หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (2558-2564)
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม 2558
โดย : คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
ผู้อำนวยการระดับสูง สำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเห็นชอบ "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (2558 - 2564)" เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยในระยะ 7 ปีข้างหน้า นับเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ของบีโอไอ หลังจากที่ได้ปรับใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2543
ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างรอบด้าน รวมทั้งทิศทางแนวโน้มการลงทุนของโลก ยุทธศาสตร์ของประเทศคู่แข่ง ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายการพัฒนาภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของประเทศ ตลอดจนได้สัมภาษณ์ จัดประชุมหารือเฉพาะกลุ่ม และสัมมนาใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่เป็นไปอย่างรอบคอบและสมบูรณ์ที่สุด
วิสัยทัศน์และนโยบายส่งเสริมการลงทุน
"ส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า ทั้งในประเทศและการของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) และเติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
ในการดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
- ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
- ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
- ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของการลงทุน (Cluster) ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า
- ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่เสิรมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เกื้อกูลต่อการสร้างความมั่นคงในพื้นที่
- ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
- ส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
การปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งเสริมการลงทุน
ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ ได้มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งเสริมการลงทุนใน 6 ด้านที่สำคัญ คือ
- การกำหนดประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมฯ
ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสรอมฯ แบบกว้างและครอบคลุมเกือบทุกกิจการ
(Broad - Based) เป็นการส่งเสริมฯ ที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น (Focus & Prioritized)
- การให้สิทธิประโยชน์
ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ จากเดิมให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการและที่ตั้ง (Activity & Zone - Based Incentives) เป็นการให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ต่างกันตามลำดับความสำคัญของประเภทกิจการ และให้สิทธิเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนหรือการใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น (Activity & Merit - Based Incentives)
- การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมฯ ตามเขตพื้นที่ (เขต 1 - 3) เป็นการส่งเสริมฯ ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาคหรือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (New Regional Clusters) โดยอาศัยการบูรณาการของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และท้องถิ่น เพื่อสร้างการรวมกลุ่มใหม่ของการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ะละพื้นที่มากขึ้น และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) อย่างไรก็ตาม เพื่อชดเชยความเสียเปรียบของบางพื้นที่ที่ยังขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับการลงทุน จึงจะยังคงให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจำนวน 20 จังหวัด
- การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน
ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมฯ โดยเน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives) เป็นการปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เหมาะสม และเน้นการให้สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร การพัฒนาความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนการลงทุน การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี และการอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุน (Tax & Non - Tax Incentives and Facilitation)
- การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ
ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเป็นหลัก (Inbound Investment) เป็นการเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Inbound & Outbound Investment) เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากรในประเทศ โดยเฉพาะโอกาสจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเป็นการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่
- อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียตนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว
- จีน อินเดีย และอาเซียนอื่นๆ
- ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาฟริกา
- การกำหนดตัวชี้วัดใหม่
ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กรจากมูลค่าคำขอรับการส่งเสริม (Investment Value) เป็นการวัดผลจาก 2 ตัวชี้วัด คือ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมฯ และคุณค่าของโครงการลงทุน (Investment Value & Outcome) โดยสำนักงานฯ จะกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดใหม่ รวมทั้งจะติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวัดผลประโยชน์และความคุ้มค่าของการส่งเสริมการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น
การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน
คณะกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบัญชีประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมฯ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ และหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ
โดยให้มีผลใช้บังคับกับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
ดังนี้
- ประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริม
ประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมฯ ตามยุทธศาสตร์ใหม่ เน้นอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยพิจารณาจาก 4 กลุ่มหลัก คือ
-
1.1 กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม
เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้า ระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานและบริการเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ เป็นต้น
-
1.2 กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูงที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย
เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง เป็นต้น
-
1.3 กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ
เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น
-
1.4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความสามารถเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคและของโลก
เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในการจัดทำบัญชีประเภทกิจการใหม่ จะแบ่งกิจการที่ให้การส่งเสริมออกเป็น 2 กลุ่ม พร้อมทั้งระบุเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละกิจการให้มีความชัดเจนและสะท้อนถึงสิ่งที่ประเทศต้องการมากขึ้น
-
กลุ่ม A : เป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและมีความจำเป็นต้องให้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยจะให้ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ลดหลั่นตามลำดับความสำคัญ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
A1 | เป็นกลุ่มกิจการที่มีความสำคัญสูงสุด ได้แก่ กิจการที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไม่สูง หรืออุตสากรรมฐานความรู้ (Knowledge - Based Industries) ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ตัวอย่าง กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี
|
A2 | กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมาก กิจการที่ใช้เงินลงทุนสูง กิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ กิจการอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ และกิจการที่มีความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีการลงทุนในประเทศหรือมีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด เพื่อกระตุ้นในห้เกิดการลงทุน
ตัวอย่าง กิจการผลิตสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร กิจการผลิต Advanced หรือ Nano Materials กิจการผลิตเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Organics and Printed Electronics (OPE) กิจการขนส่งสินค้าทางราง |
A3 | กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีฐานการผลิตอยู่บ้างแล้ว แต่ยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ตัวอย่าง กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร Food Additive) หรือสิ่งปรุงแต่งอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานพาหนะ กิจการผลิต Hard Disk Drive ทั่วไป กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กิจการขนส่งทางอากาศ |
A4 | กิจการที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าหรือมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนน้อยกว่ากลุ่ม A2 - A3 แต่มีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบในประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมที่ไทยมีขีดความสามารถในการเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคและของโลก
ตัวอย่าง กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ กิจการอบชุบโลหะ (Heat Treatment) กิจการประกอบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เครื่องจักร กิจการผลิต Compressor หรือ Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม |
-
กลุ่ม B : เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูง และกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า โดยจะไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax Incentives) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
B1 | กิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax)
ตัวอย่าง กิจการอบพืชและไซโล กิจการห้องเย็นหรือขนส่งห้องเย็น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์แก้ว กิจการผลิตเหล็กทรงยาวและทรงแบนสำหรับงานก่อสร้าง กิจการชุบเคลือบผิว การปรับเปลี่ยนสภาพผิว กิจการผลิต Wire Harness กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม |
B2 | กิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax)
ตัวอย่าง กิจการตัดโลหะ กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Office) |
นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการให้การส่งเสริมฯ กิจการบางประเภท เช่น กิจการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ การใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับต่ำ กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ มีน้อย และสามารถดำเนินกิจการได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมฯ กิจการที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากหรือใช้พลังงานสูง กิจการสัมปทานหรือกิจการผูกขาดที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐอยู่แล้ว และกิจการที่ขัดกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
- สิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับ
รูปแบบของสิทธิประโยชน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
-
2.1 สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity - Based Incentives)
กำหนดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ต่างกันตามลำดับความสำคัญของกิจการ ดังนี้
-
กลุ่ม | ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล | ยกเว้นอากรเครื่องจักร | ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก | Non - Tax |
กลุ่ม A : กิจการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และสิทธิประโยชน์อื่นๆ |
A1 | 8 ปี (ไม่ Cap วงเงิน) + Merit | O | O | O |
A2 | 8 ปี + Merit | O | O | O |
A3 | 5 ปี + Merit | O | O | O |
A4 | 3 ปี + Merit | O | O | O |
กลุ่ม B : กิจการที่จะได้รับการอำนวยความสะดวก ผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และ Non - tax |
B1 | Merit (บางกิจการ) | O | O | O |
B2 | Merit (บางกิจการ) |
| O | O |
หมายเหตุ สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax Incentives) ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ประกอบเ้วย การอนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการต่างชาติเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ การอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการอนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกนอกประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศได้
-
2.2 สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit - Based Incentives)
เป็นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อกระต้นให้มีการลงทุนหรือการใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากขึ้น ดังนี้
-
Merit | ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม |
1. Merit เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน |
ให้นับรวมเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายต่อไปนี้
ประเภทเงินลงทุน / ค่าใช้จ่าย | Cap เพิ่มเติม (% ของเงินลงทุน / ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น) |
1. การวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั้งดำเนินการเอง ว่าจ้างผู้อื่นในประเทศ หรือร่วมวิจัยกับองค์กรในต่างประเทศ | 200% |
2. การสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ | 100% |
3. ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาจากแหล่งในประเทศ | 100% |
4. การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง | 100% |
5. การพัฒนา Local Supplier ที่มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในด้านการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค | 100% |
6. การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ทั้งดำเนินการเอง หรือว่าจ้างผู้อื่นในประเทศ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ | 100% |
|
ให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามสัดส่วนเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย ดังนี้
เงินลงทุน / ค่าใช้จ่าย ต่อยอดขายรวม ใน 3 ปีแรก | ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม้มเติมโดยให้มี Cap เพิ่มขึ้นตามที่กำหนด |
1% หรือ > 200 ล้านบาท | 1 ปี |
2% หรือ > 400 ล้านบาท | 2 ปี |
3% หรือ > 600 ล้านบาท | 3 ปี |
* Cap คือ การจำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เช่น ลงทุน 1 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 1 ล้านบาท |
|
2. Merit เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค |
การตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำต่อหัว
(20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ) |
3 ปี
* หากเป็นกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
|
3. Merit เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม |
การตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ | 1 ปี |
-
ตัวอย่างการคำนวณสิทธิประโยชน์
ตัวอย่างที่ 1 :
กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสำนักงาน (ประเภท 5.3.6) ตั้งสถานประกอบการที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) 100 ล้านบาท และได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เติมเติมตมคุณค่าของโครงการ โดยจะลงทุนทำวิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่า 10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก
สิทธิประโยชน์ | ตามประเภทกิจการ | ตามคุณค่าของโครงการ |
Merit เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน | Merit เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (ตั้งใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ) | Merit เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม (ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ) |
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวม 5 ปี มูลค่า Cap ไม่เกิน 120 ล้านบาท | (A4) 3 ปี โดยมีมูลค่า Cap ไม่เกิน 100 ล้านบาท | ยกเว้นเพิ่มอีก 1 ปี โดยมี Cap เพิ่มอีก 20 ล้านบาท | - | ยกเว้นเพิ่มอีก 1 ปี |
สิทธิประโยชน์พื้นฐานอื่นๆ |
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก
- สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax)
|
-
ตัวอย่างที่ 2 :
กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาหรือชิ้นส่วน (ประเภท 3.4) ตั้งสถานประกอบการที่จังหวัดชัยภูมิ มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) 50 ล้านบาท
สิทธิประโยชน์ | ตามประเภทกิจการ | ตามคุณค่าของโครงการ |
Merit เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน | Merit เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (ตั้งใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ) | Merit เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม (ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ) |
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 3 ปี มูลค่า Cap ไม่เกิน 50 ล้านบาท | (B1) ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ | - | ยกเว้นเพิ่มอีก 3 ปี | - |
สิทธิประโยชน์พื้นฐานอื่นๆ |
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก
- สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (Non - Tax)
|
สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับ 20 จังหวัด |
- อนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้
- อนุญาตให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิร้อยละ 25 ของเงินลงทุน โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีรายได้ นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ
|
- หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ
-
คณะกรรมการได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ใหม่โดยประเด็นสำคัญคือ การเข้มงวดกับการใช้เครื่องจักรเก่า และการปรับเปลี่ยนวิธีนับเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการฐานความรู้ รวมทั้งกิจการที่รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล หลักเกณฑ์ใหม่ประกอบด้วย 3 ด้านดังนี้
-
3.1 หลักเกณฑ์ด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
- ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ (ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกง่าร้อยละ 10 ของรายได้)
- ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
- ต้องใช้เครื่องจักรใหม่ กรณีเครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Cap) แต่จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่ เครื่องจักรที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า และเครื่องปั๊ม (Press Machine) ที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปี ในโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- โครงการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ต้องได้รับใบรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันครบเปิดดำเนินการ หากไม่สามารุดำเนินการได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ 1 ปี
- สำหรับกิจการที่ได้รับสัมปทาน และกิจการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีแนวทางการพิจารณาดังนี้
5.1 โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 จะไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมฯ
5.2 โครงการที่ได้รับสัมปทานที่เอกชนดำเนินการ โดยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ (Build Transfer หรือ Build Operate Transfer) หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้ผู้ได้รับสัมปทานได้รับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน ต้องเสนอโครงการให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล และในขั้นการประมูลต้องมีประกาศชัดเจนว่าเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ใดบ้าง โดยในหลักการจะไม่ให้การส่งเสริมฯ กรณีเอกชนต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่รัฐในการรับสัมปทาน เว้นแต่เป็นผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับการลงทุนที่รัฐใช้ไปในโครงการนั้น
5.3 โครงการของรัฐที่ให้เอกชนลงทุนและเป็นเจ้าของ (Build Own Operate) รวมทั้งให้เอกชนเช่าหรือบริหาร โดยจ่ายผลตอบแทนให้รัฐในลักษณะค่าเช่า จะพิจารณาให้การส่งเสริมฯ ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป
5.4 การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด หากต้องการขยายงาน จะขอรับการส่งเสริมฯ ได้ เฉพาะส่วนที่ลงทุนเพิ่ม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป
-
3.2 หลักเกณฑ์ด้านการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจะพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องสถานที่ตั้งและวิธีจัดการมลพิษ
- กรณีกิจการใดมีรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมต่อเนื่อง อยู่ในข่ายที่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้โครงการหรือกิจการนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย
- โครงการที่ตั้งในจังหวัดระยอง ต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.1/2554 เรื่อง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง
-
3.3 หลักเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำ และความเป็นไปได้ของโครงการ
- ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมฯ
สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจ รวมทั้งกิจการที่รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการซอฟต์แวร์ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจาก Fixed Assets เช่น เครื่องจักร ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับกิจการเหล่านี้ จึงจะปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดความหมายของเงินลงทุนขั้นต่ำใหม่ โดยพิจารณาจาก "เงินเดือนบุคลากรขั้นต่ำต่อปี" ซึ่งจะระบุไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมฯ
- มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายกรณี
- โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท ต้องแนบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
การกำหนดมาตรการเสริม
นอกจากการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลักภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่แล้ว คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดมาตรการเสริมที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะอีกหลายมาตรการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่สามารถบรรจุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
โดยกระตุ้นให้กิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น Automation เป็นต้น และการลงทุนเพิ่มด้านการวิจัย พัฒนา และการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย และเพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของกลุ่ม SMEs จำนวน 38 กิจการ โดยจะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปีจากหลักเกณฑ์ปกติ
3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
โดยโครงการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินด้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปีจากหลักเกณฑ์ปกติ หากเป็นกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับกรณีเป็นกิจการเป้าหมายที่คณะกรรมการฯ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี
4. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดกับโครงการที่ลงทุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวมทั้งพื้นที่ในอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาด้วย
ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 3 ปี สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.boi.go.th
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
สำนักงานคาดหวังว่า การปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลดีกับทุกภาคส่วนหลายประการ ดังนี้
-
ประโยชน์ต่อประเทศ
- สามารถดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อมุ่งสู่การก้าวพ้น Middle Income Trap และเติบโตอย่างยั่งยืน
- เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในแต่ละภูมิภาคหรือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ อีกทั้งสามารถพัฒนา Value Chain ของอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
- ภาระทางการคลังจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง และมีการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
ประโยชน์ต่อนักลงทุน
- มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น จากการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง Tax และ Non - Tax Incentives โดยเฉพาะมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณคาของโครงการ (Merit - Based Incentives) ที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
- มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น จากการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศ และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการรวมกลุ่ม AEC
- ได้รับบริการและการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น ทั้งก่อนและหลังการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ
-
ประโยชน์ต่อบีโอไอ
- สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์กรหลักที่ชี้นำทิศทางการลงทุน และดูแลการลงทุนของภาคเอกชนในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังแล้ว จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง และเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|