หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš

กฎระเบียบควรรู้ : ส่วนสูญเสียของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนกุมภาพันธ์ 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1


  1. ส่วนสูญเสีย หมายถึงอะไร
    ตอบ : ในการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการส่งออก วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นนั้น อาจมีส่วนสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในขณะนำเข้าก่อน หรือระหว่างกระบวนการผลิต ตลอดจนผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้ว แต่เกิดความชำรุดเสียหาย หรือไม่ได้มาตรฐาน
          ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.5/2543 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 เรื่อง เงื่อนไขและวิธีการสำหรับส่วนสูญเสียและเศษซากของวัตถุดิบตามมาตรา 36 (1) ระบุความหมายของส่วนสูญเสียไว้ว่า “ส่วนสูญเสีย” หมายถึง
    -วัตถุดิบก่อนที่จะใช้ หรือที่เหลือจากการผลิต ที่มีตำหนิ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้
    -เศษวัตถุดิบ หรือของที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
    -ผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ หรือของที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีตำหนิ ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้
          ตามประกาศฉบับนี้ ยังได้ให้ความหมายของ "เศษซาก" ไว้ด้วย ว่าหมายถึง ส่วนสูญเสียที่ถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพเดิม
  2. ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต หมายถึงอะไร
    ตอบ : หมายถึง ส่วนสูญเสียที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากกรรมวิธีการผลิตและมีปริมาณที่แน่นอน เป็นการสูญเสียทางทฤษฎี แม้ว่าใครเป็นผู้ผลิตก็จะสูญเสียเหมือนกัน จึงอนุญาตให้รวมอยู่ในสูตรการผลิตได้ ในการคำนวณสูตรการผลิต จะหมายถึง ปริมาณการใช้รวมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ซึ่งเท่ากับ ปริมาณการใช้สุทธิต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น บวกปริมาณส่วนสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ทั้งนี้ สูตรการผลิตจะไม่รวมส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิตแต่อย่างใด
  3. ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต หมายถึงอะไร
    ตอบ : ส่วนสูญเสียที่ไม่สามารถคำนวณล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นในอัตรามากน้อยเพียงใด จึงไม่อนุญาตให้รวมอยู่ในสูตรการผลิต และจะต้องพิสูจน์ปริมาณในภายหลัง เช่น
    -วัตถุดิบก่อนที่จะใช้ผลิต หรือที่เหลือจากการผลิต ที่มีตำหนิ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้
    -ผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ หรืออยู่ระหว่างกระบวนการผลิต ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้

    รูปภาพตัวอย่างการแสดงส่วนสูญเสียในสูตรและนอกสูตรการผลิต

    A คือสินค้าที่ผลิตขึ้น มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะปั๊มขึ้นรูป เป็นวงกลม ขนาดเท่ากัน
    B คือส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต เป็นแผ่นโลหะที่เหลือจากการปั๊มขึ้นรูป สามารถคำนวณปริมาณล่วงหน้าได้แน่นอน
    C คือส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต เป็นส่วนขอบหัวท้ายของม้วนโลหะ มีปริมาณไม่แน่นอน ไม่สามารถคำนวณปริมาณล่วงหน้าได้
    X คือสินค้าที่ผลิตขึ้นแล้วมีตำหนิ จัดเป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต มีปริมาณไม่แน่นอน
  4. ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต จะต้องนำมาตัดบัญชีวัตถุดิบ หรือไม่
    ตอบ : ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต จะได้รับอนุมัติปริมาณรวมอยู่ในสูตรการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่สามารถนำมาขอตัดบัญชีได้อีก บริษัทสามารถกำจัดได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากบีโอไออีก แต่หากเป็นส่วนสูญเสีย หรือเศษซากที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ และบริษัทประสงค์จะจำหน่าย หรือโอน บริษัทจะต้องชำระอากรตามสภาพ โดยใช้พิกัดอัตราศุลกากรในปัจจุบัน และนำหลักฐานการชำระภาษีอากรมาตัดบัญชีวัตถุดิบ ทั้งนี้ บริษัทจะสามารถจำหน่ายได้ หลังจากที่ดำเนินการชำระภาษีอากรและตัดบัญชีแล้วเท่านั้น
  5. หากบริษัทมีส่วนสูญเสียที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ บริษัทมีวิธีจัดการกับส่วนสูญเสียนั้นอย่างไร โดยที่จะไม่มีภาระภาษีอากร
    ตอบ : บริษัทจะต้องทำเรื่องขออนุมัติทำลาย ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือบริจาค ส่วนสูญเสียนั้นๆ ตามแบบคำร้องท้ายประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.5/2543
  6. เศษวัตถุดิบที่สามารถนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ได้ เช่น เศษพลาสติก จะรวมเป็นส่วนสูญเสียอยู่ในสูตรการผลิตหรือไม่
    ตอบ : เศษวัตถุดิบที่สามารถนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ได้ จะไม่อนุญาตให้นำมารวมเป็นส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต โดยการอนุมัติสูตรการผลิตจะให้เฉพาะปริมาณสุทธิต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นเท่านั้น แต่หากไม่ได้นำไปรีไซเคิล ก็ให้แยกเก็บไว้เป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต สามารถชำระอากรตามสภาพ ส่งออก บริจาค หรือทำลาย และตัดบัญชีวัตถุดิบสำหรับส่วนสูญเสียได้
  7. บริษัทสามารถนำส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต ไปเก็บไว้นอกโรงงานได้หรือไม่
    ตอบ : หากยังไม่ได้รับอนุมัติให้ตัดบัญชี ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิตออกนอกโรงงานได้ เว้นแต่หากได้รับอนุญาตจากบีโอไอ
  8. บริษัทสามารถเก็บส่วนสูญเสียในสูตรและนอกสูตรการผลิตไว้รวมกัน ได้หรือไม่
    ตอบ : เนื่องจากส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต ไม่ว่าจะมีมูลค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อนำยอดมาตัดบัญชี ดังนั้น บริษัทจะต้องเก็บแยกจากส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต
  9. การตัดบัญชีวัตถุดิบสำหรับส่วนสูญเสีย มีวิธีการอย่างไร
    ตอบ : การตัดบัญชีวัตถุดิบสำหรับส่วนสูญเสีย จะต้องดำเนินการดังนี้
    -ยื่นเรื่องต่อบีโอไอ เพื่อขออนุมัติทำลาย ส่งออก หรือบริจาค ตามแบบคำร้องท้ายประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.5/2543
    -จัดทำรายการส่วนสูญเสีย ดังนี้
    ชนิด ปริมาณ หรือน้ำหนัก และมูลค่าของส่วนสูญเสีย
    สาเหตุของการสูญเสีย
    -จัดเก็บส่วนสูญเสียหรือเศษซากอย่างมีระบบ เพื่อให้บีโอไอ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบประเภทและปริมาณได้
    -กรณีบริจาค จะต้องเป็นส่วนสูญเสียชนิดที่ผู้รับบริจาคพึงใช้ประโยชน์ได้ตามลักษณะกิจกรรมของผู้บริจาค ผู้รับบริจาคจะต้องเป็นหน่วยงานราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์การสาธารณกุศล และผู้รับบริจาคต้องออกหนังสือการรับบริจาคไว้เป็นหลักฐาน โดยระบุรายละเอียดส่วนสูญเสียที่รับบริจาคให้ชัดเจน โดยการบริจาคจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบีโอไอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้รับอนุมัติให้บริจาคแล้ว จะต้องจัดส่งหลักฐานการดำเนินการดังกล่าวมายังบีโอไอเพื่อตัดบัญชี
    -กรณีส่งออก จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบีโอไอก่อนการส่งออก และเมื่อได้รับอนุมัติให้ส่งออกแล้ว ให้ส่งหลักฐานการส่งออกมายังบีโอไอ เพื่อตัดบัญชีต่อไป
    -กรณีทำลายส่วนสูญเสีย
    จะต้องระบุวิธีทำลายที่ได้รับความเห็นชอบ และควบคุมจากบีโอไอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับเสนอวิธีการกำจัดเศษซากในขั้นสุดท้าย เช่น จะนำไปฝังกลบ หรือจ้างให้ผู้ประกอบการรับไปกำจัดต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ เศษซากจากการทำลายจะต้องมีวิธีกำจัดที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่จะทำลายส่วนสูญเสียชนิดเดิมในครั้งต่อไป โดยวิธีทำลายเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ไม่ต้องขออนุมัติวิธีการทำลายอีก
    ติดต่อบริษัท Inspector ให้ตรวจสอบรับรองประเภทและปริมาณส่วนสูญเสีย ที่ได้ทำลายตามวิธีที่บีโอไออนุมัติ
    นำใบรับรองจาก Inspector ไปยื่นต่อบีโอไอ เพื่อขออนุมัติตัดบัญชี
    บีโอไอจะพิจารณาอนุญาตให้ตัดบัญชีโดยมีการพิจารณา ดังนี้
    -กรณีที่เศษซากวัตถุดิบมีภาระภาษี บีโอไอจะแจ้งให้กรมศุลกากรทราบ พร้อมกับแจ้งให้บริษัทไปชำระภาษี
    -กรณีที่เศษซากมีผลกระทบต่อมลภาวะ บริษัทจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    นำหนังสืออนุมัติตัดบัญชีไปดำเนินการต่อที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC) พร้อมกับแนบหลักฐานการชำระภาษี (ในกรณีที่บีโอไอแจ้งให้ไปชำระภาษี) ทั้งนี้ ในการขอชำระภาษีส่วนสูญเสียที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ กรมศุลกากรสามารถขอตรวจสอบประเภทและปริมาณของส่วนสูญเสียที่ขอชำระภาษีได้
  10. บริษัทอะไรบ้างที่รับตรวจสอบส่วนสูญเสีย (Scrap Inspection)
    ตอบ : สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการธุรกิจตรวจสอบส่วนสูญเสีย ได้จากเว็บไซต์ของบีโอไอ โดยผู้ตรวจสอบจะทำการตรวจสอบปริมาณส่วนสูญเสีย และตรวจสอบขั้นตอนการทำลายส่วนสูญเสีย และออกใบรับรองให้กับบริษัท เพื่อนำไปตัดบัญชีต่อไป
  11. บริษัทสามารถจ้างบุคคลที่ 3 (Third Party) ให้เป็นผู้ทำลายส่วนสูญเสีย แทนบริษัทได้หรือไม่
    ตอบ : สามารถทำได้ ในกรณีที่ส่งส่วนสูญเสียให้ผู้ประกอบกิจการให้บริการกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม กำจัดด้วยวิธีเผา บำบัด ปรับเสถียรและฝังกลบ ผู้รับกำจัดต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
  12. บริษัทซื้อสินค้าเพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตต่อเพื่อส่งออก โดยซื้อต่อจากบริษัทอื่นที่ได้รับการส่งเสริมฯ และได้ใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรขาเข้า แต่หากไม่สามารถส่งออกสินค้านั้นได้ จะต้องดำเนินการอย่างไร
    ตอบ : ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมฯ ซึ่งได้ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าภายใต้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 (1) หากนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าแล้วไม่สามารถส่งออกได้ และได้รับอนุมัติจากบีโอไอให้เป็นส่วนสูญเสียแล้ว สามารถให้โอนกลับไปยังผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมนั้นๆ เพื่อให้ผู้ผลิตรายนั้น นำไปใช้ตัดบัญชีวัตถุดิบสำหรับส่วนสูญเสียได้ ทั้งนี้ ให้ระบุชื่อผู้ผลิตและจัดทำรายการส่วนสูญเสียพร้อมทั้งจัดทำสำเนาเอกสารเพื่อให้บีโอไอ หรือผู้ได้รับมอบหมายรับรองความถูกต้อง

(ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš


views 14,694
Total pageviews 4,474,359 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.