หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš

มาตรการส่งเสริมการลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ)

ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนกรกฎาคม 2558
โดย : คุณสุวิดา ธัญวงศ์
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน

    บีโอไอได้นำมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษกิฐพิเศษ (กนพ.) ที่เห็นชอบต่อแนวทางการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการที่มีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมาเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (กกท.) มีมติเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว จึงได้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2557 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

สิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจากบีโอไอ

    ใจความของประกาศดังกล่าวคือ การกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษแก่กิจการที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยต้องเป็นกิจการตามบัญชีประเภทของบีโอไอหรือตามที่ กนพ. กำหนด และอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่ถูกกฎหมายได้ โดยจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ภายในเดือนธันวาคม 2560

    สำหรับการให้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง กล่าวคือ

  1. ถ้าเป็นกิจการตามบัญชีประเภทของบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม (บัญชีแนบท้ายประกาศ กกท. ที่ 2/2557) เรื่อง นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557) หากลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะบวกสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาให้เพิ่มเติม 3 ปี ซึ่งถ้ากิจการตามบัญชีดังกล่าวได้สิทธิ 8 ปีอยู่แล้ว (กฎหมายบีโอไอ ปัจจุบันให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มที่ไม่เกิน 8 ปี) ก็จะเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ให้อีก 5 ปี
  2. ถ้าเป็นกิจการเป้าหมายที่ กนพ. กำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดทันที 8 ปี และบวกสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ให้อีก 5 ปีเลยเช่นกัน

    สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ จะได้เหมือนกัน ดังนี้

  • หักค่าขนส่ง ไฟฟ้า และประปา 2 เท่า เป็นเวลา 10 ปี
  • หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25 ของเงินลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ
  • ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
  • ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก
  • อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ
  • สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่มิใช่ภาษีอากร ได้แก่
    1. นำช่างต่างด้าวเข้ามาทำงาน
    2. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน (หากเลิกหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น จะต้องจำหน่ายที่ดินภายใน 1 ปี)

    ส่วนเงื่อนไขการลงทุนอื่นๆ เช่น ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน สภาพเครื่องจักรในโครงการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนตามประกาศหลัก (ประกาศ กกท. ที่ 2/2557)

สิทธิประโยชน์ในพื้นที่ 20 จังหวัด

    ถ้าเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กิจการจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กับการลงทุนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะจริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมฯ คล้ายคลึงกันมาก สิ่งที่ผู้ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้มากกว่าก็คือ การได้รับอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือโดยไม่จำกัดระยะเวลา เพราะสอดคล้องกับแนวคิดที่ต้องการจำกัดพื้นที่การใช้แรงงานต่างด้าวให้อยู่บริเวณแนวชายแดนของประเทศ

กิจการเป้าหมายใน 5 พื้นที่แรก

    กิจการเป้าหมายที่ กนพ. กำหนด เป็นกิจการเป้าหมายเฉพาะ 5 พื้นที่แรก ซึ่งมีทั้งหมด 62 ประเภทย่อย มาจากการคัดเลือกกิจการตามบัญชีประเภทของบีโอไอ ซึ่งอยู่แนบท้ายประกาศ กกท. ที่ 2/2557 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 โดยได้มีการปรับขอบเขตารให้การส่งเสริมฯ ในบางประเภทให้กว้างขึ้น มีข้อยกเว้นน้อยลง รวมถึงผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อให้ง่ายและจูงใจให้มีการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมากยิ่งขึ้น

    ดังนั้นในการพิจารณาว่ากิจการใดเข้าข่ายเป็นกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องพิจารณาประกาศประเภทกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยตรง รวมถึงศึกษาเงื่อนไขในการลงทุนแต่ละประเภทตามประกาศเฉพาะนี้ด้วยเช่นกัน (ประกาศกิจการเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแบ่งตามพื้นที่ได้เป็น 5 ประกาศ ได้แก่ ประกาศที่ 1/2558 ถึง 5/2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558)

    กิจการเป้าหมายทั้ง 62 ประเภท จัดกลุ่มได้เป็น 13 กลุ่มอุตสาหกรรม มีความสอดคล้องกับศักยภาพ ข้อจำกัด และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

13 กลุ่มอุตสาหกรรม
(จำนวนรวม 62 ประเภทย่อย)
กลุ่มกิจการเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมฯ ในพื้นที่
ตากสระแก้วตราดมุกดาหารสงขลา
1.อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้องOOOOO
2.การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกO



3.อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนังOO

O
4.การผลิตเครื่องเรือนOO

O
5.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับOO


6.การผลิตเครื่องมือแพทย์OO


7.อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนOO


8.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์OO
O
9.การผลิตพลาสติกOO


10.การผลิตยาOO


11.กิจการโลจิสติกส์OOOOO
12.นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมOOOOO
13.กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวOOOOO

ประเภทและเงื่อนไขที่แตกต่าง

    ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กิจการเป้าหมายแบ่งออกเป็น 5 ประเภทแยกตามพื้นที่ หากท่านต้องการทราบรายละเอียดทุกประเภทกิจการก็สามารถศึกษาได้จากประกาศทั้ง 5 ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะประเภทที่มีความแตกต่างจากบัญชีหลักในประกาศ กกท. ที่ 2/2557 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ดังนี้

    1) ประเภทกิจการที่มีการผ่อนปรนเงื่อนไข

    1.5.2 กิจการเลี้ยงปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ (ยกเว้นกุ้ง)
        ยกเลิกเงื่อนไขที่จะต้องมีการขยายพันธุ์สัตว์ในโครงการและระบบตรวจสอบย้อนกลับ
    1.6 กิจการฆ่าและชำแหละสัตว์
        ยกเลิกเงื่อนไขที่จะต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ
    1.8 กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ และเก็บรักษาพืช ผัก ผลไม้หรือดอกไม้
        กำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำเหลือเพียงจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
    3.1.1 กิจการผลิตเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยประดิษฐ์
        กำหนดเงื่อนไขเฉพาะกรณีการผลิตเส้นใยรีไซเคิลว่าจะต้องใช้เศษวัสดุของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น
    4.12 กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ (ยกเว้นที่มีความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 248 ซีซี)
        ยกเลิกเงื่อนไขการขึ้นรูปชิ้นส่วนของเครื่องยนต์
    6.7.1 กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้น (Multilayer Plastics Packaging)
        ลดจำนวนขั้นต่ำของชั้นพลาสติกจาก "มากกว่า 3 ชั้นขึ้นไป" เป็น "มากกว่า 2 ชั้นขึ้นไป"
    7.4.2 กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (International Distribution Center : IDC)
        ลดเงื่อนไขการกระจายสินค้าไปต่างประเทศจากเดิม 5 ประเทศขึ้นไป เหลือเพียง 1 ประเทศขึ้นไป

    2) ประเภทกิจการที่ขยายขอบข่ายผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น

    1.17 กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์)
    กำหนดผลิตภัณฑ์ที่ยกเว้นเหลือเพียงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เท่านั้น ดังนั้น ประเภทกิจการที่ถูกยกเว้นภายใต้ประกาศ กกท. ที่ 2/2557 (บัญชีหลัก) ก็จะสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ เช่น กิจการผลิตแป้งจากพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปไก่สลัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า แม้จะไม่ระบุยกเว้นกิจการผลิตน้ำดื่มและไอศกรีมในกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็จัดเป็นกิจการที่ไม่ให้ส่งเสริมอยู่เดิมก่อนออกประกาศ กกท. ที่ 2/2557 จึงควรคงหลักการนั้นไว้ โดยพิจารณาประกอบกับชื่อประเภทกิจการที่กำหนดว่าเป็น "กิจการผลิตหรือถนอมอาหารฯ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย" ด้วย

    3) ประเภทกิจการที่ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไข

    3.1.2 กิจการผลิตด้ายหรือผ้า
    3.1.4 กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่มเครื่องประกอบการแต่งกาย และเคหะสิ่งทอ
    3.3 กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า หรือผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์หรือหนังเทียม
    3.6 กิจการผลิตเครื่องเรือนหรือชิ้นส่วน
    3.11 กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน
    4.4 กิจการผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์หรืออุปกรณ์
    5.1 กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า
    5.2.3 กิจการผลิต Compressor และ/หรือ Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า

สิทธิประโยชน์ของกรมสรรพากร

    สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น กิจการที่ไม่เข้าข่ายประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมฯ หรือไม่ผ่านเงื่อนไขขนาดการลงทุนขั้นต่ำของบีโอไอ สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการของกรมสรรพากร กระทรวงการคลังได้

    โดยมาตรการของกระทรวงการคลังจะให้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับกิจการที่จัดตั้งใหม่หรือการขยายอาคารถาวรที่ใช้ในการประกอบกิจการ สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และการผลิตสินค้าที่มีแนวโน้มจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือรายได้ที่เกิดจากการให้บริการและมีการใช้บริการนั้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 20 เมษายน 2558 ให้ความเห็นชอบในหลักการ "ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...." ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ก็ยังคงต้องรอดรายละเอียดในประกาศของกรมสรรพากรที่เป็นทางการต่อไป

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน

    1. ผู้ที่ประสงค์จะลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้ สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบุคคลธรรมดาก่อนก็ได้ แต่อย่างน้อยจะต้องจัดตั้งบริษัท มูลนิธิ หรือสหกรณ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ ได้ตอบรับมติการให้การส่งเสริมฯ

    2. สามารถดาวน์โหลกแบบฟอร์มขอรับการส่งเสริมฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.boi.go.th ภายใต้หัวข้อ "สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน" หรือขอรับเอกสารได้ที่ศูนย์บริการลงทุน ซึ่งปัจจุบันให้บริการอยู่ที่ศูนย์ OSOS อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 18 หรือศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาค 1 - 6 ตามรายละเอียดด้านล่างนี้ (แบบคำขอรับการส่งเสริมฯ มี 3 แบบ ได้แก่ แบบคำขอสำหรับกิจการทั่วไป กิจการบริการ และกิจการซอฟต์แวร์/พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)

    3. เมื่อกรอกคำขอในแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว โปรดยื่นคำขอจำนวน 2 ชุด ณ สถานที่ที่สะดวก ดังนี้ (โปรดทำสำเนาคำขออีก 1 ชุด เพื่อผู้ขอรับการส่งเสริมฯ เก็บไว้เป็นสำเนา)

    3.1 ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ One Start One Stop Investment Center : OSOS
        ชั้น 18 อาคารจัตุรัสจามจุรี
319 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0 2209 1100 โทรสาร 0 2209 1199
ศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ (Call Center)
โทรศัพท์ 0 2209 1162 ถึง 1164
E-mail: osos@boi.go.th
    3.2 สำนักบริหารการลงทุน 1-4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ถนนวิภาวดีรังสิต)
       - สำนักบริหารการลงทุน 1 สำหรับคำขอในกิจการหมวด 1 เกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตร และหมวด 3 อุตสาหกรรมเบา
       - สำนักบริหารการลงทุน 2 สำหรับคำขอในกิจการหมวด 2 แร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน และหมวด 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง
       - สำนักบริหารการลงทุน 3 สำหรับคำขอในกิจการหมวด 5 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
       - สำนักบริหารการลงทุน 4 สำหรับคำขอในกิจการหมวด 6 เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ และหมวด 7 กิจการบริการ และสาธารณูปโภค
    3.3 หากผู้สนใจลงทุนสะดวกติดต่อสำนักงานของบีโอไอในภูมิภาค สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ ได้ที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาค 1-6
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 1 (เชียงใหม่และพิษณุโลก) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 17 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และตาก
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 2 (นครราชสีมา) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 8 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 3 (ขอนแก่น) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 11 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนคร เลย มุกดาหาร และนครพนม
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 4 (ชลบุรี) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 8 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 5 (สงขลา) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 7 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง พัทลุง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล
       - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภูมิภาคที่ 6 (สุราษฎร์ธานี) รับผิดชอบในเขตพื้นที่รวม 7 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร ภูเก็ต และระนอง
    3.4 กรณีบริษัทในต่างประเทศประสงค์จะมาลงทุนในประเทศไทย สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ ผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศได้
(โปรดอ่านรายละเอียดที่ตั้งสำนักงานและเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในเว็บไซต์ www.boi.go.th หัวข้อ "เกี่ยวกับบีโอไอ" -> "ที่อยู่" -> "สำนักงานต่างประเทศ" หรือบริเวณปกหลังวารสารส่งเสริมการลงทุน)

ที่มาข้อมูล

    1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
    2. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบš


views 18,564
Total pageviews 4,415,172 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.