ZATH โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565, 15:56:40 (130 สัปดาห์ ก่อน)
Top

มีการกำหนดไหมคะว่า พลังงานที่ได้จาก โซลาร์ต้องคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร หรือลงทุนเท่าไร (กิจการหมดอายุภาษีเงินได้ และยื่นปรับปรงฯ)

ZATH โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565, 15:58:38 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพนี้จะหมดภายในปีนี้ จะมีต่อไปหน้าไหมคะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565, 11:50:32 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

ไม่สามารถยืนยันว่าจะมีการขยายเวลามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพหรือไม่

แต่ตามความเห็นส่วนตัว คิดว่าน่าจะมีการขยาย

เนื่องจากเป็นมาตรการที่ช่วยยกระดับในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ

และได้ขยายต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2557 ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565, 16:36:56 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

รบกวนตอบคำถามนี้ด้วยค่ะ

มีการกำหนดไหมคะว่า พลังงานที่ได้จาก โซลาร์ต้องคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร หรือลงทุนเท่าไร (กิจการหมดอายุภาษีเงินได้ และยื่นปรับปรงฯ)

ZATH โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565, 18:19:27 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

รบกวนสอบถามอีกคำถามค่ะ เหตุผลอะไรที่บีโอไอไม่ให้สิทธประโยชน์ตัวนี้ (ยกเว้นภาษีเงินได้ 50% 3 ปี) กับโครงการที่ยังมีสิทธิภาษีเงินได้อยู่เหรอคะ เพราะอย่างของบริษัทคือ ยกเว้นภาษีแปดปี และยกเว้นครึ่งนึงอีกห้าปี กินระยะเวลานานมาก แต่กลบไม่ได้มาตราการสนับสนุนในการใช้พลังงานสะอาด

รบกวนสอบถามอีกคำถามค่ะ เหตุผลอะไรที่บีโอไอไม่ให้สิทธประโยชน์ตัวนี้ (ยกเว้นภาษีเงินได้ 50% 3 ปี) กับโครงการที่ยังมีสิทธิภาษีเงินได้อยู่เหรอคะ เพราะอย่างของบริษัทคือ ยกเว้นภาษีแปดปี และยกเว้นครึ่งนึงอีกห้าปี กินระยะเวลานานมาก แต่กลบไม่ได้มาตราการสนับสนุนในการใช้พลังงานสะอาด

แก้ไขโดย ZATH เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565, 18:19:27
ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565, 14:34:54 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ

1. การลงทุนด้านการประหยัดพลังงาน จะหมายถึง การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเดิมไปสู่เทคโนโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดการใช้พลังงานลงจากเดิม

 - เงื่อนไขตัวชี้วัด คือ มูลค่าของพลังงานที่ประหยัดได้ของโครงการ ต้องไม่น้อยกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษี (โดยวงเงินยกเว้นภาษีจะให้เท่ากับ 50% ของมูลค่าเครื่องจักรที่ได้ลงทุนปรับเปลี่ยน

2. การลงทุนด้านการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ จะหมายถึง การเปลี่ยนแปลงพลังงานที่จะนำมาใช้ในโครงการ เช่น เปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม เป็นต้น

- ไม่มีเงื่อนไขตัวชี้วัดเป็นตัวเลขที่ต้องปฏิบัติให้ได้ เนื่องจากในบางกรณีหรือในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การใช้พลังงานทดแทนอาจมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานที่ใช้อยู่เดิม

- แต่จะพิจารณาว่าพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้ มีความเหมาะสมหรือไม่


การลงทุนติดตั้งแผง Solar เข้าข่ายข้อ 2 คือ การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ ครับ

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565, 15:48:08 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#6 Top

ตอบคำถาม #4

กรณีที่บริษัทจะลงทุนติดตั้งแผง Solar

1. หากโครงการที่ได้รับส่งเสริม ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้ และยังไม่ครบกำหนดเปิดดำเนินการ

- ให้ยื่นขอแก้ไขกรรมวิธีผลิต โดยให้ระบุว่าจะมีการลงทุนติดตั้งแผง Solar เพื่อใช้พลังงานทดแทนในโครงการด้วย

- เมื่อได้รับอนุมัติ จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าแผง Solar (กรณีไม่ผลิตหรือประกอบในประเทศ) และจะได้รับแก้ไขวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้นตามมูลค่าการลงทุนในส่วนของแผง Solar (ซึ่งจะมากกว่าข้อ 2 ที่กำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเพียง 50% ของมูลค่าการลงทุนแผง Solar)

2. หากโครงการที่ได้รับส่งเสริม สิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้ และได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว

- สามารถนำโครงการนี้มายื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงฯ
- จะได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 18 และยกเว้นภาษีเงินได้เป็นวงเงิน 50% ของมูลค่าการลงทุนในส่วนของแผง Solar

3. หากโครงการที่ได้รับส่งเสริม ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว แต่ยังไม่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้

- ไม่สามารถยื่นแก้ไขโครงการตามข้อ 1 เนื่องจาก BOI ไม่อนุญาตให้แก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่ม หลังเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว

- และไม่สามารถยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงตามข้อ 2 เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้

- จึงเป็นช่องโหว่ที่ยังไม่มีวิธีช่วยเหลือให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนที่เข้าข่ายข้อ 3 นี้ ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565, 18:50:48 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#7 Top

รบกวนสอบถามเพิ่มเติม พอดีได้รับข้อมูลมาจากบริษัทที่รับติดตั้งโซลาร์เซลล์ แปะมาไว้ให้ด้านล่างไฮไลท์สีเหลืองนะคะ คือไม่เข้าใจตรงในประเด็นต่างๆดังนี้ค่ะ

๐ ข้อแรกที่บอกว่าการใช้สิทธิยกเว้นนำเข้าเครื่องจักรจะต้องเป็นบริษัทเราที่นำเข้ามาเอง ทางบริษัทที่รับติดตั้งบอกว่าทางเขาจะนำเขามาเอง ไม่สามารถให้เราเป็นผู้นำเข้าเองได้ (แต่ส่งข้อมูลด้านล่างนี้มาให้เรา ???)

๐ และระบบบัญชีต้องแยกว่านำมาผลิตสินค้าลอคใด อย่างไร เมื่อใด เท่าไร รบกวนช่วยอธิบายหน่อยค่ะ 

๐ Serial No. ของอุปกรณ์จะต้องถูกต้องตรง กับที่จะนำมาติดตั้งจริง มิฉะนั้น จะนำออกจากท่าเรือ ไม่ได้

 

3.สิทธิประโยชน์ ที่ได้รับสำหรับผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์ แบ่งเป็น 2 อย่าง 
     3.1 ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งก็จะได้การยกเว้นภาษีนำเข้า 10% และยกเว้น VAT อีก 7%  
           ซึ่งในข้อนี้ เจ้าของโรงงานที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ (Owner) จะต้องเป็นผู้สั่งซื้อแผงโซล่าเซลล์ และหรืออินเวอร์เตอร์ มาเองจากบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ
         ชื่อผู้สั่งซื้อจะต้องเป็นชื่อของ Owner เท่านั้น และ Serial No. ของอุปกรณ์จะต้องถูกต้องตรง กับที่จะนำมาติดตั้งจริง มิฉะนั้น จะนำออกจากท่าเรือ ไม่ได้
           ***และสำคัญอีกเช่นกัน คือระบบบัญชี ของ Owner จะต้องแยกอย่างชัดเจนว่า เครื่องจักรที่นำเข้ามาใช้ติดตั้ง (ในที่นี้ก็คือ แผงโซล่าเซลล์ และอินเวอร์เตอร์) นำมาผลิตสินค้าล็อตใด อย่างไร เท่าไหร่ เมื่อใด เป็นต้น (หลังจากได้บัตรส่งเสริม ในข้อนี้แล้ว หาก Owner ทำบัญชีแบบ ไม่ได้แยกชัดเจนในกระบวนการผลิต หรือมีหลายบัญชี ก็จะม่ีความยุ่งยากพอสมควร พนักงานบัญชี จะต้องปวดหัวเป็นแน่แท้ ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่า จะคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร แต่ละท่านก็ต้องพิจารณา กันดูครับ)
    3.2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง 
           ***กรณี ใช้บัตรส่งเสริมในข้อนี้ ระบบกระบวนการผลิต หรือระบบบัญชี ก็ไม่ต้องแยกให้ยุ่งยาก เพราะถือว่าใช้ใน มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม คือลดค่าไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโรงงาน
 
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565, 12:22:51 (130 สัปดาห์ ก่อน)
#8 Top

ตอบคำถามดังนี้ครับ

1. ในการจะใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ผู้นำเข้าจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับส่งเสริม ที่ได้รับสิทธิ เท่านั้น
(แต่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่น เป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรแทนได้ ตามระเบียบของกรมศุลกากร)

- หากบริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์ มีสถานะเป็นผู้นำเข้า จากนั้นจำหน่ายพร้อมติดตั้งให้กับผู้ได้รับส่งเสริม จะไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรได้

- ความหมายของบริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์ เข้าใจว่าน่าจะหมายความในประเด็นนี้

2. กรณีติดตั้งแผงโซลาร์ ปกติจะตรวจสอบเพียงว่า ได้นำพลังงานจากแผงโซลาร์ไปใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมปรับปรุงประสิทธิเท่านั้น

เช่น หากบริษัทได้รับส่งเสริมหลายโครงการ (บัตร 1, บัตร 2, บัตร 3) อยู่ในสถานประกอบการเดียวกัน แต่ยื่นขอส่งเสริมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเฉพาะบัตร 1

จะต้องดำเนินการให้สามารถตรวจสอบได้ว่า การลงทุนแผงโซลาร์ เป็นการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในบัตร 1 เท่านั้น

- ความหมายของบริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์ อาจจะหมายความในประเด็นนี้หรือไม่

3. การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่เป็นเครื่องจักรที่ผลิตหรือประกอบได้ในประเทศ ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกับชนิดที่ผลิตในต่างประเทศ และมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้ 

- การระบุ serial หรือ spec เป็นวิธีการหนึ่งที่จะยืนยันว่า เครื่องจักรที่จะขอนำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากร ไม่เป็นชนิดที่มีผลิตหรือประกอบในประเทศ ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

- ดังนั้น หากบริษัทยื่นขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรโดยระบุ serial / spec ก็จะต้องระบุ serial / spec ของสินค้านำเข้า ให้ตรงกับที่ได้รับอนุมัติ มิฉะนั้น จะขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรไม่ได้ ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565, 17:58:44 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#9 Top

วันนี้มี 2 คำถามหลักค่ะ เรามีแผนจะขยายกำลังการผลิตจากผลิตภัฑ์เดิม (4 แสนขิ้น) ที่เคยได้รับสิทธิยกเ้วนภาษเงินได้ 8 ปี (และครึ่งนึงอีก 5 ปี) ขณะนี้หมด 8 ปีไปแล้ว โดยจะขยายออกไปอีกประมาณ 3 เท่า (รวม 1.2 ล้านชิ้น) จึงต้องการจะขอโครงการใหม่

 

แต่ด้วยนโยบายใหม่ทำให้เราเป็น กลุ่ม บี คือไม่ได้สิทธิภาษีเงินได้ คำถามคือ เราสามารถจะได้รับสิทธิภาษีเงินได้ ได้อย่างไรบ้าง

1. เท่าที่ทราบ Automation แพงเกินไปที่จะลงทุน

2. โซล่าร์ ใช้สิทธิได้เฉพาะโตรงการที่หมดระยะเวลาภาษีไปแล้ว

3. อื่นๆ รบกวนแนะนำค่ะ

4. ด้วยขนาดการลงทุนเพิ่มขึ้น 3 เท่า บีโอไอมีมาตรากรส่งเสริมอะไรเพิ่มเติมเพื่อจูงใจในการลงทุนเพิ่มไหมคะ (พอดีต้องเขียน proposal ไปทาง บ.แม่น่ะค่ะ)

 

  อีกคำถามคือ หากเราขอโครงการใหม่ดังกล่าว แล้วค่อยไปทำเรืองขอปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อใช้โซลาร์เซลและได้รับสิทธิภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนโซลาร์เซลไหมคะ สามารถทำได้เลยหรือไม่ หรือมีข้อแม้ว่าต้องทำเมื่อใดหลังจากได้รับการส่งเสริม

 

ขอบคุณมากๆค่ะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 15:15:58 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#10 Top

1. ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน จะไม่อนุญาตให้นำโครงการที่ลงทุนอยู่เดิม (ไม่ว่าจะได้รับส่งเสริม/หรือไม่ได้รับส่งเสริม) มายื่นขอรับส่งเสริมได้อีก

2. แต่ในบางช่วงเวลา BOI อาจอนุญาตให้นำโครงการเดิม มายื่นขอรับการส่งเสริมได้
หากมีการลงทุนตามมาตรการเป้าหมาย เช่น การประหยัดพลังงาน / การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม / การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต / การนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในองค์กร เป็นต้น
โดยจะให้สิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักรและภาษีเงินได้เป็นสัดส่วนเฉพาะเท่าที่ลงทุนเพิ่มเติมตามมาตรการเป้าหมายนั้นๆ เท่านั้น

 


3. กิจการกลุ่ม B คือกลุ่มที่ไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน

แต่ในบางช่วงเวลา BOI อาจกำหนดให้กิจการกลุ่ม B (เฉพาะกรณีเป็นการลงทุนใหม่) ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม หากมีการลงทุนตามมาตรการเป้าหมาย
เช่น มีการนำใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ หรือมีการนำเทคโลยีดิจิตัลมาใช้ เป็นต้น
โดยจะให้สิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักรและภาษีเงินได้เป็นสัดส่วนเฉพาะเท่าที่ลงทุนเพิ่มเติมตามมาตรการเป้าหมายนั้นๆ เท่านั้น


4. การตรวจสอบมาตรการตามข้อ 2 และ 3 สามารถตรวจสอบได้จากประกาศ BOI : https://faq108.co.th/boi/announcement/
หากต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการใด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้

5. การลงทุนเพิ่มจากเดิม 3 เท่า ไม่เป็นเหตุให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

6. การลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เป็นการลงทุนเพื่อใช้พลังงานทดแทน เข้าข่ายตามคำตอบข้อ 2 คือ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ (ประกาศ กกท ที่ 1/2564)
จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ วงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์
แต่มีเงื่อนไขว่าจะโครงการเดิมที่จะลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ ต้องไม่ได้รับสิทธิ/หรือสิ้นสุดสิทธิภาษีเงินได้แล้ว


7. การขอรับสิทธิเพิ่มเติม ทั้งในกรณีการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ และกรณีการลงทุนของกิจการกลุ่ม B ที่ขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นวงเงินไม่เกิน 50% (บางกรณี 100%) ของการลงทุนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการนั้นๆ เท่านั้น

เช่น ถ้าโครงการเดิมลงทุน 100 ล้าน ปัจจุบันกำไรสุทธิปีละ 20 ล้านบาท หากจะลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มูลค่า 10 ล้านบาท
จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท

หรือ โครงการในกลุ่ม B หากจะลงทุน 100 ล้านบาท โดยเป็นระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ 10 ล้านบาท
จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท (บางกรณีไม่เกิน 10 ล้านบาท) ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 16:08:42 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#11 Top

คือบริษัทกำลังจะขยายกำลังการผลิตเพิ่งขึ้นไปอีก 3 เท่า ดังนั้นเราจะขอบัตรใหม่ซึ่ง กิจการอยู่ในกลุ่ม บี และไม่มีการลงทุนในโซลาร์เซล แต่หากว่าเราขอบัตรได้แล้ว เราจึงจะขอมาตรการสนับสนุนตามข้อ 2 เพื่อที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์เซล เพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครึ่งนึงของมูลค่าการลงทนโซลาร์เซลได้หรือไม่คะ เพราะถือว่าเป็นกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิเรืองภาษีเงินได้ (ไม่ใช่กิจการที่ได้รับสิทธิเงินได้แต่ยังไม่หมดระยะเวลาแบบโครงการปัจจุบัน)

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 16:46:05 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#12 Top

1. กิจการผลิตในกลุ่ม B สามารถยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้

เนื่องจากไม่ขัดกับบัญชี negative list ของกิจการกลุ่ม B ที่ไม่ให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ (ตามประกาศ สกท ที่ ป.1/2564)

2. กรณีที่สอบถาม จะเป็นการลงทุนใหม่ในกิจการผลิตในกลุ่ม B

จึงจะต้องเปิดดำเนินการเต็มโครงการให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะนำโครงการนั้นมายื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพได้

ทั้งนี้เนื่องจากการขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุง จะมีการยกเลิกบัตรส่งเสริมฉบับเดิม

หากบัตรส่งเสริมฉบับเดิม ไม่ได้เปิดดำเนินการเต็มโครงการ จะเป็นการผิดเงื่อนไขสำคัญ และจะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของโครงการนั้น

3. แต่หากจะนำโครงการเดิมที่เป็นกิจการผลิตในกลุ่ม B ที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

มายื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์

กรณี้สามารถทำได้ ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 17:32:23 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#13 Top

จากข้อ 3

3. แต่หากจะนำโครงการเดิมที่เป็นกิจการผลิตในกลุ่ม B ที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

มายื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์

กรณี้สามารถทำได้ ครับ

เรียนสอบถามว่า หากโครงการเดิม ได้รับการส่งเสริมก่อนที่จะมีการจัดประเภทกิจการแบบใหม่เป็น เอ บี เราได้สิทธิภาษี 8 ปี ได้สิทธิครึ่งนึง 5 ปี ตอนนี้หมดไปแล้ว 8 ปี อยู่ในช่วง 5 ปีหลัง หากมาเที่ยบกับการจัดประเภทกิจการแบบใหม่จะเป็นกลุ่ม บี จะเข้าข้อนี้ไหมคะ หรือที่เขียนหมายถึงโครงการกลุ่ม บี ที่ได้รับการส่งเสิรมตอนที่มีการจัดประเภทกิจการแบบใหม่แล้วเท่านั้น

ZATH โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 18:01:54 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#14 Top

คำถามสืบเนื่องค่ะ การเปิดดำเนินการเต็มโครงการของกิจการในกลุ่ม บี ทำเหมือนกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หรือไม่คะ (พอดีที่ผ่านมาเคยทำแต่กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้) และต้องเปิดภายใน 36 เดือน + ขยาย 1 ปีเหมือนกันไหมคะ แต่เนืองจากเป็นกิจการที่ได้รบอนุญาตให้นำเข้าเครื่องจักรได้ตลอดระยะเวลาส่งเสริมแต่ไม่ได้รับสิทธิภาษีเงินได้ (5.1.3) เลยไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องรีบนำเข้าเครื่องจักรที้งหมดเข้ามาเพือเปิดดำเนินการให้ทันระยะเวลที่กำหนด (ถ้ามี) หรือไม่ (กรณีได้รับสิทธภาษีเงินได้ก็เพือประโยชน์เรือ่งวงเงินภาษี)

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565, 23:24:55 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#15 Top

ความหมายของกลุ่ม B

1. กิจการกลุ่ม B ตามที่ได้ตอบในคำถามนี้ หมายถึง ตามประเภทกิจการ ณ วันที่ยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ

โดยก่อนจะยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จะเคยจัดเป็นกิจการในประเภท/หรือกลุ่มใดก็ได้

การเปิดดำเนินการ

2. การตรวจสอบเปิดดำเนินการ (กรณีกิจการผลิต) มีหลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจการประเภทใด/กลุ่มใด

3. กรณีได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 30 เดือน
- สามารถขอขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี
- ต้องเปิดดำเนินการภายใน 6 เดือน หลังวันสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักร
- ขอขยายเวลาเปิดดำเนินการเพียงอย่างเดียว ได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 1 ปี

4. กรณีได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริม
- จะต้องเปิดดำเนินการภายใน 36 เดือน นับจากวันที่ออกบัตร
- ขอขยายเปิดดำเนินการเพียงอย่างเดียว ได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 1 ปี ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565, 10:39:00 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#16 Top

3. แต่หากจะนำโครงการเดิมที่เป็นกิจการผลิตในกลุ่ม B ที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

มายื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์

กรณี้สามารถทำได้ ครับ

ตอนนี้เริ่มสับสนค่ะ รบกวนขอคำตอบ/คอนเฟิร์มอีกครั้ง โดยขอแยกกิจการของบริษัทฯ เป็นดังนี้ค่ะ

1. โครงการปัจจุบัน ได้รับการส่งเสริมก่อนที่จะมีการจัดประเภทกิจการแบบใหม่เป็น เอ บี เราได้สิทธิภาษี 8 ปี ได้สิทธิครึ่งนึง 5 ปี ตอนนี้หมดไปแล้ว 8 ปี อยู่ในช่วง 5 ปีหลัง หากจัดประเภทแบบใหม่จะอยู่ในประเภท บี

     คำถาม

     ก่อนหน้านี่ทราบว่าหากภาษียังไม่หมดไม่สามารถขอมามาตรการนี้ได้ (โซลาร์เซลลื) แต่จากข้อความในไฮไลท์เหลือง คือทำได้ รบกวนคอนเฟิร์มอีกครั้งนึงค่ะ

2. โครงการใหม่ที่ต้องการจะขยายออกไปอีก 3 เท่าของโครงการปัจจุบัน หากขอรับการส่งเสิรมในตอนนี้จะเป็นประเภท บี

     คำถาม

     สามารถขอรับส่งสเริมมาตรการนี้ได้ (โซลาร์เซลลื) หรือไม่

      คำตอบ

       ได้ แต่จะต้องขอเมื่อเปิดดำเนินการแล้วเท่านั้น

     คำถาม

     หากโครงการได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริม จะต้องเปิดดำเนินการภายใน 36 เดือน นับจากวันที่ออกบัตร และขยายได้ 1 ปี สิ่งที่บริษัทต้องทำก่อนเปิดดำเนินการ คือ การนำเข้าเครื่องจักรหลักเข้ามาทั้งหมดใช่หรือไม่คะ คือกำลังสับสนว่าหากโครงการสามารถยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดไปและไม่มีการกำหนดวงเงินภาษี จะสามารถนำเข้าเครื่องจักรหลักมาหลังจากเปิดดำเนินการได้หรือไม่ หรือว่ามีการกำหนดกำลังการผลิตตอนเปิดดำเนินการโดยบริษัทไม่สามารถผลิตเกินจากนี้ได้ (แม้จะไม่มีการคำณวนวงเงินภาษีก็ตาม)

     คำตอบ

      รบกวนด้วยนะคะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565, 11:08:29 (129 สัปดาห์ ก่อน)
#17 Top

เงื่อนไขในการขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ

1. เป็นการนำกิจการที่ลงทุนอยู่แล้ว (กิจการเดิม) มายื่นขอรับส่งเสริม
2. กิจการเดิม จะได้รับส่งเสริมหรือไม่ได้รับส่งเสริมก็ได้
3. ต้องเป็นกิจการที่ให้การส่งเสริมได้ตามบัญชีประเภทกิจการฉบับปัจจุบัน
4. กิจการบางประเภท ไม่อยู่ในข่ายที่จะขอรับส่งเสริมตามมาตรการนี้ (รายละเอียดตามประกาศ สกท ที่ ป.1/2564) 
5. หากกิจการเดิมได้รับส่งเสริม ต้องสิ้นสุดสิทธิยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้แล้ว และต้องได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว
6. ไม่สามารถนำกิจการที่จะลงทุนในอนาคต (โครงการใหม่) มาขอรับส่งเสริมตามมาตรการนี้ 

ส่วนการขอรับสิทธิเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนโครงการใหม่ในกลุ่ม B เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ
เพียงแต่อาจมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน

เข้าใจว่าอาจสับสนในประเด็นนี้
หากเป็นคำถามในส่วนของมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ (ประกาศ กกท ที่ 1/2564)
ให้ตรวจสอบกับเงื่อนไข 6 ข้อข้างต้น
และหากมีข้อสงสัย รบกวนสอบถามเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

แต่หากเป็นคำถามในส่วนของการรับสิทธิเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนใหม่ในกลุ่ม B (ประกาศ กกท ที่ 2/2564)
รบกวนแยกไปตั้งเป็นคำถามในกระทู้ใหม่ ครับ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2565, 22:11:52 (126 สัปดาห์ ก่อน)
#18 Top

(นำคำถามมาจากที่อื่น)

บริษัทได้รับส่งเสริมในกิจการกลุ่ม B (ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล)

ปัจจุบันมีการลงทุนเครื่องจักรทั้งสิ้น 3 เครื่อง ซึ่งนำเข้าโดยชำระภาษี

ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ (โดยการติดตั้งแผงโซลาร์)

คำถาม

1. เครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยชำระภาษี 3 เครื่องนี้ สามารถนำมานับเป็นกำลังผลิตในโครงการที่จะยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงฯ ได้หรือไม่

ตอบ ได้

2. หากบริษัทมีเครื่องจักรของโครงการอื่นที่นำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า สามารถนำมาใช้ในโครงการปรับปรุงนี้ ได้หรือไม่

ตอบ ไม่ได้

3. หากในอนาคต บริษัทจะนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติม สามารถนำมารวมในโครงการปรับปรุงฯนี้ ได้หรือไม่

ตอบ ได้ แต่จะไม่นับรวมเป็นกำลังผลิตของโครงการ และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆในส่วนที่ลงทุนเพิ่มขึ้น ครับ

ZATH โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566, 13:30:42 (89 สัปดาห์ ก่อน)
#19 Top

รบกวนสอบถามถึงผลกระทบของ ป.8/2565 ว่ามีผลกระทบกับโครงการที่กำลังจะขอรับการส่งเสริมใหม่ (กิจการ 5.1.1 / 5.1.3 / 4.5) ทำให้สิทธิประโยชน์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่คะ

<< ก่อนหน้า       1 | 2 | 3       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด