ตอบ :
การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 เป็นการคืนค่าภาษีอาหรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า ได้แก่ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย ที่ผู้นำของเข้าได้ชำระหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออก ก็จะได้รับการคืนอากร โดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตส่งออกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป ทั้งนี้ จะต้องขึ้นทะเบียนการขอใช้สิทธิ์ 19 ทวิ กับกรมศุลกากรก่อนการใช้สิทธิ์
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- ของที่นำเข้ามา ต้องนำมาผลิต หรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุ แล้วส่งออกไปต่างประเทศ หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปต่างประเทศ
- ของที่นำเข้ามา ต้องมิใช่ของที่กฎกระทรวงระบุห้ามคืนเงินอากร
- ปริมาณของที่นำเข้า ซึ่งใช้ในการผลิต หรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุเป็นของที่ส่งออก ให้ถือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นชอบ หรือประกาศกำหนดไว้
- ของนั้นต้องส่งออกไปทางท่า หรือที่สำหรับการส่งออก ซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า
- ของนั้นได้ส่งออกไปภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออกเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีกรมศุลกากรอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน
- ผู้นำของเข้าต้องขอคืนอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป แต่อธิบดีกรมศุลการกรจะขยายเวลาออกไป ตามที่เห็นสมควรได้
ของที่ได้คืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
- วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
- วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน
- วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
ของที่ไม่ได้รับคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
- เครื่องจักร เครื่องมือ แม่พิมพ์ (Mould) เครื่องใช้ในการผลิตชนิดต่างๆ
- เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต
ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 19 ทวิ กับ มาตรา 36 ของบีโอไอ คือ มาตรา 19 ทวิ จะต้องชำระอากรขาเข้าวัตถุดิบไปก่อน จะขอคืนอากรเมื่อได้ส่งออกวัตถุดิบนั้นไปแล้ว โดยไม่ได้คำนึงถึงเครื่องจักร ขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะผลิตเอง หรือจ้างคนอื่นผลิต เป็นโครงการที่ทำอยู่เดิมหรือโครงการใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีการส่งออกวัตถุดิบนั้นไปต่างประเทศ ก่อนการส่งสินค้าออกจะต้องมีการยื่นสูตรการผลิตต่อกรมศุลกากร หรือหากเคยมีการยื่นสูตรไว้แล้ว ก็ให้อ้างสูตรนั้นๆ ทุกครั้งที่มีการส่งออก
ส่วนมาตรา 36 ของบีโอไอจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ เป็นโครงการใหม่ มีเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการตามที่ระบุ มีกระบวนการผลิตตามที่ได้รับอนุมัติ โดยจะต้องยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตและปริมาณสต๊อกสูงสุดด้วย
มาตรา 36 ของบีโอไอ จะมีข้อได้เปรียบมาตรา 19 ทวิ ตรงที่ไม่ต้องชำระอากรขาเข้าไปก่อน แล้วขอคืนเมื่อส่งออก ซึ่งจะทำให้ต้องมีเงินสำรองไว้สำหรับการนี้โดยเฉพาะ หรืออาจต้องกู้เงินมาเพื่อชำระอากรขาเข้า ซึ่งจะมีภาระดอกเบี้ย รวมทั้งกรณีที่เป็นวัสดุจำเป็นและส่วนสูญเสียในการผลิตก็ไม่สามารถขอคืนอากรขาเข้าได้
นอกจากนั้น มาตรา 36 สามารถค้ำประกันและถอนค้ำประกันภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนมาตรา 19 ทวิ จะต้องชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
มาตรา 36 ของบีโอไอ อาจจะมีข้อเสียเปรียบมาตรา 19 ทวิ บ้าง เช่น จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด มีความละเอียดซับซ้อนพอสมควร บริษัทควรมีบุคลากรที่ดูแลงานด้านนี้โดยตรง เนื่องจากหากมีการปฏิบัติผิดพลาดแล้ว จะทำให้มีภาระภาษีย้อนหลัง