หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš

สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ตามมาตรการทางภาษีใหม่

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนตุลาคม 2555
โดย : คุณวันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการพิเศษ
กลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศ ศูนย์บริการลงทุน™


      รัฐบาลมีนโยบายที่ส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งศูนย์กลางการบริหารจัดการในประเทศไทย เพื่อบริหารสาขาของกลุ่มบริษัทในประเทศต่างๆ อันจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังจึงกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters - ROH) ขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

      และในปี 2553 ได้ออกมาตรการใหม่ ให้เป็นทางเลือกของวิสาหกิจที่จะเป็นกิจการ ROH ภายใต้มาตรการปัจจุบัน หรือมาตรการใหม่ ภายใต้หลักเกณฑ์พื้นฐานความเป็นกิจการ ROH เดียวกัน แตมี่หลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างกัน ซึ่งบทความนี้จะได้แนะนำ ROH ตามมาตรการใหม่ให้ได้ทราบ

ลักษณะและขอบข่ายธุรกิจ

      ลักษณะของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำหนดตามข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัท ซึ่งประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ประกาศ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 มีผลใชบั้งคับในวันเดียวกัน ได้กำหนดให้กิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือกิจการ ROH หมายถึงกิจการการให้บริการด้านการบริหาร ด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุนดังต่อไปนี้ แก่วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาของตน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ

  1. การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ
  2. การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน
  3. การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  4. การสนับสนุนด้านเทคนิค
  5. การส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย
  6. การบริหารงานด้านบุคคลและการฝึกอบรมในภูมิภาค
  7. การให้คำปรึกษาด้านการเงิน
  8. การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
  9. การจัดการและควบคุมสินเชื่อ
  10. การให้บริการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

      การควบคุม หมายถึง การควบคุมตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานทางบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป

นิยามของวิสาหกิจในเครือ

      มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ประกาศ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2545 มีผลใช้บังคับในวันถัดมา ได้กำหนดให้

      วิสาหกิจในเครือ หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกิจการ ROH ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในกิจการ ROH ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด
  2. ROH ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อย 25 ของทุนทั้งหมด
  3. กิจการตามข้อ 1 ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด
  4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหารงานของกิจการ ROH
  5. ROH มีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหาร
  6. กิจการตามข้อ 4 มีอำนาจควบคุมกิจการ หรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และการบริหารงาน
      ความเป็นวิสาหกิจในเครือ จึงเป็นการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 25 เป็นต้นไป อำนาจควบคุมกิจการ กำกับดูแลการดำเนินงาน หรือการบริหารงาน

คุณสมบัติ

      มาตรา 11/6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 มีผลใช้บังคับในวันถัดมา ได้กำหนดให้ คุณสมบัติของกิจการ ROH ตามมาตรการใหม่ ประกอบด้วย

  1. มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
  2. มีการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ หรือสาขาของตนในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่าจำนวน ดังต่อไปนี้
    (ก) หนึ่ง ประเทศ ในรอบระยะเวลาบัญชีแรก และที่สอง
    (ข) สอง ประเทศ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สาม และที่สี่
    (ค) สาม ประเทศ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ห้า เป็นต้นไป
  3. มีรายจ่าย ดังต่อไปนี้
    (ก) รายจ่ายในการดำเนินงานของ ROH ซึ่งจ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่รวมถึงค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน รายจ่ายในการดำเนินงานที่จ่ายไปต่างประเทศ ค่าวัตถุดิบ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์อย่างอื่น ค่าส่วนประกอบ และค่าบรรจุภัณฑ์
    (ข) รายจ่ายเพื่อการลงทุนที่ ROH จ่ายให้ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่รวมถึงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  4. มีวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาในต่างประเทศ ซึ่งมีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างแท้จริง ตรงตามที่แจ้งต่อกรมสรรพากร
  5. ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่สามเป็นต้นไป ต้อง
    (ก) มีพนักงานปฏิบัติงานใน ROH ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
    (ข) มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานใน ROH อย่างน้อย 5 คน ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี
          ตามมาตรา 11/7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553
  6. ได้จดแจ้งการเป็น ROH ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยต้องจดแจ้งภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ตามข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109)
  7. ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์

      เงื่อนไข
      มาตรา 11/2 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ได้กำหนดเงื่อนไขกิจการ ROH ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต้อง

  1. มีรายได้จากการให้บริการของกิจการ ROH แก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ หรือสาขาของตนในต่างประเทศ หรือ
  2. มีรายได้จากค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศ หรือจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของกิจการ ROH ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย

      โดยรายได้จากการให้บริการ หรือค่าสิทธินั้น ต้องมีรายได้จากวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ หรือสาขาในต่างประเทศรวมกัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท (รายได้ของทั้งกิจการ ROH และที่มิใช่กิจการ ROH รวมกัน)

      มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขตามมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ให้นิยามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ว่า

      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่นำผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของกิจการ ROH ไปใช้ในการผลิตสินค้า หรือให้บริการแก่กิจการ ROH วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของกิจการ ROH

สิทธิประโยชน์

      หากกิจการ ROH มีคุณสมบัติ และมีรายได้ เข้าเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์และเงอนไข จะได้รับสิทธิประโยชน์ จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
            1. กิจการ ROH
            2. พนักงานที่เป็นคนต่างด้าว

(1) กิจการ ROH

      กิจการ ROH จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 11/6 ประกอบกับมาตรา 11/2 มาตรา 11/3 และมาตรา 11/4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่ง พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ดังนี้

      (ก) มาตรา 11/2 บัญญัติให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคงเหลือจัดเก็บร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 10 ปี ต่อเนื่องกัน สำหรับ

  • รายได้จากการให้บริการของกิจการ ROH แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย
  • ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่กิจการ ROH ได้กู้มา เพื่อให้กู้ยืมต่อ
  • ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขาตา่ งประเทศ หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของกิจการ ROH ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย

      (ข) มาตรา 11/3 บัญญัติให้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการของกิจการ ROH แก่วิสาหกิจในเครือที่อยู่ต่างประเทศ หรือสาขาต่างประเทศเป็นเวลา 10 ปี ต่อเนื่องกัน

      (ค) มาตรา 11/4 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศเป็นเวลา 10 ปี ต่อเนองกัน

      (2) พนักงานที่เป็นคนต่างด้าว
      คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545

      มาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 11/1 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงาน สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานประจำกิจการ ROH เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าระหว่างเวลานั้น จะได้เดินทางออกจากประเทศไทยเป็นครั้งคราวหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะผู้บริหารระดับสูง หรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่กิจการ ROH จดแจ้งต่อกรมสรรพากร ตามแบบที่ประกาศกำหนด ฉะนั้น รายได้ของคนต่างด้าวที่ทำงานในต่างประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

      นอกจากนั้น มาตรา 11/9 แหง่ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยยการลดอัตราและยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 ให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม กรณีรอบระยะเวลาบัญชีที่ 10 กิจการ ROH มีรายจ่ายในการดำเนินงานที่จ่ายในประเทศไทย สะสมรวมกันแล้ว เกินกว่า 150 ล้านบาท ตลอด 10 รอบระยะเวลาบัญชี ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 11/2 มาตรา 11/3 และมาตรา 11/4 ขยายเวลาได้อีก 5 รอบระยะเวลาบัญชี

หลักเกณฑ์อื่นๆ

      (1) ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำหนดให้แยกการคำนวณกำไรสุทธิ และขาดทุนสุทธิของกิจการ ROH และกิจการอื่นต่างหากจากกัน หากไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้เฉลี่ยรายจ่ายตามส่วนของรายได้ระหว่างกิจการ ROH และกิจการอื่น

      กรณีกิจการ ROH มีทั้งรายได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้น และลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้ ให้แยกการคำนวณกำไรสุทธิ และขาดทุนสุทธิของรายได้แต่ละส่วนต่างหากจากกัน หากไม่สามารถแยกได้ชัดแจ้งว่า เป็นรายจ่ายของรายได้ส่วนใด ให้ เฉลี่ยรายจ่ายตามส่วนของรายได้ ระหว่างรายได้ที่ได้รับสิทธ์ิยกเว้น และรายได้ที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้

      (2) ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงอนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำหนดกรณีบริษัทประกอบกิจการ ทั้งกิจการ ROH และกิจการอื่น หากกิจการ ROH นั้น มีผลขาดทุนสุทธิ ให้คงผลขาดทุนสุทธิไว้ในกิจการ ROH เท่านั้น

      กรณีกิจการ ROH มีทั้งรายได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้ หากรายได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้มีผลขาดทุนสุทธิ ให้คงผลขาดทุนสุทธินั้นไว้ในกิจการ ROH ที่ได้รับสิทธิ์ ยกเว้นภาษีเงินได้เท่านั้น

      (3) มาตรา 11/11 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบ กิจการในประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการ ROH ซึ่งมีคุณสมบัติและมีรายได้จากการให้บริการและค่าสิทธิ

      4. มาตรา 11/5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเวันรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 กำหนดการนับรอบระยะเวลาบัญชี ในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ไว้ ดังนี้

  • กรณีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มใน หรือหลังวันจดแจ้งการเป็นกิจการ ROH ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก
  • กรณีจดแจ้งการเป็นกิจการ ROH ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้จะมีระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนก็ตาม

      (5) มาตรา 11/10 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ ลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ. 2553 กำหนดกรณีกิจการ ROH ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการลดอัตรา และยกเว้นภาษีเงินได้ สิ้นสุดลง ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก

      สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมาตรการใหม่ กำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขเพิ่มขึ้น และสิทธิประโยชน์ก็ได้รับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่หากขาดซึ่งคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง สิทธิประโยชน์ก็จะสิ้นสุดย้อนหลัง ไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีแรก การเลือกที่จะเป็นกิจการ ROH มาตรการใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี แต่อย่างน้อยมาตรการใหม่นี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้นำไปประกอบการพิจารณา ได้อีกรูปแบบหนึ่ง

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš


views 13,199
Total pageviews 4,415,298 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.