case 1 : กรณีปกติทั่วไป
บริษัทได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ 1 ปี นับจากวันนำเข้าครั้งแรก
ปัจจุบันบริษัทได้รับอนุมัติบัญชีสต็อกวัตถุดิบแล้ว และมีแผนจะนำเข้าวัตถุดิบครั้งแรกในวันที่ 7 มกราคม 2566
จึงจะขอกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก
แนวทาง :
บริษัทสามารถกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันใดก็ได้ แต่ต้องไม่ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม
ในกรณีนี้ บริษัทอาจขอกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก เป็นวันที่ 3 มกราคม 2566 เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวเพียงพอในการยื่นขออนุมัติสั่งปล่อยวัตถุดิบครั้งแรก
หรือจะกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 7 มกราคม 2566 ก็ได้ แต่ควรตรวจสอบวันนำเข้าให้ถูกต้อง เผื่ออาจเกิดปัญหากรณีเรือหรือเครื่องบินเข้าก่อนกำหนด
case 2 : กรณีนำเข้าก่อนได้รับอนุมัติบัญชีสต็อกวัตถุดิบ
บริษัทนำเข้าวัตถุดิบครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยยังไม่ได้รับอนุมัติบัญชีสต็อกวัตถุดิบ จึงนำเข้าโดยชำระภาษีสงวนสิทธิ
ต่อมา บริษัทได้รับอนุมัติบัญชีสต็อกวัตถุดิบแล้ว จึงจะขอกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก
แนวทาง :
บริษัทควรกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เพื่อให้สามารถยื่นขอสั่งปล่อยคืนอากรวัตถุดิบที่นำเข้างวดแรกได้
หากบริษัทกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก เป็นวันอื่นหลังจากนั้น เช่น วันที่ 1 มกราคม 2566 จะไม่สามารถขอสั่งปล่อยคืนอากรวัตถุดิบงวดดังกล่าว
หรือแม้ว่าต่อมา บริษัทจะยื่นขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกย้อนหลัง จากวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2565 แต่หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะไม่สามารถแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกได้ และต้องเสียสิทธิการขอคืนอากรวัตถุดิบงวดนั้น
case 3 : การแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรก หลังได้รับอนุมัติขยายระยะเวลานำเข้าแล้ว
บริษัทกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 1 มกราคม 2565 และสิ้นสุดสิทธิวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ต่อมา บริษัทได้ยื่นขอขยายระยะเวลานำเข้า และได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลานำเข้าถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
หลังจากนั้น บริษัทพบว่ามีวัตถุดิบที่นำเข้ามาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นสั่งปล่อยคืนอากร จึงจะขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกให้เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เพื่อสั่งปล่อยคืนอากรวัตถุดิบงวดนั้น
แนวทาง :
บริษัทได้ขยายระยะเวลานำเข้าแล้ว จึงไม่สามารถแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกได้อีก
หากบริษัทตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบให้ถูกต้อง และดำเนินการตามแนวทางใน case 2 จะไม่เกิดปัญหานี้
case 4 : การแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรก ที่ทำให้วันสิ้นสุดสิทธิสั้นกว่าวันอนุมัติสั่งปล่อยงวดสุดท้าย
บริษัทกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 1 มกราคม 2565 และสิ้นสุดสิทธิวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีการอนุมัติสั่งปล่อยงวดสุดท้ายวันที่ 15 ตุลาคม 2565
ต่อมา บริษัทพบว่ามีวัตถุดิบที่นำเข้ามาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นสั่งปล่อยคืนอากร จึงจะขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกให้เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เพื่อสั่งปล่อยคืนอากรวัตถุดิบงวดนั้น
แนวทาง :
บริษัทได้รับอนุมัติสั่งปล่อยงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565
การขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรก เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 จะทำให้วันสิ้นสุดสิทธิเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ซึ่งสั้นกว่าวันที่สั่งปล่อยงวดสุดท้าย จึงไม่สามารถแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ได้
หากบริษัทตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบให้ถูกต้อง และดำเนินการตามแนวทางใน case 2 จะไม่เกิดปัญหานี้
case 5 : การแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรก กรณีมีหนังสือสั่งปล่อยที่ยังไม่นำไปเดินพิธีการศุลกากร
บริษัทกำหนดวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 1 มกราคม 2565 และสิ้นสุดสิทธิวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีหนังสือสั่งปล่อยวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ยังไม่นำไปเดินพิธีการ
ต่อมา บริษัทพบว่ามีวัตถุดิบที่นำเข้ามาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นสั่งปล่อยคืนอากร จึงจะขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกให้เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เพื่อสั่งปล่อยคืนอากรวัตถุดิบงวดนั้น
แนวทาง :
บริษัทมีหนังสือสั่งปล่อยฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ยังไม่ได้เดินพิธีการ ซึ่งหนังสือฉบับนั้น จะให้บริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรวัตถุดิบงวดที่สั่งปล่อยนั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อันเป็นวันสิ้นสุดสิทธิเดิม
การขอแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรก เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 จะทำให้วันสิ้นสุดสิทธิของโครงการเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ซึ่งสั้นกว่าสิทธิตามหนังสือสั่งปล่อยฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2565
หากมีการนำหนังสือสั่งปล่อยฉบับดังกล่าว ไปเดินพิธีการหลังวันที่ 9 ตุลาคม 2565 จะเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ถูกต้อง
จึงไม่สามารถแก้ไขวันนำเข้าครั้งแรกเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ได้
กรณีข้างต้นนี้ หากบริษัทไม่ต้องการใช้สิทธิตามหนังสืออนุมัติสั่งปล่อยที่ยังไม่ได้เดินพิธีการ บริษัทสามารถยื่นคำร้องขอยกเลิกหนังสือสั่งปล่อยดังกล่าวได้
หรือหากเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเดินพิธีการ กับการตรวจสอบนำหนังสือสั่งปล่อยไปเดินพิธีการ (ซึ่งต้องรอข้อมูลประมาณ 7 วัน) จะต้องรอให้การตรวจสอบนี้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถยื่นขอแก้ไขวันนำเข้าย้อนหลังได้
หากบริษัทตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบให้ถูกต้อง และดำเนินการตามแนวทางใน case 2 จะไม่เกิดปัญหานี้
|