หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
ข้อควรรู้ ระบบงานช่างฝีมือ e-Expert System
ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบบงานช่างฝีมือ e-Expert System
update: กันยายน 2557
หลักเกณฑ์น่ารู้
- การขอความร่วมมือประทับตราวีซ่า ช่างที่จะขอประทับตราทั้งช่าง" และครอบครัว ตำแหน่งของช่างฯ ต้องได้รับอนุมัติแล้ว
- การบรรจุช่างที่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ/ผู้ถือหุ้นของบริษัท ต้องแนบหลักฐานการศึกษาที่โรงเรียนออกให้ และหลักฐานใบผ่านงานที่อดีตนายจ้างออกให้เท่านั้น
- การขอช่างชั่วคราวไม่เกิน 6 เดือน จะต้องดำเนินการให้ช่างท่านนั้น เพียง 2 ครั้ง และไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น เว้นแต่มีการเดินทางออก และเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยวีซ่า non-B ใหม่ หรือจากวีซ่า non-B เดิม แต่เป็นชนิด Multiple ที่ยังไม่หมดอายุ
- การขอตำแหน่งใหม่ระดับที่ไม่ใช่ Executive ให้แนบแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีของช่างตำแหน่งนั้นไปยังพนักงานไทยของบริษัท
- หลักฐานการศึกษาและใบผ่านงาน ที่ไม่ใช่ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ให้แปล และรับรองเป็นไทยหรืออังกฤษ โดยสถานทูต/กงสุล โนตารีพับลิก หรือสถานบัน/ศูนย์แปล เท่านั้น แล้วสแกนแนบทั้งฉบับก่อนและหลังแปลไว้ไฟล์เดียวกัน
- การขอขยายเวลาตำแหน่งที่ไม่ใช่ระดับ Executive ให้แนบผล (ช่วงเวลาอดีต) และแผน (ช่วงเวลาอนาคต) ถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่ละตำแหน่ง
- ตัวอย่างผลถ่ายทอดเทคโนโลยี
- ผล = ช่วงเวลาในอดีต/ระบุชื่อ-สกุลของ พนง.ไทยผู้รับการถ่ายทอดทั้งหมดจากช่างแต่ละตำแหน่ง/ผล พนง.ไทยทำอะไรได้บ้าง
- คำร้องขอตำแหน่งใหม่ และขยายเวลาตำแหน่ง กรอกข้อมูลบริษัท = ยอดขายปี (ดูรอบปีบัญชีสุดท้าย เช่น 31 ธันวาคม 2556 จะเป็นยอดขายปี 2013)+ยอดขายภายในและต่างประเทศ (=รายได้หลัก=รายได้ขายและบริการ)+ผล (ดูงบกำไรขาดทุน)
- คำร้องเกี่ยวกับช่างและ/หรือครอบครัว แนบหน้า passport+วีซ่า+ต่ออายุวีซ่าถึงปัจจุบัน(ถ้ามี)+ตราขาเข้าเมื่อเริ่มเข้ามา+ตราขาเข้าล่าสุด สแกนไว้ในไฟล์เดียวกัน
|
ข้อควรปฏิบัติ
- บริษัทที่ได้รับประเภทกิจการ การสนับสนุนการค้าและการลงทุน (TISO)
- การขอตำแหน่งใหม่ของประเภทกิจการนี้ บริษัทจะต้องใส่ "ขอบข่ายงาน" ตามที่บริษัทชี้แจงโครงการไว้กับทางบีโอไอให้อยู่ในช่อง "ขอบเขตงาน" ของระบบ e-Expert System
- การขอตำแหน่งให้กับ MANAGING DIRECTOR ต้องเลือกระดับตำแหน่ง EXECUTIVE LEVEL และในช่องขอบเขตงานใส่หน้าที่ของตำแหน่งนี้ พร้อมทั้ง "เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันในเอกสารของบริษัท"
- การขออนุมัติตำแหน่ง SALES และ MARKETING จะต้องระบุขอบเขตที่ดูแล เช่น โศน ประเทศ หรือผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ที่ตำแหน่งนี้รับผิดชอบโดยตรง เช่น SALES MANAGER (EURPOE) เป็นต้น
- เมื่อบริษัทได้รับบัตรส่งเสริมจากบีโอไอแล้ว ขอให้อ่านและทำความเข้าใจกับหัวข้อ "เงื่อนไขเฉพาะโครงการ" เพราะมีความสอดคล้องกับการนำเข้าช่างฝีมือต่างชาติ หากบริษัทได้รับบัตรส่งเสริมมาเกิน 3 ปี และยังไม่ได้แจ้งเปิดดำเนินการกับทาง BOI ทางกลุ่มผู้ชำนาญการต่างประเทศจะไม่รับพิจารณาอนุมัติให้
- การยื่นขออนุมัติตำแหน่ง หากไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นกรรมการมีอำนาจลงนาม บริษัทจะต้องแนบ "แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี" ทุกตำแหน่ง ตามเงื่อนไขทั่วไปของบัตรส่งเสริม
- การยื่นขอขยายระยะเวลาตำแหน่ง หากไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นกรรมการมีอำนาจลงนาม บริษัทจะต้องแนบ "ผลการถ่ายทอดเทคโนโลยี" ทุกตำแหน่ง ตามเงื่อนไขทั่วไปของบัตรส่งเสริม
- การแนบ "บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น" และ "หนังสือรับรองนิติบุคคล" จะต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน และรับรองจากนายทะเบียน
- การบรรจุช่างฝีมือฯ กับทางบีโอไอแล้ว ขอให้รีบดำเนินการเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ภายใน 15 วัน
- หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนและในระบบ e-Expert System ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม เจ้าหน้าที่พิจารณาสามารถพิจารณาจากเอกสารแนบหนังสือรับรองนิติบุคคลของบริษัทได้
|
คำแนะนำ
- การกรอกเหตุผลประกอบการพิจารณาการขออนุมัติตำแหน่ง ควรมีเนื้อหาครอบคลุม ดังนี้
- บริษัทดำเนินการเกี่ยวกับอะไร
- ขอบข่ายประเทกิจการของบริษัทคืออะไร
- จำเป็นต้องมีตำแหน่งนี้เพราะอะไร โดยให้สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งและประเภทกิจการ
- ตำแหน่งนี้ไม่สามารถเป็นคนไทยได้เพราะอะไร
- แนวโน้มด้านการผลิตและตลาดเป็นอย่างไร
- การกรอกเหตุผลประกอบการพิจารณาการขอขยายระยะเวลาตำแหน่ง ดังนี้
- บริษัทดำเนินการเกี่ยวกับอะไร
- ขอบข่ายประเภทกิจการของบริษัทคืออะไร
- แนวโน้มด้านการผลิตและตลาดเป็นอย่างไร
- จำเป็นต้องขยายตำแหน่งนี้เพราะอะไร โดยให้สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งและประเภทกิจการ
|
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป หนังสืออนุมัติที่เป็นตัวจริง (ตราครุฑ) สำหรับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
และกรมการจัดหางาน จะถูกส่งโดยตรงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์
ดังนั้น หากบริษัทมารับหนังสืออนุมัติ จะได้รับเฉพาะตัวสำเนาเท่านั้น (ยกเว้นหนังสือถึงบริษัทฯ เอง จะได้ตัวจริง) ดังนั้น ให้นำหนังสือสำเนาดังกล่าวพร้อมกับตัวจริงที่ถึงกรรมการบริษัทฯ ไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย
|
คำเตือนในการยื่นคำร้อง
วิธีการแจ้งพ้นคนต่างด้าวและครอบครัวเพื่อบรรจุในบริษัทอื่น
เลือกยื่นคำร้องข้อ 14.1 -> เลือกบัตรส่งเสริม -> เลือกคนต่างด้าว -> ตกลง -> เลือกวันที่
ซึ่งการเลือกวันที่นี้สำคัญมาก เนื่องจากหากช่างต้องการจะออกจากตำแหน่งหน้าที่เดิม แล้วต้องการบรรจุช่างฝีมือที่บัตรฯ อื่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเดียวกันหรือคนละบริษัท ช่างฯ ต้องมีระยะเวลาวีซ่าเหลือไม่น้อยกว่า 15 วัน หากเหลือน้อยกว่า 15 วัน จะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฉะนั้น ในขั้นตอนการแจ้งพ้นนั้น เราต้องเลือกวันที่แจ้งพ้นให้มี ระยะเวลาคงเหลือไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งการแจ้งพ้นนั้นเราสามารถทำได้ล่วงหน้า 15 วัน และระบบจะเพิ่มให้อีก 7 วัน (นับจากวันที่เลือกในระบบ)
แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิทธิเดิม ที่ได้รับ เช่น ยื่นคำร้องวันที่ 1/8/2557 โดยให้ช่างพ้นหน้าที่วันที่ 15/8/2557 ระบบก็จะให้อยู่ถึงวันที่ 21/8/2557 เป็นต้น
แต่ถ้าหากสิทธิเดิมอยู่ได้ถึง 18/8/2557 ระบบก็จะให้อยู่ถึงวันที่ 18/8/2557 เป็นต้น
|
คำเตือนในการยื่นคำร้อง
- การยื่นคำร้องขอหลายตำแหน่ง สามารถยื่นพร้อมกันได้หลายตำแหน่ง (ในบัตรเดียว) ไม่ควรแยกยื่นคำร้อง หากตรวจพบว่ามีการแยกยื่นคำร้อง เจ้าหน้าที่จะคืนคำร้องทันที
- การยื่นคำร้องจะต้องอ่านและใส่ใจรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนให้ดีทุกๆช่อง ทุกๆขั้นตอนของการยื่นคำร้อง หากข้อมูลไม่ตรงกับเอกสารหรือไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาคืนคำร้องได้ทันที
- เอกสารที่แนบห้ามตะแคงหรือกลับหัวเด็ดขาด
- ในการยื่นต่ออายุ หากช่างฝีมือมีการเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง ต้องกรอกและแนบหนังสือเดินทางเล่มใหม่ด้วยทุกคน
- ในการยื่นขอขยายระยะเวลาตำแหน่งข้อ 11.1 ให้ยื่นในช่วง 15-90 วันก่อนหมดอายุ แต่ทั้งนี้ไม่ควรยื่นตอนใกล้หมดหรือ 15 วันสุดท้าย เพราะหากคำร้องนั้นต้องมีการแก้ไข หรือคำร้องที่ยื่นไม่ผ่านการอนุมัติ (ถูกคืน) บริษัทจะไม่สามารถยื่นมาใหม่ได้อีก จึงควรยื่นขยายตำแหน่งก่อนหมดอายุอย่างน้อย 2 เดือน เพราะถ้าหากมีอะไรติดขัด หรือเอกสารไม่พร้อม ก็ยังพอมีเวลาไปดำเนินการจัดหาเอกสารมา และมายื่นใหม่ได้
|
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การขยายระยะเวลาตำแหน่ง
การขยายระยะเวลาตำแหน่งนั้น ให้ยื่นมาในช่วง 15-90 วันก่อนครบกำหนด ซึ่งหากเหลือระยะเวลาของตำแหน่งน้อยกว่า 15 วันนั้นจะไม่สามารถขยายเวลาตำแหน่งได้ ซึ่งหากบริษัทต้องการให้ช่างฯ คนเดิมอยู่ทำงานต่อนั้นมี 2 ทางเลือก คือ
- เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของช่างฯ และขอวีซ่า non-B เข้ามาใหม่ มายื่นขอบรรจุช่างฝีมือฯ ใช้สิทธิใหม่
- หากไม่ต้องการให้ช่างฯ เดินทางออกนอกประเทศนั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนด้านล่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น อย่าลืมยื่นขยายมาในช่วง 15-90 วัน ซึ่งแนะนำให้ยื่นในช่วง 45-60 วันก่อนครบกำหนด
|
การยื่นขอต่ออายุคนต่างด้าวและครอบครัว
การยื่นขอต่ออายุคนต่างด้าวและครอบครัว ให้ยื่นขอต่ออายุในคราวเดียวกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เลือกบัตรส่งเสริม
- เลือกคนต่างด้าวที่บริษัทต้องการต่ออายุ ณ ขณะนั้น และกด "ตกลง"
- คนต่างด้าวคนไหนที่มีครอบครัว ให้เลือกไอคอน "เครื่องหมายบวกสีเขียว" ทางขวามือ เพื่อเลือกต่ออายุครอบครัวคนต่างด้าว
|
การขอตำแหน่งต้องคำนึงถึงระดับตำแหน่งและคุณสมบัติของช่างฯ ดังนี้
- การบรรจุช่างฝีมือในระดับตำแหน่ง EXPATRIATE LEVEL มีเกณฑ์ ดังนี้
- ช่างฝีมือฯ จบการศึกษาตรง กับตำแหน่งที่บรรจุ ต้องมีประสบการณ์ทำงานเกิน 2 ปีในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่บรรจุ และอายุต้องเกิน 22 ปี
- ช่างฝีมือฯ จบการศึกษาไม่ตรง กับตำแหน่งที่บรรจุ ต้องมีประสบการณ์ทำงานเกิน 5 ปีในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่บรรจุ และอายุต้องเกิน 22 ปี
*** ข้อสังเกตุ เมื่อเลือกระดับ EXPATRIATE LEVEL แล้ว ขอให้ตรวจสอบข้อความด้านล่างว่าถูกต้องตรงกับประเภทกิจการของบริษัทหรือไม่
- การบรรจุช่างฝีมือในระดับตำแหน่ง MANAGEMENT LEVEL และ EXECUTIVE LEVEL มีเกณฑ์ ดังนี้
- ช่างฯ จบตรงหรือไม่ตรงกับตำแหน่งที่บรรจุ ต้องมีประสบการณ์ทำงานเกิน 5 ปีในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่บรรจุ และอายุต้องเกิน 27 ปี
|
การยื่นเรื่องขอขยายระยะเวลาตำแหน่ง
- ขอให้ตรวจสอบระยะเวลาการให้อยู่ถึงของตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง
- ดำเนินการยื่นเรื่องขอขยายระยะเวลาตำแหน่งในระบบ โดยให้ยื่นล่วงหน้า 15-90 วันก่อนระยะเวลาตำแหน่งหมดอายุ
- ทางบริษัทจะได้รับระยะเวลาวันที่เท่าเดิมและ + ไปอีก 1 หรือ 2 ปี ตามประเภทกิจการบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
- เมื่อได้รับอนุมัติการขยายระยะเวลาตำแหน่งแล้ว อย่าลืมยื่นข้อ 11.2 เพื่อขอต่ออายุช่างและครอบครัว
|
การขอระยะเวลาตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งอื่นๆ ที่ได้รับอนุมัติไป
หากบริษัทได้รับอนุมัติตำแหน่ง A ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2016 และต่อมาต้องการขออนุมัติตำแหน่ง B โดยต้องการให้มีเวลาสิ้นสุดพร้อมกับตำแหน่ง A
บริษัทสามารถยื่นสามารถใส่หมายเหตุเพิ่มเติมในช่องเหตุผลประกอบการพิจารณาว่า บริษัทต้องการขอตำแหน่ง B ให้มีระยะเวลาเท่ากับที่เหลืออยู่ของตำแหน่ง A เพื่อความสะดวกในการดำเนินการ
|
การขอตำแหน่งเพื่อปรับเปลี่ยน
กรณีช่างฝีมือบรรจุอยู่ในตำแหน่ง A ซึ่งมีระยะเวลาถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2016 และต่อมาบริษัทต้องการขอย้ายช่างฝีมือดังกล่าวไปบรรจุลงในตำแหน่ง B
ตำแหน่ง B จะต้องได้รับอนุมัติแล้ว และว่างอยู่ และมีระยะเวลาถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2016 เช่นเดียวกัน
หากยังไม่มีตำแหน่ง B บริษัทต้องยื่นขอตำแหน่งใหม่ พร้อมเลือก "ขอเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง" เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาทราบวัตถุประสงค์ในการขอตำแหน่งนั้น
|
เงื่อนไขการขอเปลี่ยนตำแหน่ง
- ต้องเป็นบัตรส่งเสริมฉบับเดียวกัน
- ตำแหน่งที่ช่างฝีมือบรรจุอยู่เดิม จะต้องมีระยะเวลาสิ้นสุดเท่ากับตำแหน่งใหม่ที่จะขอเปลี่ยน
- ต้องแนบหนังสือรับรองการทำงานล่าสุดเพิ่มเติม
- หน้าหนังสือเดินทางต้องมีข้อมูล
- หน้าแรก
- หน้าวีซ่า Non-B แรกเข้า
- หน้าวีซ่า Non-B ล่าสุด
- หน้าประทับตราขาเข้าล่าสุด
โดยสแกนให้อยู่ในไฟล์เดียวกัน
- หากมีการเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง ต้องติ๊กช่อง "หากมีการเปลี่ยนแปลงเล่มหนังสือเดินทาง" และกรอกรายะเอียดให้ตรงกับหนังสือเดินทางเล่มใหม่
- กรณีเลื่อนตำแหน่งช่างฝีมือฯ แต่ยังไม่ได้ขออนุมัติตำแหน่งใหม่
- ให้ยื่นขอตำแหน่งใหม่ โดยให้มีระยะเวลาสิ้นสุดเท่ากับตำแหน่งเดิม
- กรณีเลื่อนตำแหน่งช่างฝีมือฯ แต่ตำแหน่งที่ต้องการเลื่อน มีช่างฝีมือบรรจุอยู่
- ต้องแจ้งพ้นช่างฝีมือคนเดิม เพื่อให้ตำแหน่งว่างลงก่อน จึงจะยื่นขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้
กรณีช่างฝีมือบรรจุอยู่ในตำแหน่ง A ซึ่งมีระยะเวลาถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2016 และต่อมาบริษัทต้องการขอย้ายช่างฝีมือดังกล่าวไปบรรจุลงในตำแหน่ง B
ตำแหน่ง B จะต้องได้รับอนุมัติแล้ว และว่างอยู่ และมีระยะเวลาถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2016 เช่นเดียวกัน
หากยังไม่มีตำแหน่ง B บริษัทต้องยื่นขอตำแหน่งใหม่ พร้อมเลือก "ขอเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง" เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาทราบวัตถุประสงค์ในการขอตำแหน่งนั้น
|
รู้ไว้ใช่ว่า
หากบริษัทมีช่างฯคนใดที่มีประวัติเดิมเคยยื่นขอเพิ่มเติมลักษณะงานให้คนต่างด้าว (ในตำแหน่งที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามตามหนังสือรับรองบริษัทฯ) ไว้ หรือมีการขอให้คนต่างด้าวไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่บริษัทในเครือฯ เมื่อถึงตอนต่ออายุนั้น บริษัทจะต้องยื่นขอเพิ่มเติมลักษณะงานหรือปฏิบัติงานในเครือฯใหม่อีกครั้ง จะไม่มีการต่ออายุโดยอนุมัติ เช่น เมื่อคำร้องต่ออายุ 11.2 ได้รับอนุมัติ จะต้องยื่นคำร้องข้อ 3 ขอเพิ่มเติมลักษณะงาน (ในตำแหน่งที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามฯ) หรือ 10.1 ขอปฏิบัติงานในเครือฯ ต่อทันที มิเช่นนั้น ทางกรมการจัดหางานจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้
|
กรณีที่ช่างฝีมือฯ ใช้วีซ่าติดตามภรรยา/สามีไทย แต่ได้ทำเรื่องหย่ากันแล้ว หากต้องการบรรจุช่างฝีมือฯ ดังกล่าว จะต้องดำเนินการเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็น Non-B ให้เสร็จสิ้นก่อน
|
กรณีลืม USER NAME หรือ PASSWORD สำหรับระบบ e-Expert System
บริษัทจะต้องเตรียมเอกสารมายื่นใหม่ทั้งหมด ดังนี้
- ข้อตกลงการขออนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 25 และ 26 แห่ง พรบ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับระบบงานช่างฝีมือ (e-Expert System)
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการ บัตรพนักงานบริษัท และหนังสือรับรองการจดทะเบียน
|
คำถามน่ารู้
Q: การยื่นขอเปลี่ยนตำแหน่งจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
A:
- แนบประวัติการทำงานที่ได้รับการรับรองจากบริษัทที่ช่างฯ ทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
- สำเนาหนังสือเดินทาง
- สำเนาหนังสือเดินทางหน้าแรก
- สำเนาวีซ่า non-B แรกเข้า
- สำเนาวีซ่าภายใต้สิทธิบีโอไอล่าสุด
- สำเนาประทับตราขาเข้าล่าสุด
ให้อยู่ในไฟล์เดียวกัน
Q: การยื่นขอช่างชั่วคราว 30 วัน ต้องอธิบายเพิ่มเติมที่ใดบ้าง
A:
- ต้องอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวีซ่าของช่างฝีมือ และเหตุผลถึงความจำเป็นที่ทางบริษัทต้องขอบรรจุช่างชั่วคราวเร่งด่วน 30 วันให้ชัดเจน ในช่อง "เหตุผลประกอบการพิจารณา"
Q: การแนบเอกสารงบการเงิน ต้องเตรียมข้อมูลใดบ้าง
A:
- ต้องแนบ หน้ารายงานผู้ตรวจสอบ หน้าแสดงฐานะทางการเงิน และหน้ากำไรขาดทุน ให้อยู่ในไฟล์เดียวกัน
|
สาระน่ารู้
นิยามบริษัทในเครือว่าด้วยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เหมือนกัน
การยื่นคำร้อง 10.1 ขอให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่บริษัทในเครือ โดยที่ในส่วนของเหตุผลประกอบการพิจารณา บริษัทต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ในเครือข้อใดข้อหนึ่งใน 6 ข้อนั้น
นิยามในเครือข้อ 1 ที่ว่าด้วย
"(1) ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน เกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน เกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง"
เพื่อพิสูจน์ในเครือข้อ (1) ให้ดูที่บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ทั้งของบริษัทหลักที่ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการอยู่ประจำ และของบริษัทในเครือว่า มีผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน ถือหุ้นในทั้งสองบริษัทหรือไม่ หากมี จำนวนเกินร้อย 50 ของผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทหรือไม่ หากเกินร้อยละ 50 ก็เข้านิยามข้อ (1) นี้ทันที เช่น
บริษัทหลักที่ช่างประจำท่านนี้ ซึ่งจะไปปฏิบัติงานเพิ่มเติมที่บริษัทในเครือมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย A, B และ C
ขณะที่บริษัทในเครือ มีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย A, B, C, D และ E
จะเห็นว่า ผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน คือ A, B และ C
การพิสูจน์ความเป็นบริษัทในเครือในเหตุผลประกอบการพิจารณา เป็นดังนี้
"ทั้งสองบริษัทมีผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย A, B และ C โดยเป็นสัดส่วน 3 ใน 3 คือ 100% ที่บริษัทหลัก และ 3 ใน 5 คือ 60% ที่บริษัทในเครือ ซึ่งเกิน 50% ในทั้งสองบริษัท จึงเข้านิยามตามข้อ 1"
|
ตัวอย่างแผนและผลการถ่ายทอดเทคโนโลยี
|
การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าการลงทุนของคนต่างด้าว
|
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|