หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš

กฎระเบียบควรรู้ : สิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น มาตรา 30

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนเมษายน 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1


  1. หากต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ บริษัทจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าได้ตามมาตรา 30 ในกรณีใดบ้าง
    ตอบ : การได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 นี้ เป็นการลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น สำหรับของที่ไม่มีผลิตหรือมีกำเนิดในราชอาณาจักร ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกัน และมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
    1. ลดหย่อนอากรขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 90 เนื่องจากวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมฯ มีโครงสร้างอากรขาเข้าไม่เหมาะสม โดยคณะอนุกรรมการสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรจะพิจารณาให้เป็นกรณีๆ ไป
    2. โครงการที่ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ ที่ยื่นคำขอฯ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 และตั้งสถานประกอบการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในเขต 3 (ทั้งเขต 3 - 36 จังหวัด และเขต 3 พิเศษ 23 จังหวัด) จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 โดยให้ได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าร้อยละ 75 ของอัตราปกติ สำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะอนุมัติให้คราวละ 1 ปี ทั้งนี้ ยกเว้นโครงการที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หรือนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในจังหวัดระยอง
  2. การนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง
    ตอบ : ตามประกาศที่ ป.9/2544 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น มาตรา 30 กำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้
    1. ต้องเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่ไม่มีผู้ผลิตในประเทศ ตามที่บีโอไอประกาศกำหนด
    2. ต้องเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่สอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ
    3. ต้องเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ตามคำจำกัดความที่บีโอไอประกาศกำหนด
    4. กรณีเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่ไม่มีผู้ผลิตภายในประเทศผลิต แต่ผู้ผลิตในประเทศมีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ เช่น ชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป ชิ้นส่วนโลหะทุบขึ้นรูป ชิ้นส่วนโลหะหล่อ ชิ้นส่วนพลาสติกขึ้นรูป ชิ้นส่วนยางขึ้นรูป เป็นต้น บีโอไอจะอนุมัติแบบมีเงื่อนไข 1 ปี สำหรับปีแรก เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯ มีระยะเวลาในการติดต่อหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ สำหรับใช้ในการผลิตในปีต่อไป
    5. ในปีต่อไปบีโอไอจะไม่อนุมัติรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่เคยได้รับอนุมัติแบบมีเงื่อนไข ตามข้อ 4. เว้นแต่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ แสดงหนังสือยืนยันจากผู้ผลิตในประเทศว่า ไม่สามารถผลิตวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นดังกล่าวได้ต่อบีโอไอ จึงจะได้รับการอนุมัติในปีต่อไป
    6. กรณีที่เป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่สอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิต ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ แต่เป็นวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่เป็นชิ้นส่วนซึ่งไม่มีผลิตในประเทศและนำมาใช้ในการประกอบ หากเป็นการประกอบอย่างยาก หรือ Engineering Assembly ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีความละเอียดสูง จะต้องมีการวัด ตรวจสอบคุณภาพ จับคู่ชิ้นส่วนให้ได้ Tolerance รวมทั้งมีการทดสอบหลังการประกอบ เพื่อให้ได้ตามข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยใช้เครื่องทดสอบเป็นการเฉพาะ จึงจะพิจารณาอนุมัติ
  3. หากบริษัทได้รับสิทธิและประโยชน์มาตรา 30 และประสงค์ที่จะใช้นำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น บริษัทจะต้องยื่นบัญชีวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นต่อบีโอไอเมื่อใด
    ตอบ : ตามประกาศ ที่ ป.10/2544 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ในการขออนุมัติลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 นั้น
          กำหนดให้บริษัทจะต้องยื่นขออนุมัติรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น และตัวอย่างหรือภาพถ่ายของวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าต่อบีโอไอ ก่อนการนำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ไม่น้อยกว่า 2 เดือนสำหรับปีแรก
          สำหรับการขอขยายเวลาการใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 30 นั้น บริษัทจะต้องยื่นขออนุมัติต่อบีโอไอในรอบปีถัดไป ก่อนสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีเวลา ในการพิจารณารายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่จะใช้สิทธิ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้สิทธิ์ต่อไป
          ตัวอย่างเช่น หากบริษัทประสงค์จะนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 บริษัทจะต้องยื่นขออนุมัติก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2555
  4. บริษัทสามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 ย้อนหลังได้หรือไม่
    ตอบ : เนื่องจากการใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 จะต้องยื่นบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ก่อนนำเข้าไม่น้อยกว่า 2 เดือน การใช้สิทธิ์ย้อนหลังจึงไม่สามารถกระทำได้
  5. หากบริษัทได้ใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 30 ไปแล้ว 1 ปี แต่ปีต่อมา เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า บริษัทจะของดใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 30 ในปีที่ 2 และจะขอใช้สิทธิและประโยชน์อีกครั้งในปีที่ 3 กรณีนี้จะทำได้หรือไม่
    ตอบ : การได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 ตามเกณฑ์ที่ตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม เขต 3 นั้น เป็นการได้รับสิทธิและประโยชน์ เป็นระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน การงดใช้สิทธิ์ดังกล่าว สามารถกระทำได้ แต่จะเสียสิทธิ์ในปีนั้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับการให้สิทธิและประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31
          ในกรณีนี้ ถึงแม้บริษัทไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ์ แต่ยังคงจะต้องยื่นขอขยายเวลาเพื่อรับสิทธิ์ตามมาตรา 30 อย่างต่อเนื่อง
  6. หากบริษัทได้รับสิทธิและประโยชน์มาตรา 30 จะต้องขออนุมัติปริมาณการผลิตสูงสุดและสูตรการผลิตด้วยหรือไม่
    ตอบ : ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 และได้รับอนุมัติบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นจากบีโอไอแล้ว จะต้องยื่นขออนุมัติปริมาณอนุมัติสูงสุดและสูตรการผลิต ทุกรอบปี โดยแนบเอกสารและหลักฐาน ดังนี้
    1.ชนิดผลิตภัณฑ์และปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะทำการผลิตต่อปี (ชื่อรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นจะต้องตรงกับ Invoice ที่จะนำเข้า)
    2.สูตรการผลิตที่แสดงรายการ และปริมาณการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (สูตรการผลิตเป็นการพิสูจน์ปริมาณการใช้จริง รวมถึงส่วนสูญเสียในสูตรการผลิตที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้านั้นๆ)
    3.รายการและปริมาณอนุมัติสูงสุดของวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นแต่ละชนิด (ปริมาณอนุมัติสูงสุด คำนวณตามกำลังการผลิตตามบัตรส่งเสริมฯ)
    4.ตัวอย่างหรือภาพถ่ายของวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็น และผลิตภัณฑ์ที่จะทำการผลิต (บีโอไอจะตรวจสอบและส่งตัวอย่างคืนให้ภายหลัง)
          สำหรับผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ที่ได้รับขยายเวลาสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 และไม่มีการเพิ่มรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น บีโอไอจะอนุญาตให้นำสูตรการผลิต ที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วมาใช้ต่อไปได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตใหม่
    การขออนุมัติสูตรการผลิตนั้น จะดำเนินการหลังจากบริษัทได้ทำการผลิตแล้ว เพื่อที่จะได้จัดทำสูตรการผลิตที่ถูกต้อง ทั้งนี้ จะต้องยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตจากบีโอไอก่อนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
  7. ส่วนสูญเสียของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 มีวิธีจัดการอย่างไร
    ตอบ : ส่วนสูญเสียตามมาตรา 30 แบ่งออกเป็น 2 กรณี ซึ่งมีภาระภาษีอากรแตกต่างกัน ดังนี้
    1)ส่วนสูญเสียที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตเนื่องจากมีตำหนิ หรือมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานหรือไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้ และวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต (วัตถุดิบคงเหลือ) ซึ่งจะต้องๅดำเนินการดังนี้
    -ชำระอากรขาเข้าในส่วนที่ได้รับลดหย่อนตามอัตรา ณ วันนำเข้า และชำระเงินเพิ่มของอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่มของอากรขาเข้านั้น หรือ
    -ส่งคืนกลับไปต่างประเทศ (ไม่มีภาระภาษีอากร) หรือ
    -บริจาคให้กับส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์การสาธารณกุศล (ไม่มีภาระภาษีอากร)
    2)ส่วนสูญเสียที่ผ่านขั้นตอนการผลิตแล้ว ได้แก่ เศษของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต หรือผลิตภัณฑ์ และชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นแล้วแต่มีตำหนิ หรือมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมได้ ส่วนสูญเสียเหล่านี้จะไม่มีภาระภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นในรูปของวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็น หรือภาระภาษีอากรตามสภาพเศษซาก โดยการดำเนินการในกรณีนี้ เป็นดังนี้
    -กรณีเป็นส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต จะตัดยอดส่วนสูญเสียพร้อมกับการตัดบัญชีจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
    -กรณีเป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต จะต้องได้รับการรับรองรายการและปริมาณ จากบริษัทผู้ตรวจสอบส่วนสูญเสีย ที่ได้รับอนุญาตจากบีโอไอก่อน จึงจะสามารถตัดยอดส่วนสูญเสียดังกล่าวได้
  8. หากสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 แล้ว วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้า โดยได้รับการลดหย่อนอากรขาเข้า จะต้องใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเท่าใด
    ตอบ : จะต้องใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการนำเข้า เว้นแต่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาตามมาตรา 30 ออกไปอีก วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นคงเหลือจะสามารถโอนไปใช้ในรอบปีถัดไปได้ โดยจะนำไปหักจากปริมาณที่จะได้รับอนุมัติให้นำเข้าในรอบปีถัดไป สำหรับในปีสุดท้าย หากไม่ได้นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายในกำหนดเวลา จะต้องชำระอากรขาเข้าตามสภาพ ณ วันนำเข้า สำหรับวัตถุดิบคงเหลือนั้น
  9. หากสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 30 แล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร
    ตอบ : จะต้องจัดทำรายงานสรุปการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ส่งให้บีโอไอทราบภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่สิ้นสุดระยะเวลาใช้วัตถุดิบให้หมดตามข้อ 9. (สรุป บริษัทมีเวลา 7 เดือน ที่จะดำเนินการปิดบัญชี เมื่อสิ้นสุดวันครบกำหนดการใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 30) โดยแนบเอกสาร ดังนี้
    1. สำเนาบัญชีรายงานภาษีขายตามแบบของกรมสรรพากร
    2. ใบสรุปจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตทั้งหมด โดยแยกเป็นจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้จำหน่ายไปแล้ว และจำนวนผลิตภัณฑ์คงเหลือ
    3. รายละเอียดปริมาณการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์แต่ละแบบ โดยคำนวณตามสูตรการผลิตที่ได้รับอนุมัติ
    4. ใบสรุปปริมาณการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นแต่ละรายการที่ใช้ในการผลิต โดยรวบรวมจากเอกสารในข้อ 3. พร้อมปริมาณการนำเข้า และปริมาณวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นคงเหลือ
          หากสรุปยอดคงเหลือ (ตัดบัญชี) ไม่หมด (มีวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นคงเหลือ อาจจะเป็นเพราะมีการนำเข้ามากกว่าปริมาณที่ใช้ผลิตจริง) บริษัทจะต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามสภาพ ณ วันนำเข้า ตามจำนวนวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่เหลืออยู่

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš


views 8,623
Total pageviews 4,032,931 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.