หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนสิงหาคม 2554
โดย : คุณวันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการพิเศษ
กลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศ ศูนย์บริการลงทุน
ที่มาของศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ก่อตั้งขึ้นภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 เพื่อการบริการและอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นคำขออนุญาต ตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว โดยหากคำขอฯ ถูกต้อง และครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่ได้รับคำขอฯ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่เห็นว่า คำขอฯไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน ก็จะคืนคำขอฯ พร้อมแจ้งเหตุผลภายใน 1 ชั่วโมง นับแต่ได้รับคำขอ ตามข้อ 9 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 โดยเป็นศูนย์รวมเบ็ดเสร็จในการให้บริการช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการต่างชาติ เพื่อการทำงานอยู่ในราชอาณาจักรที่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย 3 หน่วยงานมาให้บริการ
ร่วมกัน ได้แก่
- กลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศสังกัดศูนย์บริการลงทุน บีโอไอ
- กองกำกับการ 3 สังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจ
คนเข้าเมือง
- สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สังกัดกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
ใครเป็นผู้รับบริการ
ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ให้บริการเฉพาะช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการต่างชาติบางกลุ่มเท่านั้น ตามข้อ 3 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2547 ประกอบด้วย 10 กลุ่ม ต่อไปนี้
- คนต่างด้าวที่เป็นนักลงทุน ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่ประจำสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศ หรือสำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่เป็นผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงคู่สมรส หรือบุคคลในอุปการะ
- คนต่างด้าวที่เป็นสื่อมวลชน ซึ่งได้รับอนุญาตจากทางราชการ รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่เป็นนักวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสาขาธนาคารต่างประเทศ สำนักงานวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศ และสำนักงานผู้แทนของธนาคารต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยรับรอง รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่ประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือน
- คนต่างด้าวที่เข้ามาปฏิบัติงานตามพันธกรณีที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาล
ต่างประเทศ และ
- คนต่างด้าวที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ชนิดของบริการแต่ละหน่วยงาน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
กลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศ ให้บริการครอบคลุมทั้งในกรณีที่อยู่ และไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาให้ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวมทั้งกรณีกิจการที่ได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว และหอการค้าต่างประเทศ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นกรณียังไม่มีบัตรส่งเสริมฯ และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นกรณีที่ได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว จำแนกเป็น
กรณีอยู่หรือไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุน สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน เพื่อกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน เพื่อปฏิบัติงานในกิจการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้การส่งเสริมฯ หรืออยู่ระหว่างรอรับบัตรส่งเสริมฯ การขอประทับตรา เปลี่ยนประเภทวีซ่าให้คนต่างด้าว และการอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิ์เดิมของคนต่างด้าว
กรณีหอการค้าต่างประเทศ สำหรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ปฏิบัติงานที่หอการค้าต่างประเทศ และการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานหลักอยู่แล้วที่กิจการบีโอไอ ไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่หอการค้าต่างประเทศ
กรณีกิจการได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว สำหรับ
- การอนุมัติตำแหน่งหน้าที่ของคนต่างด้าว
- การบรรจุคนต่างด้าวในตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติ
- การอนุญาตครอบครัวของคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวบุคคลใหม่มาปฏิบัติงานแทนบุคคลเดิม
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวหรือครอบครัวอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิ์เดิม
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวมาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน (บริการแล้วเสร็จใน 3 ชั่วโมง)
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่บริษัทในเครือ
- การขยายเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าว
- การอนุญาตให้คนต่างด้าวนำของใช้ส่วนตัวเข้ามาในราชอาณาจักร
- การเพิ่ม/ย้ายท้องที่ทำงานของคนต่างด้าว
- การประทับตราวีซ่า หรือเปลี่ยนประเภทวีซ่าให้คนต่างด้าว
- การเปลี่ยนสัญชาติของคนต่างด้าว
- การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ของคนต่างด้าว (บริการแล้วเสร็จใน 3 ชั่วโมง)
- การเพิ่มลักษณะงานของคนต่างด้าว
- การเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของคนต่างด้าว
- การยกเลิกตำแหน่งหน้าที่ของคนต่างด้าว
- การยกเลิกคนต่างด้าวไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่บริษัทในเครือ
- การเปลี่ยนชื่อบริษัทในฐานข้อมูลงานช่างฝีมือ
- กรณีอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
กองกำกับการ 3 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือกองกำกับการ 3 บก.ตม.1 มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบริการคนต่างด้าวขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายปิโตรเลียมกฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย การให้บริการได้กำหนดไว้ที่จะให้แล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมงในทุกชนิดบริการ สำหรับ
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่นำเงิน
เข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท / ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท / ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการที่ปฏิบัติงานในนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระเต็มมูลค่าหรือทุนดำเนินการไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวซึ่งมาประจำที่สำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศ / สำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายปิโตรเลียม กฎหมาย
ส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่เป็นนักวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่เป็น
เจ้าหน้าที่ของสาขาธนาคารต่างประเทศ / สำนักงานวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศ / สำนักงานผู้แทนของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่มาประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
- การขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวที่มาทำงานตามพันธกรณีที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- บิดา มารดา คู่สมรส บุตรในอุปการะ และเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของคนต่างด้าวข้างต้น
- การขอรับตรวจลงตรา ขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเภทคนอยู่ชั่วคราว
- การอนุญาตเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก
- การแก้ไขตราประทับของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของคนต่างด้าว
- การแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในกรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน ของคนต่างด้าว
- การเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของคนต่างด้าว
- การเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าว
- งานดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
- งานอื่นๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
กรมการจัดหางาน
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้บริการแล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมงในบริการต่างๆ ดังนี้
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายปิโตรเลียม กฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุน จำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญในกิจการที่มีทุนดำเนินการ ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งส่วนราชการรับรอง
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเป็นนักวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสาขาธนาคารต่างประเทศ / สำนักงานวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศ / สำนักงานผู้แทนของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย
- การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศ / สำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ
- การดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว
- การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน
- การออกใบแทนใบอนุญาตทำงาน
- การเพิ่มหรือเปลี่ยนการทำงาน สถานที่ทำงาน หรือท้องที่ในการทำงาน
- การอนุญาตอื่นๆ ตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว
กิจการบีโอไอและที่ไม่ใช่บีโอไอใช้บริการได้หรือไม่
กิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ
หมายถึง กิจการที่มีบัตรส่งเสริมฯ ของบีโอไอ สามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้ทุกกิจการ และทุกชนิดบริการ ไม่ว่าจะมีทุนจดทะเบียนจำนวนเท่าไรก็ตาม
กิจการที่ไม่ได้ขอรับการส่งเสริมฯ
สามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้ ต้องเป็นธุรกิจตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยหากเป็นธุรกิจอื่น ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มมูลค่า หรือทุนดำเนินการไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
การให้บริการมีความหลากหลายในหลายชนิดของธุรกิจ ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ อีกทั้งชนิดบริการส่วนใหญ่ให้บริการแล้วเสร็จได้ภายใน 3 ชั่วโมงด้วยบริการแบบครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการบีโอไอในทุกชนิดธุรกิจ และทุกขนาดของทุนจดทะเบียน ได้สิทธิพิเศษในการใช้บริการที่ศูนย์บริการแห่งนี้ ฉะนั้น ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการต่างชาติในกิจการใดที่เข้าข่ายข้างต้น สามารถขอรับบริการได้ที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานอาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 ปทุมวัน กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศบีโอไอ จะเริ่มทดลองใช้ระบบออนไลน์ BOI E - Expert System ประมาณเดือนตุลาคม 2554 และเริ่มใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ในการยื่นเรื่องช่างฝีมือทั้งระบบ ในทุกประเภทกิจการ และทุกชนิดงานช่างฝีมือที่ให้บริการของบีโอไอ บริษัทผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะรับผิดชอบรหัส Password และเอกสารที่แนบทั้งหมดของตนเอง ซึ่งจะลดขั้นตอน ลดปริมาณเอกสาร และลดการเดินทางมาติดต่อยื่นเรื่อง อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|