Home | สาระน่ารู้

กรุณาตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

รวบรวมคำถามเกี่ยวกับส่วนสูญเสีย


Q : หลังจากทำลายส่วนสูญเสียแล้ว จะขอส่งออกไปต่างประเทศได้หรือไม่?
A : ได้ การส่งส่วนสูญเสียไปต่างประเทศ จะทำลายส่วนสูญเสียนั้นก่อนหรือไม่ทำลายก็ได้


Q : กรณีที่ส่วนสูญเสียนอกสูตร ประกอบด้วยวัตถุดิบที่ซื้อภายในประเทศและนำเข้าผสมกันอยู่ จะต้องชำระภาษีอากรอย่างไร?
A : BOI จะแจ้งให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีเฉพาะวัตถุดิบที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิตามมาตรา 36 เท่านั้น บริษัทจึงควรแจ้งให้ BOI ดำเนินการเฉพาะส่วนที่ต้องมีภาระภาษีเท่านั้น


Q : วัตถุดิบที่นำเข้ามาโดยมาตรา 36(1) เพื่อทดลองผลิต หากไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ จะขอตัดบัญชีเป็นส่วนสูญเสียได้หรือไม่?
A : ได้ โดยต้องผ่านขั้นตอนตามประกาศสำหรับส่วนสูญเสียนอกสูตร (เช่น ต้องผ่านการทำลายก่อน เป็นต้น)


Q : เมื่อได้รับหนังสือจาก BOI ให้ไปชำระภาษีอากรที่กรมศุลกากรแล้ว จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในกี่วัน?
A : ประมาณ 15 วัน (จากการสอบถามจากฝ่ายเอกสิทธิฯ ทางวาจา)


Q : ภาระภาษีตามสภาพเศษซาก มีวิธีการคำนวณอย่างไร?
A : หากบริษัทต้องการชำระภาษีเศษเหล็ก 10 กก. ราคาประเมิน กก. ละ 10 บาท อากรขาเข้าเศษเหล็ก 1% (ตัวเลขสมมุติ) ก็ต้องชำระภาษีอากร ดังนี้

-อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราอากร = 10 กก. x 10 บาท x 1% = 1 บาท
-ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า+อากรขาเข้า) x 7% = (100+1) x 7% = 7.07 บาท


Q : การขอทำลายส่วนสูญเสียในสูตรและนอกสูตร สามารถยื่นเรื่องพร้อมกันได้หรือไม่?
A : ส่วนสูญเสียในสูตรไม่ต้องขออนุมัติทำลาย เนื่องจากจะตัดบัญชีพร้อมกับสินค้าที่ส่งออกแล้ว จึงต้องยื่นขอทำลายเฉพาะส่วนสูญเสียนอกสูตรเท่านั้น


Q : การจัดเก็บส่วนสูญเสียควรดำเนินการอย่างไร?
A : ควรแยกเก็บตามประเภทส่วนสูญเสียนอกสูตร/ในสูตร และแยกเก็บตามชนิดของวัตถุดิบนั้นๆ มิฉะนั้น อาจไม่สามารถตรวจสอบได้


Q : การส่งส่วนสูญเสียที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ไปจำหน่ายต่างประเทศ ต้องชำระภาษีตามสภาพเศษซากหรือไม่?
A : ไม่ต้อง การชำระภาษีตามสภาพเศษซาก จะต้องชำระเฉพาะกรณีที่จำหน่ายจ่ายโอนในประเทศเท่านั้น


Q : หากวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศด้อยคุณภาพ ไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้ จะขอชำระภาษีตามสภาพเศษซากเพื่อจำหน่ายในประเทศได้หรือไม่?
A : ไม่ได้ เนื่องจากไม่ถือเป็นเศษซาก ดังนั้น หากจะจำหน่ายในประเทศจะต้องชำระภาษีอากรตามสภาพ ณ วันนำเข้า เว้นแต่ จะขออนุญาตทำลายวัตถุดิบด้อยคุณภาพนั้นก่อน จึงจะสามารถเสียภาษีตามสภาพเศษซากได้


Q : บริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อจะผลิตส่งออกทั้งหมด แต่ต่อมานำไปผลิตจำหน่ายในประเทศบางส่วน จะต้องดำเนินการอย่างไร?
A : จะต้องชำระภาษีอากรก่อนการจำหน่ายในประเทศ โดยมี 2 วิธี คือ

1)ชำระภาษีอากรย้อนหลังสำหรับวัตถุดิบที่นำไปผลิตจำหน่ายในประเทศ ประกอบด้วย
-อากรขาเข้าวัตถุดิบตามสภาพ ณ วันนำเข้า
-เงินเพิ่มอากร 1% ต่อเดือน
-VAT
-เบี้ยปรับ VAT 1 เท่า
-เงินเพิ่ม VAT 1.5% ต่อเดือน
2)ชำระภาษีตามสภาพสินค้าสำเร็จรูปที่จำหน่าย (ชำระภาษีปากระวาง)

      ดังนั้น หากบริษัททราบล่วงหน้าว่าจะมีการผลิตจำหน่ายในประเทศ จึงควรชำระภาษีอากรวัตถุดิบในขั้นตอนนำเข้า จะประหยัดภาษีได้มากกว่า


Q : เหตุใดวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาตามมาตรา 36 จึงต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม?
A : เป็นไปตามประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ที่จะอนุญาตให้ผู้ได้รับส่งเสริมได้รับค้ำประกันและถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่เป็นวัตถุดิบที่นำเข้าตามมาตรา 36 เท่านั้น


Q : บริษัทได้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมานำส่วนสูญเสียไปทำลาย แต่หลังจากนั้นผู้รับเหมาได้นำเศษซากที่ทำลายนั้นไปขายต่อ ซึ่งบริษัทไม่สามารถตามไปตรวจสอบได้ จะถือว่าบริษัทยังมีภาระภาษีเศษซากนั้นอีกหรือไม่?
A : ตามประกาศสำนักงานที่ ป.5/2543 ส่วนสูญเสียที่ทำลายเป็นเศษซากแล้วนั้น หากยังมีการจำหน่าย/ซื้อขายได้อีก ก็ยังถือว่ามีมูลค่าเชิงพาณิชย์ และผู้ได้รับส่งเสริมต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีอากรในส่วนนี้ จึงควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของ BOI เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไป


Q : หากปริมาณวัตถุดิบตามใบขนไม่ตรงกับปริมาณที่ได้รับอนุมัติสั่งปล่อย จะต้องดำเนินการอย่างไร?
A : แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1)ยังไม่ผ่านพิธีการขาเข้า
-สามารถขอแก้ไขปริมาณอนุมัติสั่งปล่อยใหม่ได้
2)ผ่านพิธีการขาเข้าแล้ว
-หากปริมาณในใบขนมากกว่าปริมาณอนุมัติสั่งปล่อย
       ถ้ากรมศุลกากรตรวจพบแล้วและอยู่ในขั้นตอนเรียกเก็บภาษี จะไม่ให้แก้ไข โดยบริษัทต้องชำระอากร+เบี้ยปรับไปก่อน แล้วจึงขอสั่งปล่อยคืนอากรในภายหลัง
       แต่หากบริษัทตรวจพบเองก่อน สามารถยื่นขอสั่งปล่อยเพิ่มเติม และยื่นเรื่องขอแก้ไขใบขนได้ตามเงื่อนไขของกรมศุลกากร
-หากปริมาณในใบขนน้อยกว่าปริมาณอนุมัติสั่งปล่อย
       สามารถขอแก้ไขปริมาณอนุมัติสั่งปล่อยให้ถูกต้องตามใบขนได้


Q : หากบริษัทตรวจนับวัตถุดิบที่โรงงานแล้วพบว่ามีปริมาณไม่ตรงกับที่อนุมัติสั่งปล่อย จะต้องดำเนินการอย่างไร?
A : BOI จะยึดถือตัวเลขตามใบขนขาเข้าที่ผ่านพิธีการแล้ว ดังนั้น

-หากวัตถุดิบเข้ามามากกว่าใบขน (และหนังสืออนุมัติสั่งปล่อย)
      ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว บริษัทจะต้องยื่นขอชำระภาษีเพิ่มเติมในส่วนนี้ แล้วจึงขอสั่งปล่อยคืนอากรในภายหลัง
-หากวัตถุดิบเข้ามาน้อยกว่าใบขน (และหนังสืออนุมัติสั่งปล่อย)
      ไม่สามารถแก้ไขปริมาณอนุมัติสั่งปล่อยได้ ดังนั้น บริษัทจะขาดทุนทางบัญชีสั่งปล่อย และหากไม่สามารถตัดบัญชีในส่วนนี้ได้ ก็จะต้องชำระภาระภาษีในส่วนนี้ด้วย


Q : บริษัทจำหน่ายส่วนสูญเสียนอกสูตรไปแล้วโดยไม่ได้นำมาตัดบัญชี จะมีปัญหาหรือไม่?
A : มีปัญหา 2 เรื่อง คือ

1)หากกรมศุลกากรตรวจพบ ถือว่าเป็นการนำวัตถุดิบที่นำเข้ามาโดยได้รับสิทธิตามมาตรา 36 ไปจำหน่ายในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกดำเนินการเรียกเก็บภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า+เบี้ยปรับ
2)หาก BOI ไม่สามารถตรวจสอบพิสูจน์ชนิดและปริมาณได้ บริษัทจะไม่สามารถนำส่วนสูญเสียที่จำหน่ายไปแล้วมาตัดบัญชีได้ และจะเป็นวัตถุดิบค้างคงเหลือในบัญชี ซึ่งเมื่อบริษัทเลิกกิจการ ก็จะมีภาระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า


Q : บริษัทต้องการทำลายสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วแต่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องดำเนินการอย่างไร?
A : จะต้องดำเนินการ ดังนี้

1)แจ้ง BOI เพื่อขออนุญาตทำลายส่วนสูญเสียตามประกาศสำนักงาน ที่ ป.5/2543
2)แจ้งกรมสรรพากรเพื่อลดมูลค่าสินค้าในระบบบัญชีของบริษัท


Q : ส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการออกแบบทางวิศวกรรม ถือเป็นส่วนสูญเสียประเภทใด?
A : เป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต


Q : ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ไม่ได้ส่งออก เนื่องจากมีการยกเลิกคำสั่งซื้อ ถือเป็นส่วนสูญเสียประเภทใด?
A : เป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต


Q : บริษัทจำหน่ายส่วนสูญเสียที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ไปแล้วโดยไม่ได้ชำระภาษี จะขอเสียภาษีย้อนหลังได้หรือไม่?
A : จะต้องดำเนินการชำระภาษีย้อนหลังให้ครบถ้วน/ถูกต้อง ก่อนที่กรมศุลกากรจะตรวจพบ เพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้หลบเลี่ยงการชำระภาษีอากร


Q : บริษัท A (BOI) นำเข้าวัตถุดิบและผลิตชิ้นส่วนจำหน่ายให้ B (19 ทวิ) เพื่อผลิตส่งออก และมีส่วนสูญเสียที่เป็นชิ้นส่วนของ A เกิดขึ้น ในกรณีเช่นนี้ A และ B จำต้องดำเนินการอย่างไร?
A : สามารถดำเนินการ ดังนี้

1)B จะต้องระบุการโอนสิทธิการใช้วัตถุดิบจาก A ไว้ในใบขนขาออก เพื่อ A จะได้นำมาตัดบัญชีวัตถุดิบได้
2)แต่เนื่องจากการโอนสิทธินี้จะต้องระบุเฉพาะปริมาณวัตถุดิบที่ติดไปกับสินค้าส่งออกเท่านั้น ดังนั้น B จึงต้องส่งส่วนสูญเสียคืนให้กับ A เพื่อ A จะได้นำไปตัดบัญชีส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ด้วย


Q : ส่วนสูญเสียนอกสูตรที่ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องขออนุญาตทำลายด้วยหรือไม่?
A : การขอทำลายส่วนสูญเสียนอกสูตรเพื่อตัดยอดวัตถุดิบ จะใช้ทั้งกรณีที่ส่วนสูญเสียนั้นมีมูลค่า/ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์


Q : บริษัทนำแผ่นเหล็กมาปั๊มขึ้นรูปเป็นชิ้นงานแล้ว แต่เก็บไว้จนขึ้นสนิม จึงไม่สามารถจำหน่ายได้ ควรขออนุญาตทำลายหรือไม่?
A : วัตถุดิบหรือชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้ว หากไม่สามารถจำหน่ายได้ จะถือเป็น "ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต" แต่หากบริษัทจำหน่ายไปในสภาพส่วนสูญเสียนั้นๆ BOI จะถือว่าเป็นการจำหน่าย "วัตถุดิบ" ซึ่งมีภาระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า
       ดังนั้น จึงควรขอทำลาย "ส่วนสูญเสีย" ให้เป็น "เศษซาก" ก่อน ซึ่งเมื่อจำหน่ายก็จะมีภาระตามสภาพเศษซากเฉพาะกรณีที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์เท่านั้น


Q : บริษัทนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแต่ไม่ได้คุณภาพ จึงต้องส่งคืนให้กับผู้ผลิต จะต้องดำเนินการอย่างไร?
A : ให้ยื่นเรื่องขอส่งส่วนสูญเสียคืนต่างประเทศ แล้วจึงส่งออก และนำใบขนขาออกมาปรับยอดวัตถุดิบในสต๊อค


Q : บริษัท A สามารถส่งส่วนสูญเสียให้ผู้รับซื้อเศษ B เป็นผู้ส่งออกได้หรือไม่?
A : ได้ แต่หากส่งออกในนามของบริษัท B จะต้องไม่เป็นใบขนแบบชดเชยภาษี เพราะจะถือว่าเป็นการซื้อขาย Scrap ในประเทศก่อนการส่งออก ซึ่งจะเกิดภาระภาษี


Q : ส่วนสูญเสียที่เกิดจากวัตถุดิบตามมาตรา 30 และมาตรา 36 มีข้อแตกต่างในการทำลายและตัดบัญชีอย่างไร?
A : ส่วนสูญเสียตามมาตรา 30

-กรณีที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการผลิต
ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำลาย แต่ก่อนนำมาตัดบัญชีจะต้องดำเนินการดังนี้
-ชำระอากรขาเข้าในส่วนที่ได้รับลดหย่อน และเงินเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือนนับจากวันนำเข้า หรือ
-ส่งออกไปต่างประเทศ หรือ
-บริจาคให้กับหน่วยงานราชการฯ
-กรณีผ่านขั้นตอนการผลิตแล้ว
-ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำลาย และสามารถขอตัดบัญชีได้โดยไม่ต้องชำระภาษีตามสภาพเศษซาก แม้ว่าจะมีมูลค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม
     ส่วนสูญเสียตามมาตรา 36
-ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต
-จะตัดบัญชีส่วนสูญเสียให้พร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
-ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำลาย
-กรณีจะจำหน่ายส่วนสูญเสียในประเทศ หากส่วนสูญเสียนั้นมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีตามสภาพเศษซากก่อน
-ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต
-จะต้องเก็บส่วนสูญเสียไว้รอการตรวจสอบชนิดและปริมาณก่อน
-ก่อนการตัดบัญชี จะต้องดำเนินการดังนี้
-ทำลายให้อยู่ในสภาพเศษซาก หรือ
-ส่งออกไปต่างประเทศ หรือ
-บริจาคให้กับหน่วยงานราชการฯ
-หากเศษซากนั้นมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีตามสภาพก่อน จึงจะจำหน่ายในประเทศ


Q : การขอบริจาคส่วนสูญเสีย หรือขอส่งออกไปต่างประเทศ จะต้องมีการตรวจสอบที่โรงงานด้วยหรือไม่?
A : โดยปกติจะพิจารณาจากเอกสาร เว้นแต่ส่วนสูญเสียนั้นอยู่ในสภาพชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งต้องตรวจสอบชนิดและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย


Q : บริษัทมีส่วนสูญเสียในสูตร (เศษเหล็ก) เกิดขึ้นทุกวัน วันละมากๆ ไม่สามารถจัดเก็บไว้ได้ จึงต้องจำหน่ายไปเป็นระยะๆ และชำระภาษีอากรตามสภาพเศษเหล็กย้อนหลังเป็นงวดๆ จะถือว่ามีความผิดหรือไม่?
A : หากตีความอย่างเคร่งครัด อาจผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการนำส่วนสูญเสียที่มีภาระภาษีตามสภาพไปจำหน่ายก่อนการชำระภาษี
แต่หากพิจารณาจากเจตนา จะเห็นว่าบริษัทไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากมีการชำระภาษีอย่างครบถ้วนเป็นงวดๆ จึงควรเก็บหลักฐานใบเสร็จการชำระภาษีให้ครบถ้วน และอาจปรึกษากับกรมศุลกากรเพื่อขอทำข้อตกลงเป็นกรณีๆ ไป
หรือบริษัทอาจขออนุญาตจาก BOI เพื่อนำส่วนสูญเสียไปเก็บนอกโรงงานก็ได้


Q : บริษัท A ได้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมานำส่วนสูญเสีย (ซึ่งเข้าใจว่าไม่มีมูลค่า) ไปทิ้งหรือทำลาย แต่ต่อมาผู้รับเหมานำส่วนสูญเสียนี้ไปจำหน่ายให้กับผู้อื่น บริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยหรือไม่?
A : หากผู้รับเหมาสามารถนำส่วนสูญเสียนั้นไปจำหน่ายต่อได้ แสดงว่าส่วนสูญเสียนั้นมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จึงถือว่าบริษัท A หลีกเลี่ยงการชำระภาษีตามสภาพเศษซาก และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้


Q : บริษัทสามารถจำหน่ายส่วนสูญเสีย แล้วนำเงินที่ได้มาบริจาคให้กับหน่วยงานราชการฯ แทนการบริจาคส่วนสูญเสียให้กับหน่วยงานราชการได้หรือไม่?
A : ไม่ได้ จะต้องเป็นการบริจาคส่วนสูญเสียให้กับหน่วยงานราชการฯ เท่านั้น จึงจะสามารถตัดบัญชีวัตถุดิบได้ ไม่สามารถดำเนินการในวิธีกลับกัน


Q : บริษัทนำผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปจำหน่ายกลับเข้ามาซ่อมแซมจำนวน 100 ชิ้น แต่ซ่อมและส่งกลับออกไปได้เพียง 95 ชิ้น ส่วนที่เหลือ 5 ชิ้น ซ่อมไม่ได้ จะสามารถขอตัดบัญชีเป็นส่วนสูญเสียได้หรือไม่?
A : ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาซ่อม ใช้สิทธินำเข้าตามมาตรา 36(1) จึงถือเป็นวัตถุดิบของโครงการที่ได้รับส่งเสริม ดังนั้น เมื่อซ่อมแล้วไม่สามารถส่งออกได้ ก็ถือเป็นส่วนสูญเสียตามโครงการ ซึ่งสามารถขอทำลายและตัดบัญชีได้เช่นเดียวกับวัตถุดิบอื่นๆ


Q : การชำระภาษีอากรตามสภาพเศษซาก จะต้องให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากรของกรมศุลกากรตรวจสอบทุกครั้งด้วยหรือไม่?
A : โดยทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ประเมินอากรมีสิทธิหน้าที่ในการตรวจสอบทุกครั้ง บริษัทจึงจะต้องเก็บเศษซากไว้ก่อนหากมีการร้องขอ แต่ BOI และกรมศุลกากรเคยมีข้อตกลงว่า โดยปกติจะทำการตรวจสอบเฉพาะในครั้งแรกๆ เท่านั้น ส่วนในครั้งต่อๆ ไป (ในกรณีที่เหมือนเดิม) อนุโลมให้ใช้หลักฐานอื่น เช่น ภาพถ่าย ประกอบการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเศษซากได้


Q : ส่วนสูญเสียนอกสูตรที่ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องทำลายให้เป็นเศษซากก่อนการตัดบัญชีหรือไม่?
A : ส่วนสูญเสียนอกสูตร (มาตรา 36) ต้องทำลายเป็นเศษซากทุกกรณี ไม่ว่าจะมีมูลค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม จึงจะอนุญาตให้ตัดบัญชีได้


กรุณาตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์


views 14,936
Total pageviews 4,011,911 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.