หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบ

ขอส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์จากบีโอไอ ง่ายนิดเดียว

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2556
โดย : คุณวรรณนิภา พิภพไชยาสิทธิ์
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 3

    ในการขอรับส่งเสริมการลงทุน มีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หลายรายไม่เข้าใจความหมายของซอฟต์แวร์ แต่ละประเภท ตามประกาศคณะกรรมการ ที่ ส.3/2547 ซึ่งมีความหมาย ดังต่อไปนี้

  1. Enterprise Software
        คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการสนับสนุนการทำงานเชิงธุรกรรม
  2. Digital Content
        คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เกี่ยวข้องแบบมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น
  3. Embedded Software
        คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

    นอกจากนั้น ยังได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ซึ่งจะต้องให้ไปเป็นตาม ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.1/2545 เรื่อง การกำหนดความหมายรายการเงินลงทุน

    และเนื่องจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นเป็นการลงทุนแบบ Knowledge base จึงได้กำหนดให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่กำหนดเขตที่ตั้งและไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) จะต้องดำเนินการให้ได้รับใบรับรองมาตรฐานจาก SIPA

การเตรียมตัวในการขอรับการส่งเสริม

ส่วนที่ 1 หลักเกณฑ์และขอบข่ายที่จะขอรับการส่งเสริม

  • ผู้ที่จะขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องพิจารณาว่าตนเองจัดอยู่ในประเภทใดใน 3 ประเภท ต่อไปนี้
    1. ขอในนามบุคคล จะจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในภายหลัง
    2. จัดตั้งบริษัทขึ้นแล้ว (แต่ยังไม่มีรายได้)
    3. เป็นบริษัทที่ขยายกิจการ (จัดตั้งบริษัทแล้ว / มีรายได้แล้ว)
  • ซอฟต์แวร์ที่จะขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องยังไม่มีการจำหน่ายมาก่อน เป็นการพัฒนาขึ้นใหม่และมีทีมของบริษัทเอง
  • หากมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ก่อนขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องจัดทำตารางแสดงความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์เดิม และซอฟต์แวร์ที่จะผลิตใหม่
  • หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านการเงิน จะแบ่งตามลักษณะโครงการ คือ
    • โครงการใหม่ จะพิจารณาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียน ต้องไม่เกิน 3/1
    • โครงการขยาย (เป็นนิติบุคคลที่มีผลประกอบการแล้ว) จะพิจารณา อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นจากงบการเงินล่าสุดที่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว

ส่วนที่ 2 เตรียมข้อมูล ก่อนวันมาชี้แจงโครงการ ดังนี้

  • ที่มาของโครงการที่จะขอรับการส่งเสริมฯ เหตุผลในการขอรับการส่งเสริมฯ จากบีโอไอ ประวัติของผู้ขอ และทีมงาน
  • ยกตัวอย่าง Software ที่จะขอรับการส่งเสริมฯ ตามข้อ 4.2.1 ของแบบฟอร์มคำขอรับการส่งเสริมฯ กิจการซอฟต์แวร์ (F PA PP 04) และตัวอย่างระบบซอฟต์แวร์ที่จะพัฒนาเป็นเช่นไร
  • อธิบายกระบวนการผลิตของแต่ละประเภท Software ใส่ software tools ในแต่ละขั้นตอน หรือทำเป็น flow chart
  • ขั้นตอนการผลิต/รายละเอียดผลิตภัณฑ์
  • ตามโครงการจะมีกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทใดใน Enterprise Software, Digital Content และ Embedded Software สามารถเลือกได้มากกว่า 1 ประเภท
  • ยกตัวอย่างการรับรู้รายได้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ การส่งมอบซอฟต์แวร์ด้วยวิธีการอย่างไร / มูลค่าเฉลี่ยในการจำหน่าย

    ขั้นตอนการยื่นขอรับการส่งเสริมฯ เริ่มจากการกรอกฟอร์ม โดยสามารถสอบถามข้อมูลการยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ได้ที่ศูนย์บริการลงทุน และเมื่อได้กรอกคำขอครบถ้วนสมบูรณ์แล้วให้ยื่นเอกสารที่สำนักบริหารการลงทุน 3 หรือสำนักงานในภูมิภาค ทั้งนี้ ผู้ขอฯ ควรให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ เพื่อจะได้เตรียมนัดหมายเพื่อมาชี้แจงโครงการกับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อไปภายใน 10 วันทำการ เพื่อให้การอนุมัติเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวก ควรกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยบีโอไอจะพิจารณาโครงการและแจ้งผลภายใน 15 - 40 วันทำการ นับตั้งแต่วันยื่นขอรับการส่งเสริมฯ

การแจ้งผลการพิจารณา

    การแจ้งผลการพิจารณาจะมีหนังสือแจ้งมติจากบีโอไอ สามารถมาติดต่อขอรับได้ที่สำนักบริหารการลงทุน 3 หลังจากนั้นจะต้องกรอกแบบตอบรับมติ และยื่นที่ฝ่ายบัตรส่งเสริมการลงทุน สำนักเลขานุการกรม การตอบรับมติการให้การส่งเสริมต้องไม่เกิน 1 เดือน และขั้นตอนหลังจากนั้นจะเป็นการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งขอให้ศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การรายงานผลการดำเนินงาน

    บีโอไอ ได้กำหนดเวลาให้ท่านต้องรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ 6 เดือน 12 เดือน และ 24 เดือน เช่นเดียวกับกิจการอื่นๆ


แบบคำขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

    การที่จะใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้ มีข้อแนะนำ คือ ควรกำกับ ควบคุม ดูแลระบบบัญชีภายในบริษัทเอง หรือหากไปจัดจ้างบริษัทบัญชีข้างนอกจัดการให้นั้น ควรจะต้องเก็บ Invoice 2 แบบ คือ Invoice แบบแรกที่ออกให้กับลูกค้า ซึ่งจะใช้เป็นวันที่เริ่มนับสิทธิประโยชน์ในการที่จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ฯ แต่ยังใช้สิทธิฯ ดังกล่าวไม่ได้ หากลงทุนไม่ครบ 1 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ได้

    ดังนั้น จึงต้องเก็บ Invoice แบบที่ 2 คือ Invoice ที่ซื้อสินทรัพย์และเครื่องจักร (Hardware และ Software) เรียงตามวันที่ที่ซื้อมา จนถึงวันที่ครบ 1 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) โดยต้องคำนึงว่าโครงการเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือจัดตั้งขึ้นแล้ว และมาขอรับการส่งเสริมฯ เพราะสินทรัพย์ที่จะมานับเป็นขนาดการลงทุนจะมีข้อแตกต่างกัน

    การที่มีการลงทุนเกิน 1 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) และให้ยื่นเฉพาะกรณีที่รอบบัญชีของบัตรส่งเสริมฯ นั้นมีกำไรสุทธิและประสงค์ที่จะขอใช้สิทธิ์ฯ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม “แบบคำขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล” และต้องยื่นภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชีที่สำนักบริหารการลงทุน 3 โดยที่ไม่ต้องขอเปิดดำเนินการก่อน (การขอเปิดฯ เต็มโครงการ)

การขอเปิดดำเนินการ

    ความหมายของคำว่า “เปิดดำเนินการ” หรือ การขอเปิดดำเนินการเต็มโครงการ ไม่ใช่ การเริ่มประกอบกิจการ ซึ่งจะพบในบัตรส่งเสริมช่วงเงื่อนไขเฉพาะโครงการ และคำนี้มีความหมายอย่างไร ความหมายก็คือ ต้องนับวันชนวันตั้งแต่วันที่ออกบัตรส่งเสริมฯ จนครบ 3 ปี หรือภายใน 36 เดือน ก่อนที่จะครบ กำหนดเวลาท่านก็ต้องดาวน์โหลดแบบฟอร์มขออนุญาตเปิดดำเนินการ พร้อมเอกสารแนบ ระบุวันที่ครบ ขนาดการลงทุนตามที่ระบุในเงื่อนไข พร้อม Invoice เหมือนกับการขอยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ข้างต้น แต่ที่แตกต่างกันคือ ขั้นตอนนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ ถือเป็นการตรวจสอบของสำนักงานฯ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องได้ โครงการนั้นก็จะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ต่อไป

    มาถึงช่วงนี้ ก็คงจะเห็นแล้วว่า การขอรับการส่งเสริมในกิจการซอฟต์แวร์ หากมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โครงการก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและอากรขาเข้า แบบ… ง่ายนิดเดียว และการลงทุนก็จะมีผลประกอบการที่ดี และประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

คำแนะนำสำหรับการกรอกแบบฟอร์มคำขอรับการส่งเสริม

  • อัตราส่วนหนี้สิน / ทุนจดทะเบียน หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ต้องไม่เกิน 3 : 1
  • มูลค่าข้อ 2.1 ต้องเท่ากับมูลค่ารวมข้อ 3.1 แต่ในข้อ 3.1 ต้องมีเงินทุนหมุนเวียน
  • ข้อ 3.1 ค่าเช่า หรือ ก่อสร้าง ต้องเกิน 3 ปี (ขั้นต่ำ 37 เดือน) หากจะนับเข้ามานับเป็นขนาดการลงทุน
  • มูลค่าฮาร์ดแวร์ / ซอฟต์แวร์ ต้องเท่ากับในตารางข้อ 5.1 และข้อ 5.2
  • ข้อ 4.2 / 4.2.1 ประเภทของซอฟต์แวร์ สามารถขอได้มากกว่า 1 ประเภท
  • 4.2.2 กระบวนการฯ / การฝึกอบรมฯ เฉพาะที่จะเปิดสอนเป็นสถาบันหรือฝึกอบรมขั้นสูงที่ผู้เรียนไปประกอบอาชีพต่อไปได้ *สามารถขอได้มากกว่า 1 กระบวนการ
  • จำนวนบุคลากร เรียงจาก ปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ โดยจะดูว่าปีที่ 3 จะจ้างทั้งหมดกี่คน

ข้อควรรู้ - Check list

    รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ และข้อควรรู้ ตามประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.1/2545 ลงวันที่ 28 มกราคม 2545 และประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 10/2552 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2552

  1. ต้องมีขนาดการลงทุนขั้นต่ำครบ 1 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและเงินหมุนเวียน) และจะต้องเปิดดำเนินการภายใน 3 ปี หลังจากวันออกบัตรส่งเสริม (วันครบเปิดดำเนินการ คือ วันที่ครบ 3 ปี หลังวันที่ออกบัตรส่งเสริมฯ ไม่ใช่วันเริ่มกิจการ) / มีกระบวนการผลิตตามที่ขออนุมัติไว้ ในข้อ 4.2.2 ในคำขอรับการส่งเสริม
  2. จะสามารถใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 ได้ หลังจากลงทุนครบตามเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมฯ เท่านั้น
  3. วันที่มีรายได้ครั้งแรกถือเป็นการเริ่มนับการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนครบ 1 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียนและมีกำไรเท่านั้น
  4. รายได้ที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 31 ต้องเป็นรายได้จากการพัฒนาและจำหน่าย ซอฟต์แวร์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง (บนเครื่องจักร Hardware + Software ภายใต้โครงการนี้เท่านั้น) ไม่รวมรายได้ที่เกิดจากค่าโฆษณาและค่านายหน้า ค่าเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์จากทีมของบริษัทเอง ห้าม Outsource
  5. ต้องแยกสินทรัพย์และเครื่องจักรเดิมกับโครงการขยาย บริษัทจะไม่นำสินทรัพย์ของโครงการไปใช้ในกิจการอื่น เป็นต้น
  • การลงทุนจะต้องเป็นสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น ห้ามใช้เครื่องเก่าหรือที่มีอยู่แล้วในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องซื้อหลังจากวันยื่นขอรับการส่งเสริมฯ
  • การนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ หากต้องการใช้สิทธิ์โดยไม่ต้องใช้ธนาคารค้ำประกัน สามารถเริ่มนำเข้าได้หลังจากวันได้รับอนุมัติโครงการ
  • การนับวันเริ่มใช้สิทธิ์ฯ ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี นับจากการมีรายได้ครั้งแรกจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่จะต้องเกิดจากการลงทุนสินทรัพย์ใหม่ตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ จากบีโอไอเท่านั้นดังนั้น จะต้องเก็บ Invoice หรือใบแจ้งหนี้ใบแรกที่ส่งให้ลูกค้า จะต้องเป็นหลังวันอนุมัติ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากรายได้ต้องเกิดจากการพัฒนาซอฟต์แวร์จากเครื่องจักร ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอื่นๆ ภายใต้โครงการบีโอไอเท่านั้น
  • ในกรณีเป็นบริษัทใหม่ สามารถนำขนาดการลงทุน ตั้งแต่ข้อ 1 - 6 ตามข้อ 3.1 ในใบคำขอฯ ได้
  • ในกรณีที่บริษัทฯ ขยายกิจการ บริษัทควรมีทะเบียนสินทรัพย์ เครื่องจักร แยกจากโครงการเดิม แยกพื้นที่และจัดทำเลขครุภัณฑ์เรียงตามวันที่ที่ซื้อ
  • ค่าเช่าที่สามารถนับเป็นขนาดการลงทุนได้ จะต้องเป็นค่าเช่าเกิน 3 ปี (ไม่ใช่ 3 ปีพอดีและไม่ใช่ปีต่อปี) ในสัญญาฉบับเดียวและต้องติดต่อกรมที่ดิน เพื่อชำระค่าธรรมเนียมสัญญาเช่า กรณีที่มีค่าเช่าอาคารและที่ดิน จะต้องทำการแยกให้ชัดเจน หากแยกไม่ได้จะไม่นับค่าเช่านั้นๆ เป็นขนาดการลงทุน
  • บริษัทฯ จะต้องให้มีขนาดการลงทุนตามที่ขอรับการส่งเสริมฯ ในคำขอฯ ข้อ 3.1 ขั้นต่ำให้ครบ 1 ล้านบาท จึงจะมีสิทธิ์ขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ควรต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินทรัพย์ที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่วันยื่นขอรับการส่งเสริมฯ จนถึงวันที่ซื้อครบ 1 ล้านบาท และจะต้องมีหลักฐานการลงทุนครบ 1 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบ


views 14,973
Total pageviews 4,474,348 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.