หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
กฎระเบียบควรรู้ : การขออนุญาตเปิดดำเนินการ
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนสิงหาคม 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1
- การเปิดดำเนินการจะต้องแนบสำเนา INVOICE / BILL OF LADING / AIRWAY BILL ที่ยืนยันวันเริ่มมีรายได้ตามโครงการ อยากทราบว่า INVOICE / BILL OF LADING / AIRWAY BILL หมายถึงอะไร
-
ตอบ :
INVOICE หมายถึง ใบกำกับราคาสินค้า หรือใบแจ้งรายการสินค้าที่ขายให้ ที่ผู้ขายออกให้กับผู้ซื้อ เป็นเอกสารที่แสดงจำนวนและราคาของสินค้าไว้เพื่อเรียกเก็บเงิน เมื่อผลิตสินค้าหรือส่งสินค้าแล้ว
BILL OF LADING หมายถึง ใบตราส่งสินค้า เป็นเอกสารซึ่งผู้ขนส่ง (CARRIER) ออกให้แก่ผู้ส่งสินค้า (CONSIGNOR) เพื่อเป็นหลักฐานการรับขนของ (CARRIAGE OF GOODS) ให้ตามข้อตกลง
AIRWAY BILL หมายถึง ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ เป็นเอกสารที่ผู้รับจ้างส่งสินค้าออกให้ในฐานะผู้ส่งสินค้าต้องนำ AIRWAY BILL มาเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารส่งออกที่ส่งไป เรียกเก็บเงินหรือ ให้ผู้ซื้อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการรับสินค้าต่อไป
- หากเลยวันครบกำหนดเปิดดำเนินการไปแล้ว บริษัทยังจะสามารถยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการย้อนหลังได้หรือไม่
-
ตอบ :
หากโครงการดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิกเพิกถอนก็สามารถยื่นได้ โดยปกติแล้ว หากพ้นกำหนดเปิดดำเนินการตามโครงการ แล้วบริษัทไม่มีการติดต่อใดๆ บีโอไอจะมีหนังสือเตือนให้รายงานการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดดำเนินการ หากบริษัทยังไม่ดำเนินการ บีโอไอก็จะดำเนินการเพิกถอนโครงการต่อไป
- การขออนุญาตเปิดดำเนินการนั้น ควรรอให้ครบกำหนดเปิดดำเนินการก่อน จึงขออนุญาตหรือไม่
-
ตอบ :
ควรรอจนครบกำหนดเปิดดำเนินการแล้ว จึงจะขออนุญาตเปิดดำเนินการ เพราะหากบริษัทยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว มีการซื้อเครื่องจักรและทรัพย์สินอื่นๆ มาภายหลัง ก็จะไม่สามารถนำมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าเงินลงทุนได้
- แนวทางการรายงานมูลค่าเงินลงทุนเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีอย่างไรบ้าง
-
ตอบ :
แนวทางการรายงานมูลค่าเงินลงทุนเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามรายการเงินลงทุน มีดังนี้
- จะนับขนาดเงินลงทุนเฉพาะรายการที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า
- | เป็นการลงทุนเฉพาะของโครงการนี้ และจะต้องมีอยู่ใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมนั้นจริง ณ สถานประกอบการในวันตรวจสอบ |
- | ต้องได้มานับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ จนถึงวันครบกำหนดเปิดดำเนินการ โดยพิจารณาจากวันที่นำเข้าตามใบขนฯ หรือวันที่ได้มา (วันรับมอบ) หากได้มาก่อน ต้องได้รับอนุมัติให้ใช้ในโครงการ |
- | มีการลงทุนจริงตามรายการเงินลงทุน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.1/2545 ลงวันที่ 28 มกราคม 2545 เรื่อง การกำหนดความหมายรายการเงินลงทุน เท่านั้น หรือเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่สำนักงานกำหนด |
- วันยุติการนับขนาดการลงทุน จะต้องไม่เกินวันครบกำหนดเปิดดำเนินการ
- หากบริษัทเช่าโรงงาน โดยทำสัญญาเช่าปีต่อปี จะสามารถนำค่าเช่านั้น มารวมเป็นมูลค่าเงินลงทุนเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
-
ตอบ :
ไม่ได้ กรณีการเช่าอาคารหรือโรงงานนั้น ให้ใช้ค่าเช่าตามสัญญาการเช่า โดยจะต้องมีระยะเวลาการเช่ามากกว่า 3 ปี ซึ่งจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดินแล้ว จึงจะนำมารวมเป็นมูลค่าเงินลงทุนได้
- การก่อสร้างโรงงานเอง กับการว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีวิธีการกรอกข้อมูลต้นทุนได้อย่างไร
-
ตอบ :
กรณีที่ก่อสร้างเอง การคำนวณต้นทุนเริ่มตั้งแต่ค่าเขียนแบบ ค่าธรรมเนียมขออนุญาต ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ค่าทำฐานราก จนกระทั่งโรงงานเสร็จ แต่หากเป็นกรณีว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต้นทุนคือจำนวนเงินที่กิจการตกลงตามสัญญาก่อสร้าง ทั้งนี้ ให้ใช้ราคาทุนหรือราคาที่ได้มา
- ค่าเครื่องจักร จะหมายความถึงค่าอะไรบ้าง
-
ตอบ :
ค่าเครื่องจักร หมายถึง เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เป็นไปตามคำจำกัดความว่าด้วย “เครื่องจักร” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.1/2545 และต้องมีอยู่ใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ นั้นจริงในวันเปิดดำเนินการ
- | มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ระบุไว้ดังนี้
เครื่องจักร หมายความว่า เครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และเครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และโครงโรงงานสำเร็จรูปที่นำมาติดตั้งเป็นโรงงานด้วย
|
- | ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.1/2545 ระบุเกี่ยวกับเครื่องจักรไว้ว่า ค่าเครื่องจักร ค่าติดตั้ง ค่าทดลองเครื่อง หมายถึง
1. | กรณีซื้อเครื่องจักร ได้แก่ ค่าเครื่องจักร และให้รวมถึงค่าติดตั้ง ค่าทดลองเครื่อง ค่าวิชาการที่รวมอยู่ในต้นทุนเครื่องจักร เช่น ค่าวิศวกร ค่าออกแบบ สำหรับกิจการซอฟต์แวร์และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้รวมถึงค่าเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมด้วย |
2. | กรณีการเช่าซื้อ หรือเช่าแบบลิสซิ่ง ให้ใช้มูลค่าตามสัญญาเช่าซื้อ หรือเช่าแบบลิสซิ่ง |
3. | กรณีเช่าเครื่องจักร ให้ใช้มูลค่าตามสัญญาเช่า ทั้งนี้ จะต้องมีการทำสัญญาเช่ามากกว่า 1 ปี |
4. | กรณีเครื่องจักรที่บริษัทในเครือให้มาโดยไม่คิดค่าตอบแทนและได้ระบุในคำขอฯ ให้ใช้มูลค่าตามบัญชีของบริษัทที่ให้เครื่องจักร โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ |
5. | กรณีจำนองเครื่องจักร ให้ใช้ราคาทุนตามบัญชี |
|
- หากค่าเครื่องจักร ค่าติดตั้ง และค่าทดลองเครื่อง รวมอยู่ในค่าเครื่องจักรเป็นมูลค่าเดียวกัน บริษัทจำเป็นจะต้องแยกออกมา เพื่อกรอกข้อมูลมูลค่าการลงทุนตามแบบขออนุญาตเปิดดำเนินการหรือไม่
-
ตอบ :
ค่าติดตั้งและค่าทดลองเครื่องสามารถรวมอยู่ในมูลค่าเครื่องจักรได้ โดยจะดูจากหลักฐานการชำระเงิน ทั้งนี้ กรณีบันทึกเป็นสินทรัพย์ ต้องแสดงไว้ในงบการเงินที่มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบรับรองการมีอยู่จริงของสินทรัพย์ในรอบบัญชีนั้น ส่วนกรณีบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย หรือไม่ได้บันทึกเป็นสินทรัพย์ ต้องแนบเอกสารหลักฐานการซื้อ-ขายนั้นด้วย
- ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ คือค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
-
ตอบ :
ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ ให้หมายความถึง ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทใหม่ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียม และค่าหนังสือบริคณห์สนธิ โดยให้ใช้มูลค่าที่บันทึกบัญชีไว้ และแนบเอกสารหลักฐานมาด้วย
- มูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
-
ตอบ :
มูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ หมายถึง
- ค่าอุปกรณ์สำนักงานและยานพาหนะ (เฉพาะกรณีขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบริษัทที่จะจัดตั้งใหม่ และขอรับการส่งเสริมฯ เพื่อโยกย้ายสถานประกอบการเท่านั้น)
- ค่าสัมปทาน ค่าประทานบัตร และสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่จ่ายให้กับรัฐ โดยให้ใช้มูลค่าที่บันทึกบัญชีไว้ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานด้วย
- ในการขอรับการส่งเสริมฯ ในนามบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การขอรับการส่งเสริมฯ ขยายกิจการ และกรณีขอรับการส่งเสริมฯ โยกย้ายสถานประกอบการ การกรอกมูลค่าการลงทุนจะแตกต่างกันอย่างไร
-
ตอบ :
กรณีขอรับการส่งเสริมในนามบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น เงินลงทุนจะประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ และมูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ กรณีขอรับการส่งเสริมขยายกิจการ เงินลงทุนจะประกอบด้วยค่าก่อสร้าง และค่าเครื่องจักร ส่วนกรณีโยกย้ายสถานประกอบการ เงินลงทุนจะประกอบด้วยค่าก่อสร้าง และมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆ
- ค่าปรับปรุงที่ดิน สามารถรวมเป็นมูลค่าการลงทุนในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
-
ตอบ :
ค่าปรับปรุงที่ดิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าที่ดิน ไม่อนุญาตให้รวมเป็นมูลค่าการลงทุนที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
- การตรวจสอบสถานประกอบการ บีโอไอจะตรวจสอบในด้านใดบ้าง
-
ตอบ :
เน้นมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมฯ ดังนี้
- ตรวจสอบที่ตั้งโรงงาน/สถานประกอบการ
- ตรวจสอบกรรมวิธีการผลิต ต้องมีกรรมวิธีการผลิตจริงตามที่ได้รับอนุมัติ
- ตรวจสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยรายละเอียดเครื่องจักรจะต้องตรงกับรายการเครื่องจักรในแบบคำขออนุญาตเปิดดำเนินการ และจะต้องอยู่ในสถานประกอบการครบทุกรายการ และเครื่องจักรที่มีอยู่จะต้องสอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ และมีเครื่องจักรครบทุกกระบวนการผลิต
- ตรวจสอบชนิดผลิตภัณฑ์หรือกิจการ ต้องทำการผลิตผลิตภัณฑ์หรือประกอบกิจการตรงกันที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ และ/หรือตามที่ได้รับอนุมัติ
- ตรวจกำลังการผลิต ตรวจว่าขั้นตอนการผลิตที่สำคัญมีอะไรบ้าง และคำนวณกำลังการผลิตของเครื่องจักร เช่น การจับเวลาการทำงานจริงของเครื่องจริง รายงานผลการผลิตประจำวัน/สัปดาห์/เดือน Spec ของเครื่องจักร เป็นต้น
วันที่บีโอไอไปตรวจสอบสถานประกอบการนั้น บริษัทจะต้องเตรียมผู้มีหน้าที่และความรู้ในการจัดทำบัญชีของบริษัทไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ของบีโอไอด้วย โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีของบริษัท จะต้องนำทะเบียนสินทรัพย์ และหลักฐานประกอบการซื้อและชำระเงิน เช่น ใบส่งของ/ใบกำกับสินค้า ใบขนสินค้าขาเข้า ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น เพื่อมาพิสูจน์รายการเงินลงทุนของโครงการ
ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนมิถุนายน 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1
- การขออนุญาตเปิดดำเนินการ จะดำเนินการได้เมื่อใด
-
ตอบ :
การขออนุญาตเปิดดำเนินการตามบัตรส่งเสริมการลงทุน จะกระทำเมื่อผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมฯ ครบถ้วน ได้แก่ เงื่อนไขในการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงดารที่ได้รับการส่งเสริมฯ ทุนจดทะเบียน สัดส่วนการถือหุ้น ชนิดผลิตภัณฑ์/บริการและกำลังผลิต กรรมวิธีการผลิต/บริการ ขนาดการลงทุนขั้้นต่ำ ที่ตั้งโรงงาน/สถานประกอบการ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่กำหนดให้ตรวจสอบในขั้นเปิดดำเนินการ พร้อมที่จะให้บีโอไอตรวจสอบ และออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการ โดยบริษัทอาจดำเนินการผลิต และมีรายได้ไปก่อนหน้านั้นได้ ทั้งนี้ การขออนุญาตเปิดดำเนินการ จะต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กำหนด
- การขออนุญาตเปิดดำเนินการ ใช้เอกสารใดประกอบบ้าง
-
ตอบ :
การขออนุญาตเปิดดำเนินการ ต้องยื่นเอกสารดังนี้
- แบบคำขออนุญาตเปิดดำเนินการ (F PA OP 01)
- สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบอนุญาตที่เป็นข้อบังคับของกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่หมดอายุ
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับปัจจุบัน หรือรายงานการกระจายการถือหุ้นตามสัญชาติฉบับปัจจุบัน ที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฉบับปัจจุบันที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
- สำเนางบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองปีล่าสุด
- ทะเบียนทรัพย์สิน
- สำเนา INVOICE / BILL OF LADING / AIRWAY BILL ฉบับแรกที่มีรายได้ หรือหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันวันเริ่มมีรายได้ตามโครงการ
- แผนภูมิขั้นตอนการผลิตหรือบริการ ซึ่งระบุรายการเครื่องจักรหลักที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิต
- แผนผังการติดตั้งเครื่องจักร
ทั้งนี้ เอกสารทุกฉบับจะต้องประทับตราบริษัท (ถ้ามี) และลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจ สำหรับกิจการที่เป็นการผิต จะต้องมีเอกสารทุกรายการตามข้างต้น ส่วนกิจการบริการ จะต้องมีเอกสารรายการที่ 1-7 ส่วนรายการที่ 8-9 ตามความเหมาะสม
- การกรอกข้อมูลรายละเอียดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้ในโครงการ หากมีการซื้อเครื่องจักรเข้ามาก่อนการยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ สามารุกรอกรายการเครื่องจักรนั้นลงในคำขอฯ ได้หรือไม่
-
ตอบ :
เครื่องจักรทั้งหมดของโครงการ จะต้องได้มาไม่ก่อนวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ จนถึงวันครบกำหนดเปิดดำเนินการ โดยพิจารณาจากวันที่นำเข้าตามใบขนฯ หรือวันที่ได้มา (วันที่รับมอบสินค้า) หากได้มาก่อนหน้านั้น จะต้องได้รับอนุมัติให้ใช้ในโครงการ
ดังนั้น ในกรณีนี้จะต้องพิจารณาว่าบริษัทเคยได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องจักรที่นำเข้ามาก่อนยื่นคำขอฯ ใช้ในโครงการหรือไม่ หากเคยได้รับอนุมัติ ก็สามารถระบุรายการเครื่องจักรนั้นมาได้
- การกรอกข้อมูลรายละเอียดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งในโครงการ กรอกเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้สิทธิ์นำเข้าใช่หรือไม่
-
ตอบ :
ไม่ใช่ จะต้องกรอกรายละเอียดเครื่องจักรที่นำเข้า ทั้งที่ใช้สิทธิ์ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้า หรือเครื่องจักรที่นำเข้าโดยชำระอากรขาเข้า แะเครื่องจักรที่ซื้อในประเทศ
- การกรอกมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ จะต้องใช้ราคาทุน หรือราคาตามบัญชี
-
ตอบ :
ใช้ราคาทุน (ราคาที่ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นมาโดยไม่ต้องหักค่าเสื่อมราคา)
- บริษัทสามารถระบุรายการเครื่องจักรที่เป็นเครื่องจักรใช้แล้วได้หรือไม่
-
ตอบ :
หากบริษัทได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในโครงการ สามารถระบุได้ โดยจะต้องระบุปีที่ผลิตและประเทศที่ได้มา (สามารถใช้เครื่องจักรใช้แล้วได้กรณีที่นำเข้าเท่านั้น) และหากเป็นเครื่องจักรใช้แล้วที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์นำเข้า จะต้องมีใบรับรองประสิทธธิเครื่องจักรแนบมาด้วย
- บริษัทสามารถกรอกรายการเครื่องจักรที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการผลิตได้หรือไม่
-
ตอบ :
ไม่ได้ เครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ จะต้องสอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ
- หากบริษัทซื้อเครื่องจักรเข้ามา แต่ต่อมาได้จำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าวออกไป บริษัทจะยังสามารถรวมรายการเครื่องจักรดังกล่าว ไว้ในคำขอเปิดดำเนินการได้หรือไม่
-
ตอบ :
ไม่ได้ เครื่องจักรที่อยู่ในรายการ จะต้องเป็นสินทรัพย์ของบริษัทในวันที่ขออนุญาตเปิดดำเนินการ และจะต้องอยู่ในสานประกอบการครบทุกรายการ (เว้นแต่จะได้รับอนุมัติไว้เป็นอย่างอื่น)
- หากบริษัทขอรับการส่งเสริมฯ ระบุว่าจะใช้เครื่องจักรใหม่ทั้งสิ้น แต่เมื่อขออนุญาตเปิดดำเนินการ ตรวจพบว่า บริษัทซื้อเครื่องจักรใช้แล้วจากบริษัทอื่นมาดำเนินการผลิตต่อ ในกรณีนี้ บริษัทจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการหรือไม่
-
ตอบ :
ไม่ได้ เนื่องจากผิดเงื่อนไขการให้การส่งเสริมฯ โดยจะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้ให้ไว้ทั้งหมด
- หากบริษัทได้รับการส่งเสริมฯ ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง และน้ำนึ่งปลาเข้มข้น แต่ได้ลดชนิดผิตภัณฑ์เป็นจะผลิตเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อบีโอไอไปตรวจเปิดดำเนินการ บริษัทจะมีความผิดหรือไม่
-
ตอบ :
เป็นเพียงการปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่่อนไขของบัตรส่งเสริมฯ ที่ไม่จัดเป็นความผิดแต่อย่างใด ในกรณีนี้ บริษัทสามารถขอแก้ไขยกเลิกชนิดผลิตภัณฑ์ที่จะไม่ทำการผลิตได้
- การกรอกข้อมูลการคำนวณขนาดกิจการ มีวิธีลงรายละเอียดอย่างไร
-
ตอบ :
บริษัทจะต้องระบุว่ามีขั้นตอนการผลิตหลักขั้นตอนใดบ้าง ที่สามารถใช้คำนวณกำลังผลิตได้ เช่น ตัวอย่างการคำนวณกำลังผลิตในกิจการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ดังนี้
ขั้นตอนการผลิตหลัก (Core Process) | รายการเครื่องจักรที่ใช้ | จำนวนเครื่องจักร/ สายการผลิต (A) | กำลังผลิตสูงสุด ต่อหน่วยเวลา (B) | กำลังผลิตสูงสุดต่อปีที่คำนวณตาม เวลาทำงานในบัตรส่งเสริม (C=8 ชั่วโมง/วัน :D=300 วัน/ปี) |
ขั้นตอนการนึ่งปลา | เครื่องนึ่งปลา | 3 เครื่อง | 3.5 ตัน/ชั่วโมง | 25,200 ตัน/ปี |
ขั้นตอนฆ่าเชื้อ | เครื่องฆ่าเชื้อ | 2 เครื่อง | 5 ตัน/ชั่วโมง | 24,000 ตัน/ปี |
ขั้นตอนปิดฝากระป๋อง | เครื่องปิดฝากระป๋อง/td> | 5 เครื่อง | 2.5 ตัน/ชั่วโมง | 30,000 ตัน/ปี |
ดังนั้น ขั้นตอนการผลิตที่เป็นตัวกำหนดกำลังผลิตของโครงการ (Bottle Neck) คือ ขั้นตอนการฆ่าเชื้อ โดยมีรายละเอียดการคำนวณกำลังผลิตสูงสุดของเครื่องจักรที่มีอยูจริง ดังนี้
เครื่องฆ่าเชื้อ 2 เครื่อง x 5 ตัน/ชั่วโมง x 8 ชั่วโมง/วัน x 300 วัน/ปี = 24,000 ตัน/ปี
ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบว่าเครื่องจักรนั้นผลิตจริงได้ตามที่ระบุมาหรือไม่ โดยอาจจะใช้ข้อมูลจากการจับเวลาทำงานจริงของเครื่องจักร รายงานผลการผลิตประจำวัน/สัปดาห์/เดือน และกำลังผลิตของเครื่องจักร เป็นต้น
- หากในคำขอรับการส่งเสริมฯ บริษัทแจ้งว่าจะตั้งโรงงานอยู่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แต่เมื่อขออนุญาตเปิดดำเนินการจริง บริษัทได้ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จะสามารถขอเปิดดำเนินการได้หรือไม่
-
ตอบ :
ในเงื่อนไขเฉพาะโครงการของบัตรส่งเสริมฯ จะระบุเฉพาะจังหวัดที่เป็นที่ตั้งโรงงานหรือสถานประกอบการเท่านั้น ไม่ได้ระบุอำเภอที่ตั้งแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทจึงสามารถเปลี่ยนที่ตั้งที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันได้ โดยไม่ต้องแก้ไขเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมฯ แต่อย่างใด
- ในคำขอรับการส่งเสริมฯ บริษัทได้แจ้งว่าจะตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ภายหลัง บริษัทได้ไปตั้งโรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริษัทจะสามารถขอเปิดดำเนินการได้หรือไม่
-
ตอบ :
ถือว่าปฏิบัติผิดเงื่อนไข เนื่องจากเงื่อนไขเฉพาะโครงการจะระบุนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่เป็นที่ตั้งโรงงานด้วย ถ้าหากมีการย้ายไปอยู่ในนิคม/เขตอุตสาหกรรมอื่น ถึงแม้จะเป็นการย้ายภายในจังหวัดเดียวกัน ก็ถือว่าผิดเงื่อนไข ดังนั้น หากบริษัทจะย้ายโรงงาน จะต้องขอแก้ไขโครงการเปลี่ยนที่ตั้งสถานประกอบการก่อน ทั้งนี้ การตรวจสอบการตั้งสถานประกอบการ จะดูจากที่ตั้งที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ
- หากบริษัทไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จะสามารถใช้หลักฐานอื่นแทนได้หรือไม่
-
ตอบ :
บางประเภทกิจการไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถใช้หลักฐานอื่นๆ แทนได้ เช่น กิจการขยายพันธุ์สัตว์หรือเลี้ยงสัตว์ สามารถใช้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์แทนได้ กิจการโรงแรมให้ใช้ใบอนุญาตเปิดกิจการโรงแรมจากกระทรวงมหาดไทย กิจการขนส่งทางเรือให้ใช้ใบอนุญาตใช้เรือ ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือจากกรมเจ้าท่า เป็นต้น
- กิจการประมงน้ำลึก หรือกิจการขนส่งทางเรือ ที่มีเรือเป็นยานพาหนะ ไม่มีสถานประกอบการที่แน่นแน บางครั้งเรือจะต้องใช้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อครบกำหนดเปิดดำเนินการ ไม่มีเรือให้ตรวจ จะต้องดำเนินการอย่างไร
-
ตอบ :
ให้ยื่นคำขออนุญาตเปิดดำเนินการตามปกติ จากนั้นบีโอไอจะทำการตรวจสอบข้อมูลด้านเอกสารเกี่ยวกับเครื่องจักร ทุนจดทะเบียน สัดส่วนการถือหุ้น ชนิดผลิตภัณฑ์หรือบริการ ขั้นตอนการบริการ ขนาดการลงทุนขั้นต่ำ และเงื่อนไขวันเปิดดำเนินการ หากถูกต้อง บีโอไอจะออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการให้ก่อน แล้วจะทำการตรวจสอบภายหลังเมื่อเรือนั้นอยู่ในประเทศ
- วันเปิดดำเนินการ จะกำหนดวันใด
-
ตอบ :
มี 2 กรณี ได้แก่
- หากบริษัทยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการก่อนวันครบกำหนดเปิดดำเนินการ ให้ใช้วันที่บีโอไอลงรับเรื่องการขอเปิดดำเนินการ เป็นวันเปิดดำเนินการ
- หากบริษัทยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการหลังวันครบเปิดดำเนินการ ให้ใช้วันครบกำหนดเปิดดำเนินการ เป็นวันเปิดดำเนินการ
ตัวอย่าง หากบริษัทครบกำหนดเปิดดำเนินการวันที่ 1 ตุลาคม 2555 แต่บริษัทยื่นเปิดดำเนินการในวันที่ 15 กันยายน 2555 และบีโอไอลงรับในวันนั้น ในกรณีนี้วันเปิดดำเนินการก็คือวันที่ 15 กันยายน 2555
แต่หากบริษัทครบกำหนดเปิดดำเนินการวันที่ 1 ตุลาคม 2555 แต่บริษัทยื่นขอเปิดดำเนินการล่าช้าในวันที่ 1 ธันวาคม 2555 กรณีนี้ วันเปิดดำเนินการจะเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2555
ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2555
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|