หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš

รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนกรกฎาคม 2556
โดย : คุณธรรมรัตน์ รัตนพันธ์
นิติกร ระดับชำนาญการ
กลุ่มกฎหมาย สำนักบริหารกลาง

      การส่งเสริมการลงทุนเป็นมาตรการหนึ่งในหลายมาตรการในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการลงทุน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงควบคุมดูแล อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งมาตรา ๓๑1 ได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ซึ่งมีกำหนดเวลาไม่เกิน ๘ ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ

      มาตรา ๓๑ ผู้ได้รับการส่งเสริม จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ซึ่งต้องมีกำหนดเวลาไม่เกินแปดปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
      ในกรณีที่กิจการใดเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้ผู้ได้รับการส่งเสริม ในกิจการดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
      รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณี ให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
      ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริม นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้
      การคำนวณเงินลงทุนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

      ประกอบกับเพื่อให้การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ สอดคล้องกับการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ออกประกาศกรมสรรพากร เรื่ออง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดให้รายได้จากการประกอบกิจการซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายความถึงรายได้ต่างๆ ดังนี้

      ข้อ ๑ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากร

      ข้อ ๒ รายได้ที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น หมายความถึงรายได้ต่างๆ ดังต่อไปนี้

           ๒.๑ รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลิตผล หรือการให้บริการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมไม่เกินปริมาณการผลิตต่อปี หรือไม่เกินขนาดของกิจการที่ให้บริการตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม

           ๒.๒ รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามชนิดและปริมาณตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม

           ๒.๓ รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้และทรัพย์สิน บรรดาที่ใช้ในการประกอบกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป ทั้งนี้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร

      กรณีเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ได้ใช้ในกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ให้เฉลี่ยรายได้ตามวรรคหนึ่ง ตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

           ๒.๔ รายได้ประเภทดอกเบี้ยหรือรายได้อย่างอื่นที่เกิดจากการใด อันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการ ทั้งนี้ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร

      กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ให้เฉลี่ยรายได้ตามวรรคหนึ่ง ตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล


ตัวอย่างที่ ๑
หนังสือที่ กค ๐๗๐๖/พ./๑๑๗๕ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

      ข้อเท็จจริง
      บริษัท ซี จำกัด แจ้งว่า เดิมบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมฯ ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซหรือส่วนประกอบ รวมทั้งการติดตั้ง ประเภท ๔.๑๙ กิจการผลิตโครงสร้างโลหะที่ใช้ในการก่อสร้างหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการมีกำหนดเวลา ๓ ปี ของกำลังการผลิตปีละไม่เกิน ๑๒,๐๐๐ ตัน บริษัทฯ เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งสิทธิยกเว้นภาษีตามบัตรส่งเสริมสิ้นสุดลงแล้ว
      บริษัทฯ ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ในกิจการประเภทเดียวกันอีก ซึ่งมีลักษณะเป็นการขยายกำลังการผลิตในกิจการประเภท ๔.๑๙ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้ได้รับการส่งเสริมฯ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ รวมกันไม่เกินร้อยละ ๑๐๐ ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน มีกำหนดเวลา ๓ ปี นับแต่วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ มีกำลังการผลิตที่ได้รับอนุมัติปีละไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ ตัน ทั้งนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นมีมูลค่าไม่เกิน ๒๔๘,๑๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามจำนวนเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนที่แท้จริงในวันเปิดดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ บริษัทฯ แจ้งการมีรายได้ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงขอทราบว่า

      ประเด็นหารือ
      ๑. บริษัทฯ จะขอชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรสุทธิที่ได้รับจากขายแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ผลิตได้จากกำลังการผลิต ๑๒,๐๐๐ ตัน ตามกำลังการผลิตของบัตรส่งเสริมฉบับแรกก่อน จากนั้นบริษัทฯ จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรสุทธิจากการขายแท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่กำลังการผลิตส่วนที่เกินจาก ๑๒,๐๐๐ ตัน ขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งอาจเกินจากกำลังการผลิต ๑๘,๐๐๐ ตันต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมฉบับที่ ๒ แต่การใช้สิทธิจะไม่เกินกว่า ๒๔๘,๑๒๐,๐๐๐ บาทที่กำหนดไว้ตลอด ๓ ปีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการถูกต้องหรือไม่

      ๒. บริษัทฯ จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่ได้รับจากการขายแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ผลิตได้จากกำลังการผลิตตั้งแต่ตันแรกจนถึงตันที่ ๑๘,๐๐๐ ตัน ตามบัตรส่งเสริมฉบับที่ ๒ ก่อน จากนั้นจึงนำกำไรสุทธิส่วนที่ได้รับจากแท่นขุดเจาะน้ำมันส่วนที่เกินจากกำลังการผลิต ๑๘,๐๐๐ ตัน ไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติต่อไป เป็นการถูกต้องหรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดจากการประกอบกิจการ คงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงบางส่วน ดังนั้น ในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ บริษัทฯ จะต้องนำรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แท่นขุดเจาะน้ำมันตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในส่วนที่ไม่เกินปริมาณการผลิตจำนวน ๑๘,๐๐๐ ตัน และคิดเป็นเงินไม่เกินกว่า ๒๔๘,๑๒๐,๐๐๐ บาท ตามที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมตลอดระยะเวลา ๓ ปี เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก่อน ส่วนรายได้ที่เหลือถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ ๒.๑ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐


ตัวอย่างที่ ๒
หนังสือที่ กค ๐๗๐๒/๙๔๘๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

      ข้อเท็จจริง
      ๑. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายก๊าซเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ โดยได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการผลิตก๊าซออกซิเจน ประเภทการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๓ รับโอนกิจการจากบริษัท อ. โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕

      ๒. บริษัท ได้รับอนุมัติให้ขายเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไปจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

      ประเด็นหารือ
      บริษัทได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอความเห็นชอบการขายเครื่องจักรและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไปเป็นไปตามประกาศกรมสรรพากรลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ หรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      กรณีที่บริษัทฯ ขายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ซึ่งหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานอีกต่อไปในระหว่างที่บริษัทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว รายได้จากการขายเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐


ตัวอย่างที่ ๓
หนังสือที่ กค ๐๗๐๒/๘๐๗๕ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

      ข้อเท็จจริง
      บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการรับขนส่งสินค้าและคนโดยสาร ทั้งทางบกและทางน้ำ ภายในและระหว่างประเทศ บริษัทได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการขนส่งทางเรือตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ซึ่งได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ มีกำหนดเวลา ๘ ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และขณะนี้อยู่ในระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมฯ บริษัทประสงค์จะจำหน่ายเรือยูนิเอ็กซ์เพรส 3 (Uniexpress 3) ให้แก่ผู้ซื้อจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ ทั้งนี้ บริษัทได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องจักร (เรือยูนิเอ็กซ์เพรส 3) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ตามหนังสือลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑

      ประเด็นหารือ
      บริษัททำหนังสือถึงกรมสรรพากรเพื่อขออนุมัติการจำหน่ายเรือยูนิเอ็กซ์เพรส 3 ดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกรมสรรพากร ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ หรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      กรณีที่บริษัทฯ ขายเรือยูนิเอ็กซ์เพรส 3 ในระหว่างที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมฯ โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว รายได้จากการขายเรือดังกล่าว เป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐


ตัวอย่างที่ ๔
หนังสือที่ กค ๐๗๐๖/๕๑๖ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐

      ข้อเท็จจริง
      ๑. บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า และคนโดยสาร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการขนส่งทางเรือ ประเภท ๗.๒ กิจการขนส่งมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการมีกำหนดเวลา ๘ ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมฯ

      ๒. บริษัทฯ ได้นำเข้าเรือเดินทะเลใกล้ฝั่ง ประเภทส่งกำลังบำรุง ชื่อ M.V.ขณะนำเข้าเรือลำดังกล่าวมีอายุใช้งานมาแล้ว ๑๙ ปี บริษัทฯ ได้ใช้เรือลำดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๔ ปี ๑๐ เดือน (ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘) ต่อมาบริษัทฯ เห็นว่า เรือลำดังกล่าวมีสภาพเก่า บริษัทฯ จึงขายให้แก่ผู้ซื้อจากประเทศอินเดีย โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามหนังสือเรื่องอนุญาตให้ส่งเครื่องจักรออกไปต่างประเทศ และการอนุญาตให้ตัดบัญชีเครื่องจักรเพื่อปลอดจากภาระภาษีอากรบริษัทฯ จึงขอทราบว่า

      ประเด็นหารือ
      ๑. รายได้จากการขายเรือ M.V. เป็นรายได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ การลงทุน ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถูกต้องหรือไม่

      ๒. กรณีบริษัทฯ ได้นำรายได้จากการขายเรือลำดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๔๘ บริษัทฯ ต้องขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว และขอคืนภาษีที่ชำระเกินไปภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการถูกต้องหรือไม่

      ๓. กรณีบริษัทฯ ปฏิบัติเช่นเดียวกับการขายเรือ M.V. ในภายหน้า บริษัทฯ มีสิทธินำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ โดยไม่ต้องทำหนังสือขอความเห็นชอบจากกรมสรรพากรทุกครั้งที่มีการขายได้หรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      ๑. กรณีตาม ๑ รายได้จากการขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และหมดสภาพ หรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป และบริษัทฯ ได้รับหนังสืออนุมัติให้ส่งเครื่องจักรออกไปต่างประเทศ รายได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าว ถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

      ๒. กรณีตาม ๒ เงินได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทฯ จะต้องปรับปรุงรายการเงินได้ที่ได้แสดงไว้ โดยยื่นแบบแสดงรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้ถูกต้อง หากบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ไว้เกิน บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้แล้วภายใน ๓ ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา ๒๗ ตรี* แห่งประมวลรัษฎากร
      * มาตรา 27 ตรี เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่
      (1) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นนรายการ เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
      (2) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีคำร้องขอคืนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนาหรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด

      ๓. กรณีตาม ๓ หากบริษัทฯ มีความประสงค์จะขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการตามที่ได้รับการส่งเสริมฯ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งาน และการขายทรัพย์สินดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว การที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องขอความเห็นชอบจากกรมสรรพากรด้วย ทั้งนี้ ตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว


ตัวอย่างที่ ๕
หนังสือที่ กค ๐๗๐๖/๑๕๒ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙

      ข้อเท็จจริง
      บริษัทฯ ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ๒ บัตร บัตรส่งเสริมที่ ๑ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ขั้นอุตสาหกรรมมูลฐาน ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน โรงงานนี้มีชื่อว่า ก.๑ วันที่เริ่มมีรายได้ คือวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๑ และบัตรส่งเสริมที่ ๒ เพื่อผลิตสิ่งปรุงแต่งอาหาร ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน โรงงานนี้มีชื่อว่า ก.๒ วันที่เริ่มมีรายได้ คือ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ นอกจากนั้นบริษัทฯ ได้ก่อสร้าง “ส่วนขยายโรงงาน ก.๑ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงาน ก.๑ และโรงงาน ก.๒ เพราะกระบวนการผลิตขั้นปฐมภูมิ คือ กระบวนการผลิตสังเคราะห์กลูโคส ของทั้ง ๒ โรงงานเป็นกระบวนการผลิตเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันในกระบวนการผลิตขั้นทุติยภูมิ ตติยภูมิและขั้นถัดไป ส่วนขยายนี้เป็นส่วนที่สร้างต่อเติมจากโรงงาน ก.๑ โดยใช้งบประมาณของโรงงาน ก.๒ ประกอบด้วยเครื่องจักรที่ซื้อภายในประเทศ ระบบสาธารณูปโภคที่ขยายเพิ่ม ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งเครื่องจักรที่นำเข้าตามบัตรส่งเสริมที่ ๒ ซึ่งได้นำเข้ามาติดตั้งและผลิตกลูโคสให้กับโรงงาน ก.๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อโรงงาน ก.๒ สร้างเสร็จ บริษัทฯ ยังคงใช้เครื่องจักรดังกล่าวผลิตผลิตภัณฑ์ของทั้ง ๒ โรงงานร่วมกัน

      ประเด็นหารือ
      ๑. กรณีบริษัทฯ นำเข้าเครื่องจักรของโรงงาน ก.๒ มาใช้ในกระบวนการผลิตสังเคราะห์กลูโคสให้กับโรงงาน ก.๑ ในระหว่างระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมฯ ทั้ง ๒ โรงงาน บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยรายได้อย่างไร

      ๒. ในการเฉลี่ยรายจ่าย ณ ส่วนขยายของโรงงาน ก.๑ ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ บริษัทฯ จะไม่ใช้การคำนวณเฉลี่ยตามเกณฑ์รายได้ แต่จะใช้การคำนวณเฉลี่ยตามเกณฑ์อื่นๆ ที่บริษัทในต่างประเทศเป็นผู้กำหนดให้ดังต่อไปนี้ ได้หรือไม่

           ๒.๑ ระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ร่วมกัน เฉลี่ยรายจ่ายตามอัตราส่วนการใช้น้ำบาดาลของแต่ละโรงงาน
           ๒.๒ ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ร่วมกันเฉลี่ยรายจ่ายตามอัตราส่วนการใช้จุลินทรีย์และออกชิเจน ในการบำบัดน้ำเสียของแต่ละโรงงาน
           ๒.๓ รายจ่ายค่าเงินเดือน โบนัส ค่าทำงานล่วงเวลาของบุคลากรด้านบัญชี ด้านควบคุมคุณภาพ (Q.C) ด้านธุรการ ด้านคอมพิวเตอร์ จะเฉลี่ยจากอัตราส่วนของบุคลากรที่ทำงานให้กับแต่ละโรงงาน โดยบุคลากรดังกล่าวโรงงาน ก.๑ เป็นผู้รับเข้ามาเพื่อสนับสนุนงานของโรงงาน ก.๒

      ๓. บริษัทฯ นำเครื่องจักรของโรงงาน ก.๒ มาผลิตกลูโคสให้กับโรงงาน ก.๑ ในระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ การคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรที่นำเข้า บริษัทฯ ควรจะเริ่มคำนวณนับแต่วันที่เครื่องจักรเริ่มผลิตหรือนับแต่วันที่โรงงาน ก.๒ สร้างเสร็จ เนื่องจากส่วนขยายของโรงงาน ก.๑ สร้างเสร็จก่อนเครื่องจักรที่นำเข้า โดยเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมของโรงงาน ก.๒ จึงเริ่มผลิตสังเคราะห์กลูโคสเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตให้กับโรงงาน ก.๑ ไปก่อนและเมื่อโรงงาน ก.๒ สร้างเสร็จ จึงได้ปันส่วนการผลิตกลูโคสให้กับโรงงาน ก.๒ สำหรับกรณีการเฉลี่ยรายจ่ายที่เกี่ยวกับเครื่องจักร บริษัทฯ จะใช้วิธีเปรียบเทียบตามสัดส่วนการใช้กลูโคสของโรงงาน ก.๑ และโรงงาน ก.๒ โดยให้ถือเป็นรายจ่ายต้นทุนการผลิตของโรงงานนั้นๆ ได้หรือไม่

      ๔. หากมีการจำหน่ายเครื่องจักรที่ใช้ร่วมกันทั้งสองโรงงานในระหว่างที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของโรงงาน ก.๑ สิ้นสุดแล้ว แต่ของโรงงาน ก.๒ ยังไม่สิ้นสุด รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      ๑. กรณีตาม ๑. และ ๒. หากบริษัทฯ นำเครื่องจักรที่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าตามบัตรส่งเสริมที่ ๒ ไปใช้ผลิตสินค้าตามบัตรส่งเสริมที่ ๑ รวมทั้งนำทรัพย์สินอื่น เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบบำบัดน้ำเสียและบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของโรงงานตามบัตรส่งเสริมที่ ๒ ไปใช้ร่วมกับโรงงานตามบัตรส่งเสริมที่ ๑ ในระหว่างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมทั้ง ๒ บัตร ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมดังกล่าว แต่ถือได้ว่าเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ เช่นเดียวกัน จึงไม่มีกรณีต้องเฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายแต่อย่างใด แต่การปฏิบัติดังกล่าว หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อน บริษัทฯ อาจถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐

      อย่างไรก็ตาม หากสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมของบริษัทฯ บัตรใดบัตรหนึ่งหมดลงก่อน ถือว่าบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้บริษัทฯ จัดทำบัญชีแยกกันสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กับกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ถ้ารายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง และไม่มีเกณฑ์อันที่จะ เฉลี่ยให้เป็นการเหมาะสมว่าเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้แต่ละกิจการ ตามข้อ ๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

      กรณีบริษัทฯ นำเครื่องจักรและทรัพย์สินอื่นตามบัตรส่งเสริมที่ ๒ ไปใช้ผลิตสินค้าตามบัตรส่งเสริมที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่บัตรส่งเสริมที่ ๒ ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ถือว่าบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง และไม่มีเกณฑ์อันที่จะเฉลี่ยให้เป็นการเหมาะสมว่าเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้แต่ละกิจการ

      ๒. กรณีตาม ๓. กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร บริษัทฯ ต้องเริ่มคำนวณหักตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้เครื่องจักรมา และเครื่องจักรอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้แล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๑๔๕) พ.ศ. ๒๕๒๗

      ๓. กรณีตาม ๔. บริษัทฯ จำหน่ายเครื่องจักรที่ได้นำเข้าตามบัตรส่งเสริมที่ ๒ หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากรแล้ว จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ ๒.๓ ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐


ตัวอย่างที่ ๖
หนังสือที่ กค ๐๗๐๖/๒๒๐๗ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙

      ข้อเท็จจริง
      บริษัทฯ ได้รับส่งเสริมฯ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา ๘ ปี ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ และได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๕๐ ของอัตราปกติมีกำหนด ๕ ปี บริษัทจะจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมฯ

      ประเด็นหารือ
      บริษัทจำหน่ายทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการที่ได้รับส่งเสริมฯ ในขณะที่พ้นกำหนดเวลาตามบัตรส่งเสริมฯ แล้ว จะสามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่

      ตอบข้อหารือ
      บริษัทไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่รายได้ดังกล่าวถือเป็นรายได้ที่มีสิทธิ์นำไปรวมคำนวณกับรายได้ที่ได้รับส่งเสริมฯ ที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ ๕๐ ของอัตราปกติ

      สรุป
      หนังสือที่ กค ๐๘๐๒/๖๙๑๑ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒
      รายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ต้องเป็นรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินต่างๆ ของผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ซึ่งใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมฯ ทั้งทรัพย์สินที่นำเข้ามาตามบัตรส่งเสริมและที่จัดหาซื้อเองภายในประเทศ และผู้ได้รับการส่งเสริมฯ จำหน่ายออกไป เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวบุบสลาย หมดสภาพ ไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไปโดยที่ทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวต้องมีไว้ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร ทั้งนี้ ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

      ประกาศกรมสรรพากร
      เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš


views 40,242
Total pageviews 4,474,373 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.