเป็นต้องนำเข้าในราชอาณาจักรเพื่อปฏิบัติงานตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม โดยผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องชี้แจงขอบเขตความรับผิดชอบ จำนวน ระยะเวลา และความจำเป็นของแต่ละตำแหน่งต่อ BOI โดยละเอียด
- การขอบรรจุตัวบุคคล
เมื่อได้รับอนุมัติตำแหน่งแล้ว ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถยื่นคำร้องต่อ BOI เพื่อขอบรรจุช่างฝีมือต่างด้าวในแต่ละตำแหน่ง โดยช่างฝีมือต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ทำงานที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ได้รับอนุมัตินั้น ๆ
ในกรณีที่ช่างฝีมือต่างด้าวครบวาระการปฏิบัติงาน โดยมีช่างฝีมือคนใหม่เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานต่อ ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องยื่นเรื่องแจ้งการพ้นจากตำแหน่งของช่างฝีมือคนเดิม และยื่นขอบรรจุช่างฝีมือต่างด้าวคนใหม่ในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติอยู่เดิมได้
-
การขออนุญาตอยู่ต่อไปในราชอาณาจักร (ต่อวีซ่า)
เมื่อได้รับอนุมัติให้บรรจุช่างฝีมือในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้ว ช่างฝีมือสามารถยื่นต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อขอขยายเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรตามระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก BOI
-
การขอใบอนุญาตทำงาน
เมื่อได้รับอนุมัติให้บรรจุช่างฝีมือในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้ว ช่างฝีมือสามารถยื่นเรื่องต่อกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อขอใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ได้
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|