หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
กฎระเบียบควรรู้ : สิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนเมษายน 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1
- การตัดบัญชีวัตถุดิบคืออะไร
-
ตอบ :
การตัดบัญชีวัตถุดิบ หมายถึง การนำปริมาณวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 ที่ได้มีการผลิตและส่งออกไปต่างประเทศแล้ว มาดำเนินการตัดบัญชี โดยเอกสารประกอบการตัดบัญชี ได้แก่ เอกสารการส่งออกทั้งหมด
หากตัดบัญชีไม่หมด เช่นในกรณีที่มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก หรือนำเข้าแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก บริษัทจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม/อากรขาเข้า พร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามสภาพ ณ วันนำเข้า ตามปริมาณวัตถุดิบคงเหลือนั้นๆ
- การตัดบัญชีวัตถุดิบ จะกระทำได้ในกรณีใดบ้าง
-
ตอบ :
การตัดบัญชีวัตถุดิบ มี 4 กรณี ดังนี้
- การตัดบัญชีจากการส่งออก
- การตัดบัญชีโอนสิทธิ์
- การตัดบัญชีจากการชำระภาษีอากรขาเข้า
- การตัดบัญชีส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต
- หลังจากที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปแล้ว จะต้องมาดำเนินการการตัดบัญชีวัตถุดิบเมื่อใด
-
ตอบ :
เมื่อบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ (หรือวัตถุดิบ) ไปต่างประเทศ จะต้องนำหลักฐานการส่งออกมายื่นขอตัดบัญชี (หรือปรับยอด) ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ส่งออก และหากระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 ของโครงการนั้นสิ้นสุดลง บริษัทจะต้องส่งวัตถุดิบที่ค้างคงเหลือคืนกลับไปต่างประเทศ หรือนำวัตถุดิบที่ค้างคงเหลือนั้นไปผลิตเป็นสินค้า และส่งออกไปต่างประเทศภายใน 6 เดือนนับจากวันที่สิทธิประโยชน์สิ้นสุดลง และจะต้องนำหลักฐานส่งออกนั้น มาตัดบัญชีภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ส่งออก
- การตัดบัญชีวัตถุดิบ จะต้องดำเนินการที่ใด
-
ตอบ :
ที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC) โดยในขั้นตอนนี้การดำเนินงานตัดบัญชีด้วยระบบ Raw Material Tracking System (RMTS) จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานแล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ (ตั้งแต่ขั้นตอนการรับเรื่องประมวลผล จนถึงขั้นตอนการบันทึกข้อมูลสถิติ)
- ใบขนสินค้าขาออก กรณีส่งออกโดยบริษัทเอง กับกรณีส่งออกทางอ้อม แตกต่างกันอย่างไร
-
ตอบ :
หากบริษัทเป็นผู้ส่งออกเอง จะถือว่าเป็นการส่งออกทางตรง ในใบขนสินค้าขาออกจะต้องระบุว่า เป็นใบขนสินค้าขาออกประเภทส่งเสริมการลงทุน พร้อมระบุเลขที่บัตรส่งเสริมฯ ให้ถูกต้อง
การส่งออกทางอ้อม ในใบขนสินค้าขาออกจะต้องมีข้อความการโอนสิทธิ์การตัดบัญชีในใบขนฯ ให้กับบริษัทที่นำมาตัดบัญชี โดยมีรายละเอียดของข้อความดังนี้ “ขอโอนสิทธิ์การตัดบัญชีวัตถุดิบให้กับบริษัท............Model............ปริมาณ.........หน่วย..............” หากไม่มีข้อความการโอนสิทธิ์จะไม่สามารถใช้ตัดบัญชีได้
โดยทั้งสองกรณีสามารถนำเอกสารมาตัดบัญชีวัตถุดิบได้เช่นกัน
- ราคา เอฟ.โอ.บี. และราคา ซี.ไอ.เอฟ. คืออะไร
-
ตอบ :
ตามประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 79/1 ระบุไว้ว่า
- | ราคา เอฟ.โอ.บี. (Free On Board) ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออก โดยไม่รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ |
- | ราคา ซี.ไอ.เอฟ. (Cost, Insurance and Freight) ได้แก่ ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัย และค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร |
- หากบริษัท A นำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น โดยใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 36 ต่อมาจะขอโอนวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นดังกล่าวให้กับบริษัท B ซึ่งได้รับสิทธิและประโยชน์มาตรา 36 เช่นเดียวกัน สามารถทำได้หรือไม่
-
ตอบ :
ผู้ประกอบการที่นำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น โดยใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 สามารถที่จะขอโอนรายการวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการหรือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1. | โครงการที่โอนและโครงการที่รับโอน ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ และยังมีสิทธิ์ในการนำเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ตามมาตรา 36 โดยตรวจสอบจากบัตรส่งเสริมฯ ของผู้โอนและผู้รับโอน ในกรณีที่ผู้โอนมีระยะเวลาในการนำเข้าวัตถุดิบฯ สิ้นสุดแล้ว จะต้องดำเนินการโอนวัตถุดิบฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบฯ |
2. | โครงการที่โอนและโครงการที่รับโอน ต้องไม่เป็นโครงการที่ขอรวมบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (Merge Stock) |
3. | โครงการที่รับโอน ต้องมีชื่อวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นเดียวกันกับโครงการที่โอน วัตถุดิบที่จะโอนจะต้องเป็นวัตถุดิบชนิดเดียวกันกับวัตถุดิบที่ผู้รับโอนมีสิทธิ์นำเข้า ตามที่ได้รับอนุมัติในบัญชีรายการ และปริมาณวัตถุดิบตามมาตรา 36 (1) |
4. | ปริมาณคงเหลือ (Balance) ของโครงการที่โอน และปริมาณสิทธิ์นำเข้าคงเหลือ (Available Quota) ของโครงการที่รับโอน จะต้องมีเพียงพอสำหรับการโอนวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น |
5. | ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้โอนวัตถุดิบ ผู้โอนจะต้องนำหนังสือแจ้งการอนุญาตให้โอนวัตถุดิบ ไปดำเนินการปรับยอดวัตถุดิบของผู้โอนและผู้รับโอน ที่สมาคมสโมสรนักลงทุนในคราวเดียวกัน หากไม่ไปดำเนินการภายใน 1 เดือน จะถือว่าการอนุญาตให้โอนวัตถุดิบนั้นถูกยกเลิกไป สำหรับภาระภาษีรายการวัตถุดิบฯ ที่ทำการโอนนั้น ยังเป็นของโครงการที่โอน (ผู้นำเข้า) จนกว่าโครงการที่รับโอน จะทำการส่งออกสินค้า ตัดบัญชี และโอนสิทธิ์กลับมาให้กับโครงการที่โอน เพื่อนำไปตัดบัญชี |
- ถ้าบริษัท A ได้นำเข้าวัตถุดิบโดยใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 ต่อมาได้ขออนุญาตโอนวัตถุดิบนั้น ให้แก่บริษัท B ซึ่งได้รับการส่งเสริมฯ และได้สิทธิและประโยชน์มาตรา 36 เช่นเดียวกัน แต่หากบริษัท B ไม่ได้นำวัตถุดิบดังกล่าวไปผลิตเพื่อส่งออกตามเงื่อนไขวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งบริษัทจะต้องรับผิดชอบชำระภาษีอากรตามสภาพ ณ วันนำเข้า ในกรณีนี้ หากบริษัท B จะขอโอนวัตถุดิบคืนให้แก่บริษัท A จะสามารถทำได้หรือไม่
-
ตอบ :
บริษัทผู้รับโอนสามารถโอนวัตถุดิบที่ใช้ไม่หมดคืนให้แก่บริษัทผู้โอนได้
- e-Paperless คืออะไร
-
ตอบ :
e-Paperless หรือ ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร คือ ระบบการให้บริการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องใช้เอกสารในส่วนที่ต้องใช้สำแดงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเบื้องต้น เช่น ใบขนสินค้า และบัญชีราคาสินค้า (Invoice) เป็นต้น และมีการใช้เทคโนโลยี PKI (Public Key Infrastucture) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาใช้ แทนการลงลายมือชื่อในกระดาษ พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ (Process Redesign) เพื่อลดขั้นตอนในการให้บริการด้วยระบบศุลกากรไร้เอกสาร มีประโยชน์ในการลดความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูล ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็ว
- การขออนุญาตนำของเข้ามาเพื่อส่งออกตามมาตรา 36 (2) มีวิธีการอย่างไร
-
ตอบ :
มาตรา 36 (2) เป็นการนำของเข้ามา เพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ แล้วส่งออกกลับไป เช่น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้การส่งออกกลับไป ของที่นำเข้ามานั้นจะ
ต้องอยู่ในสภาพเดิม สำหรับวิธีปฏิบัติ มีดังนี้
- | ขออนุมัติบัญชีรายการของที่จะนำเข้า พร้อมขออนุมัติปริมาณสต็อกสูงสุด โดยจะพิจารณาถึงระยะเวลาของการใช้สิทธิและประโยชน์ รายการของ ความสัมพันธ์ของของนั้นกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ลักษณะของการส่งออก และความเหมาะสมของปริมาณสต็อกสูงสุดซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับกำลังการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมฯ |
- | ขออนุมัติสั่งปล่อย ซึ่งจะเป็นการสั่งปล่อยเช่นเดียวกับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นมาตรา 36 (1) |
- | การตัดบัญชีจะเป็นการตัดบัญชีเช่นเดียวกับการตัดบัญชีวัตถุดิบ แต่ไม่ต้องใช้สูตรการผลิตมาคำนวณ เนื่องจากของที่นำเข้ามามิได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ |
- การนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่
-
ตอบ :
หากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิตและส่งออก จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ไม่ได้เป็นสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน แต่เป็นไปตามประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การวางประกัน และการถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ระบุให้ใช้หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นเสมือนหนังสือค้ำประกัน แทนหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ และใช้หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานในการถอนค้ำประกันด้วย
ในหนังสือจะต้องรับรองว่าวัตถุดิบดังกล่าว เป็นของที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ และขอให้สั่งถอนประกันดังกล่าว วัตถุดิบนั้นจะต้องนำเข้า เพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น กรณีวัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อใช้ทั้งในการผลิตเพื่อการส่งออก และเพื่อขายภายในราชอาณาจักรด้วย ให้วางค้ำประกันและถอนประกันได้ เฉพาะวัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อใช้ในการผลิต เพื่อการส่งออกตามจำนวนที่บีโอไอรับรองเท่านั้น
ประกาศฉบับนี้ไม่รวมถึงวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่นำเข้าตามมาตรา 30 ซึ่งหากมีการนำเข้า จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2555)
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม 2555
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1
- หากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาแล้วโดยใช้สิทธิ์ตามมาตรา 36 ต่อมาไม่ต้องการจะใช้วัตถุดิบนั้น บริษัทสามารถส่งคืนวัตถุดิบกลับไปต่างประเทศได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร
-
ตอบ :
หากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้วัตถุดิบนั้นในการผลิต บริษัทสามารถขอส่งวัตถุดิบออกไปต่างประเทศได้
โดยจะต้องยื่นหนังสือต่อบีโอไอ เพื่อขออนุมัติส่งวัตถุดิบออกไปต่างประเทศ พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือสั่งปล่อยวัตถุดิบที่จะขอส่งออกไปต่างประเทศ และอินวอยซ์ขาเข้า
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องยื่นขออนุมัติส่งออกวัตถุดิบ ภายในช่วงเวลาที่ได้รับสิทธิประโยชน์นำเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 36 หากกรณีที่ระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบสิ้นสุดลงแล้ว ให้บริษัทยื่นขออนุมัติส่งออกวัตถุดิบภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดสิทธิประโยชน์การนำเข้าวัตถุดิบ
- หากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ นำเข้าวัตถุดิบมาแล้วโดยใช้สิทธิ์มาตรา 36 ต่อมาต้องการจะจำหน่ายวัตถุดิบนั้นให้กับบริษัทที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ จะสามารถทำได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถจำหน่ายได้ โดยบริษัทจะต้องชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบนั้นก่อน
- หากบริษัทนำวัตถุดิบเข้ามาโดยใช้สิทธิ์มาตรา 36 แล้ว ต่อมาต้องการโอนวัตถุดิบนั้นให้แก่บริษัทอื่น จะสามารถทำได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถกระทำได้ หากบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอน เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ และยังคงมีสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 (1) อยู่ รายการวัตถุดิบที่ขอรับโอน จะต้องเป็นวัตถุดิบที่ผู้รับโอนมีสิทธิ์นำเข้าจากต่างประเทศ ตามที่ได้รับอนุมัติในบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น และผู้รับโอนจะต้องนำวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นดังกล่าว ไปผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขวิธีการและระยะเวลาที่บีโอไอกำหนด โดยหากไม่สามารถปฏิบัติได้ จะต้องรับผิดชอบชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นนั้น ตามสภาพ ณ วันที่นำเข้า
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องนำหนังสืออนุญาตให้โอนวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นจากบีโอไอ ไปแสดงต่อสมาคมสโมสรนักลงทุนภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อดำเนินการปรับยอดวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นของผู้โอนและผู้รับโอน และปริมาณวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่รับโอน จะต้องมีปริมาณรวมกับที่มีอยู่ในบัญชีแล้วไม่เกินปริมาณสต็อกสูงสุด
- การโอนวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น จะต้องยื่นเอกสารอะไรบ้าง
-
ตอบ :
การโอนวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ตามมาตรา 36 (1) บริษัทจะต้องยื่นเอกสาร ดังนี้
1. | แบบคำขอโอนวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้า ตามมาตรา 36 (1) (F IN RM 39) |
2. | บัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ขอโอน - รับโอนตามมาตรา 36 (1) (F IN RM 42) ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องประทับตราลงนามในเอกสารบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่ขอโอน - รับโอนตามมาตรา 36 (1) ตามแบบ F IN RM 42 เอกสารจึงจะสมบูรณ์ |
3. | หนังสือขอรับโอนวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (F IN RM 40) พร้อมทั้งบัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ขอโอน - รับโอน ตามมาตรา 36 (1) (F IN RM 42) |
4. | สำเนาบัตรส่งเสริมการลงทุนของผู้รับโอน |
5. | สำเนาหนังสือสั่งปล่อย และสำเนาอินวอยซ์ของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ขอโอน |
6. | สำเนาหนังสือสั่งปล่อยวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ฉบับล่าสุดของผู้รับโอน |
7. | ใบรายงานยอดวัตถุดิบคงเหลือของผู้โอน ซึ่งออกโดยสมาคมสโมสรนักลงทุน |
8. | ใบรายงานยอดวัตถุดิบคงเหลือของผู้รับโอน ซึ่งออกโดยสมาคมสโมสรนักลงทุน |
| หมายเหตุ เอกสารทุกแผ่นจะต้องมีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม |
- หากบริษัทต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นเข้ามาก่อนได้รับบัตรส่งเสริมฯ จะสามารถใช้สิทธิ์ตามมาตรา 36 ได้หรือไม่
-
ตอบ :
หากบริษัทได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมฯ และตอบรับมติแล้ว และอยู่ระหว่างการออกบัตรส่งเสริมฯ ถ้าต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบมาในระหว่างนี้ก็สามารถทำได้ โดยใช้การขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น โดยบีโอไอจะอนุมัติให้ใช้การค้ำประกันอากรขาเข้าเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี
ในกรณีอื่น อาจจะใช้การขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นได้ เช่น หากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาจนเต็มปริมาณสต็อกสูงสุดแล้ว หากจะนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มเติมจะต้องชำระอากรขาเข้า บริษัทสามารถขอใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าได้เช่นกัน และเมื่อบริษัทมีการตัดบัญชีวัตถุดิบจนปริมาณสต็อกลดลงแล้ว จึงจะทำเรื่องขอสั่งปล่อยหรือขอถอนการใช้ธนาคารค้ำประกันในภายหลัง หรือการขอใช้ธนาคารค้ำประกันฯ กรณีจะนำวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นเข้ามา ระหว่างขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิต โดยจะต้องยื่นเรื่องขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิตก่อน หรือกรณีที่อยู่ระหว่างขอขยายเวลาการนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น
- การขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกัน แทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
-
ตอบ :
การขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นจะต้องยื่นเอกสาร ดังนี้
| กรณีก่อนออกบัตรส่งเสริมฯ |
1. | แบบคำขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (F IN IR 03) |
2. | สำเนาอินวอยซ์ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม จำนวน 2 ชุด |
3. | สำเนาแพคกิ้งลิสต์ (ถ้ามี) ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม จำนวน 2 ชุด |
4. | สำเนาหนังสือตอบรับมติให้การส่งเสริมฯ |
| กรณีมีบัตรส่งเสริมฯ แล้ว |
1. | แบบคำขอผ่อนผันใช้ธนาคารค้ำประกัน แทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น (F IN IR 04) |
2. | สำเนาอินวอยซ์ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม จำนวน 2 ชุด |
3. | สำเนาแพคกิ้งลิสต์ (ถ้ามี) ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม จำนวน 2 ชุด |
- การใช้การค้ำประกัน แทนการชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น สามารถขอขยายระยะเวลาได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถกระทำได้ หากบัญชีรายการสต็อกสูงสุดสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ยื่นขอไว้นั้น ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ที่ได้รับอนุญาตให้ค้ำประกันไว้แล้ว หรือกรณีที่การพิจารณาขยายเวลา การใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงขั้นแก้ไขบัตรส่งเสริมฯ ได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ค้ำประกันไว้แล้ว
- การขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 36 มีวิธีการอย่างไร จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
-
ตอบ :
เมื่อบริษัทใช้สิทธิประโยชน์ใกล้จะสิ้นสุดแล้ว และต้องการที่จะได้รับสิทธิ์นี้ต่อ บริษัทจะต้องยื่นคำขอขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบ (ควรจะยื่นในขณะที่ระยะเวลานำเข้ายังไม่หมด หรือหากสิ้นสุดเวลานำเข้าวัตถุดิบแล้ว จะต้องยื่นภายในไม่เกิน 6 เดือน) เอกสารประกอบการยื่นขอขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบ มีดังนี้
1. | หนังสือขออนุมัติขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบ ตามมาตรา 36 |
2. | แบบคำขอขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 36 (F IN ER 06) โดยกรอกข้อมูลเฉพาะในส่วนของบริษัทเท่านั้น |
3. | แบบรายงานการนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นในรอบปีที่ผ่านมา และปริมาณคงเหลือ (F IN ER 10) |
4. | MML (Material Master List) จากสมาคมสโมสรนักลงทุน |
5. | สำเนาหนังสือสั่งปล่อยฉบับล่าสุด (กรณีการขอขยายเวลานำเข้าครั้งที่ 1 เท่านั้น) |
6. | สำเนาบัตรส่งเสริมฯ ฉบับแรก หรือฉบับสุดท้ายของมาตรา 36 (กรณีขยายเวลานำเข้าครั้งที่ 2 ขึ้นไป) |
บีโอไอจะพิจารณารายละเอียดข้อมูลปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบ ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ (แยกเป็นปริมาณส่งออกที่ตัดบัญชีวัตถุดิบแล้ว ปริมาณส่งออกที่รอการตัดบัญชีวัตถุดิบ ปริมาณที่รอการส่งออก) ปริมาณการใช้วัตถุดิบคำนวณตามสูตรการผลิต ปริมาณวัตถุดิบที่สูญเสียจากการผลิต (ถ้ามี) ปริมาณวัตถุดิบส่งคืน (ถ้ามี) ของรอบปีที่ผ่านมา ว่าถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ และอาจจะไปตรวจสอบที่โรงงานของบริษัท เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
- หากบริษัทต้องการใช้วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาใช้ในการผลิตสินค้า สามารถทำได้หรือไม่
-
ตอบ :
ปกติแล้วบริษัทต้องมีกระบวนการผลิตเต็มตามที่ได้รับการส่งเสริมฯ แต่หากมีความจำเป็นใช้วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปเข้ามาประกอบกับสินค้า บริษัทจะต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อลดขั้นตอนการผลิตก่อน โดยทั่วไปแล้วการขอลดขั้นตอนโดยการใช้วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปในกระบวนการผลิตดังกล่าว หากไม่มีผลกระทบต่อกำลังผลิต และสาระสำคัญของโครงการ บีโอไอจะอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาผลิตต่อได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณการผลิตจริงในแต่ละปี
- หากบริษัทยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมฯ หรือได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว แต่อยู่ระหว่างการยื่นขอสูตรการผลิตและปริมาณสต็อกสูงสุด บริษัทสามารถนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นมาโดยชำระอากรขาเข้าไปก่อน แล้วขอคืนอากรภายหลังได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถทำได้โดยบริษัทนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นโดยชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มไปตามปกติ และระบุที่ใบขนสินค้าขาเข้าว่าต้องการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 36 ในการยกเว้นอากรขาเข้า ต่อมาหากบริษัทได้รับบัตรส่งเสริมฯ และได้อนุมัติปริมาณสต็อกสูงสุดแล้ว สามารถยื่นเรื่องขออนุมัติสั่งปล่อยเพื่อยกเว้นอากรขาเข้า โดยแนบเอกสารดังต่อไปนี้
- | แบบคำขออนุมัติยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ |
- | สำเนาอินวอยซ์ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม |
- | สำเนาแพคกิ้งลิสต์ (ถ้ามี) ที่มีตราบริษัทประทับพร้อมลงนาม |
โดยนำไปยื่นที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC) เมื่อได้รับหนังสืออนุมัติสั่งปล่อยจาก IC แล้ว จึงจะไปทำเรื่องขอคืนอากรที่กรมศุลกากรต่อไป ทั้งนี้จะได้รับคืนเฉพาะอากรขาเข้าเท่านั้น
- หากบริษัทตั้งอยู่ในเขต Free Zone และได้รับการส่งเสริมฯ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ ทั้งของ Free Zone และของมาตรา 36 ของบีโอไอ ไปพร้อมกันได้หรือไม่
-
ตอบ :
ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้ ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ บริษัทจะต้องเลือกการใช้สิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ที่ตั้งในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือ มาตรา 36 ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน
(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2555)
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนธันวาคม 2554
โดย : คุณสถาปนา พรหมบุญ
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
สำนักบริหารการลงทุน 1
- วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นหมายถึงอะไร
-
ตอบ :
ตามประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.1/2546 ลงวันที่ 16 มกราคม 2546 เรื่อง คำจำกัดความของส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงโรงงานสำเร็จรูป วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ได้ระบุคำจำกัดความของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ไว้ดังนี้
วัตถุดิบ (Raw Material) หมายถึง ของที่ใช้ในการผลิต หรือผสม หรือประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางครั้งอาจไม่คงสภาพเดิมเมื่อผ่านกระบวนการแล้ว ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึง ของที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ด้วย
วัสดุจำเป็น (Essential Material) หมายถึง ของซึ่งจำเป็นต้องใช้และเมื่อใช้แล้วสิ้นเปลืองในการผลิต หรือผสม หรือประกอบเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐาน ช่วยลดการสูญเสีย และเพิ่มผลผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลดังกล่าว
- วัตถุดิบหมุนเวียนและวัตถุดิบไม่หมุนเวียน คืออะไร
-
ตอบ :
วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น อาจแบ่งได้เป็น วัตถุดิบหมุนเวียน และวัตถุดิบไม่หมุนเวียน ดังนี้
วัตถุดิบหมุนเวียน (Revolving - Stock Material) หมายถึง วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาโดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 เพื่อผลิตเป็นสินค้าตามกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติให้กาส่งเสริมฯ ตามปกติ สามารถนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรขาเข้าได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 แต่จะต้องมีปริมาณถือครองสะสมไม่เกินกว่าปริมาณสต็อกสูงสุดที่ได้รับอนุมัติ และเมื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าส่งออก สามารถนำปริมาณการใช้วัตถุดิบที่ผลิตเพื่อการส่งออก ไปตัดบัญชีเพื่อหักลบยอดปริมาณถือครองได้
ในกรณีที่มีปริมาณถือครองครบตามปริมาณสต็อกสูงสุดแล้ว จะไม่สามารถสั่งปล่อยได้อีก แต่สามารถขอใช้ธนาคารค้ำประกันอากรขาเข้าของวัตถุดิบดังกล่าวได้ และเมื่อมีการผลิตส่งออกและตัดบัญชี เพื่อหักลบปริมาณถือครองลง ก็สามารถนำวัตถุดิบที่ใช้ธนาคารค้ำประกันไว้มาขอสั่งปล่อยเพื่อถอนธนาคารค้ำประกันได้
วัตถุดิบไม่หมุนเวียน (Non – Revolving - Stock Material) ได้แก่ วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นทุกชนิดที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30 และวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรา 36 แต่เป็นการผ่อนผันให้นำเข้าในปริมาณที่จำกัด หรือผ่อนผันให้นำเข้าเป็นการชั่วคราว ถือเป็นวัตถุดิบประเภทไม่หมุนเวียน คือ เมื่อมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในช่วงเวลานั้นแล้ว จะไม่สามารถสั่งปล่อยหรือใช้ธนาคารค้ำประกันภาษีได้อีก แม้ว่าจะมีการตัดบัญชีเพื่อลดยอดปริมาณถือครองหรือไม่ก็ตาม
- สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมฯ มาตรา 36 (1) และ 36 (2) ต่างกันอย่างไร
-
ตอบ :
มาตรา 36 (1) หมายถึง การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก ส่วนมาตรา 36 (2) หมายถึง การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ นำเข้ามาเพื่อส่งออกกลับไป เช่น การนำเข้าของ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างแล้วส่งกลับคืน เป็นต้น
- สิทธิประโยชน์มาตรา 36 (1) และ (2) มีกำหนดระยะเวลา
ที่ได้รับสิทธิ์หรือไม่
-
ตอบ :
ระยะเวลาการได้รับสิทธิ์ขึ้นอยู่กับเขตที่ตั้ง โครงการที่ตั้งอยู่ในเขต 1 และ เขต 2 จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกเป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนโครงการที่ตั้งในเขต 3 จะได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลา 5 ปี
- สิทธิประโยชน์มาตรา 36 (1) และ (2) สามารถขอขยายเวลาได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถขอขยายเวลาได้ โดยควรยื่นขอขยายเวลาตั้งแต่ระยะเวลานำเข้ายังไม่หมด หรือหมดแล้วแต่ยังไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันรับเรื่องขอขยายเวลา โดยบีโอไอจะอนุมัติให้ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้สิทธิ์ได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทควรจะยื่นขอขยายเวลาก่อนที่สิทธิประโยชน์ของบริษัทจะสิ้นสุดลง
- หากบริษัทนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้าแล้วจำหน่ายให้กับบริษัทภายในประเทศ เพื่อนำไปผลิตต่อ แล้วส่งออก กรณีนี้สามารถใช้สิทธิ์ในการยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบได้หรือไม่
-
ตอบ :
การดำเนินการดังกล่าว เป็นการส่งออกทางอ้อมซึ่งสามารถกระทำได้ ในกรณีนี้จะต้องจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 เช่นกัน
- หากบริษัทต้องการใช้สิทธิประโยชน์มาตรา 36 จะต้องดำเนินการอย่างไร
-
ตอบ :
บริษัทจะต้องยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตและปริมาณสต็อกสูงสุดที่บีโอไอก่อน ส่วนขั้นตอนการขอสั่งปล่อยหรือตัดบัญชีวัตถุดิบ จะต้องไปดำเนินการที่สมาคมสโมสรนักลงทุน โดยบริษัทจะต้องยื่นใบสมัครเพื่อสั่งปล่อย และตัดบัญชีวัตถุดิบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ RMTS และนำบัญชีรายการวัตถุดิบ ปริมาณสต็อกสูงสุด สูตรการผลิตที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ บันทึกข้อมูลลงในแผ่นบันทึกข้อมูล แล้วส่งให้กับสมาคมฯ การขอสั่งปล่อยนี้ สามารถยื่นผ่านระบบ Modem หรือระบบ Import Online ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทจะต้องได้รับการอบรมก่อนการใช้บริการ
- สูตรการผลิตคืออะไร
-
ตอบ :
สูตรการผลิต หมายถึง ปริมาณการใช้รวมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้สุทธิต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น รวมกับปริมาณส่วนสูญเสีย (หากมี) สูตรการผลิตจะใช้ในการพิจารณาตัดบัญชีวัตถุดิบเมื่อมีการส่งออก บริษัทที่ได้รับส่งเสริมฯ ต้องขออนุมัติสูตรการผลิตของผลิตภัณฑ์ทุกๆ แบบที่จะผลิตเพื่อส่งออก มิฉะนั้น จะไม่สามารถตัดบัญชีวัตถุดิบได้
- ปริมาณสต็อกสูงสุดหมายถึงอะไร
-
ตอบ :
ปริมาณสต็อกสูงสุด หมายถึง จำนวนหรือปริมาณของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ที่พอเพียงสำหรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมฯ ตามกำหนดระยะเวลาที่บีโอไออนุมัติ โดยจะอนุมัติให้เป็นปริมาณของการใช้กำลังผลิตจำนวน 6 เดือน ที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ
- การขออนุมัติสูตรการผลิตและปริมาณสต็อกสูงสุดใช้เวลาเท่าไร
-
ตอบ :
การขออนุมัติสูตรการผลิต และ/หรือ ปริมาณสต็อกสูงสุด ตามมาตรา 36 บีโอไอจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันทำการ
- การสั่งปล่อยและตัดบัญชีวัตถุดิบใช้เวลาเท่าไร
-
ตอบ :
การสั่งปล่อยวัตถุดิบ และตัดบัญชีวัตถุดิบ จะดำเนินการที่สมาคมสโมสรนักลงทุน โดยการสั่งปล่อยฯ จะใช้เวลาภายใน 3 ชั่วโมงทำการ ส่วนการตัดบัญชีวัตถุดิบนั้น จะใช้เวลาดำเนินการภายใน 3 วันทำการ
- การขออนุมัติสูตรการผลิตและปริมาณสต็อกสูงสุดใช้เอกสารอะไรบ้าง
-
ตอบ :
การขออนุมัติสูตรการผลิต และ/หรือ ปริมาณสต็อกสูงสุด ตามมาตรา 36 จะใช้เอกสารดังนี้
- | หนังสือของบริษัทแจ้งความประสงค์และราย
ละเอียด |
- | รายละเอียดสูตรและปริมาณการใช้แต่ละแบบ
จำนวน 2 ชุด |
- | บัญชีแสดงรายการและปริมาณสต็อกสูงสุด
จำนวน 2 ชุด |
- | ภาพผลิตภัณฑ์ หรือพิมพ์เขียว หรือตัวอย่าง (ถ้ามี) |
การขอสูตรการผลิตอย่างเดียว ไม่ใช้เอกสารในข้อ 3 และเอกสารทุกแผ่นต้องลงนาม พร้อมประทับตราของบริษัท และยื่นที่สำนักบริหารการลงทุน 1- 4 ที่เกี่ยวข้อง
- การกำหนดวันที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์มาตรา 36 ครั้งแรก มีหลักเกณฑ์อย่างไร
-
ตอบ :
หลักเกณฑ์การกำหนดวันที่เริ่มใช้สิทธิ์ครั้งแรก มีดังนี้
- | จะต้องได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว |
- | จะต้องไม่เป็นวันที่ก่อนได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมฯ |
- | จะต้องแสดงหลักฐานการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้ในโครงการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ |
| ・ | รายงานการนำเข้าเครื่องจักรโดยระบบ eMT |
| ・ | สำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่แสดงการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ โดยชำระภาษีอากร |
| ・ | สำเนาใบเสร็จรับเงินในกรณีที่ซื้อเครื่องจักรในประเทศ |
- | จะต้องแสดงหลักฐานการนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องการใช้สิทธิ์เป็นงวดแรก เช่น |
| ・ | สำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่แสดงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยชำระภาษีอากร หรือใช้ธนาคารค้ำประกัน หรือ |
| ・ | สำเนาหลักฐานการสั่งซื้อวัตถุดิบ หรือสำเนาอินวอยซ์ เป็นต้น |
- | เมื่อกำหนดวันที่เริ่มใช้สิทธิ์ครั้งแรกแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มใช้สิทธิ์ได้อีก เว้นแต่จะยังไม่ได้สั่งปล่อยวัตถุดิบ / สั่งปล่อยถอนธนาคารค้ำประกัน / สั่งปล่อยคืนอากรเท่านั้น |
- | กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ นำเข้าวัตถุดิบโดยการชำระอากรขาเข้าไปก่อน หรือใช้ธนาคารค้ำประกันอากรขาเข้าไว้ จะต้องกำหนดวันที่เริ่มใช้ครั้งแรกให้ครอบคลุมย้อนหลังไปจนถึงวันที่นำวัตถุดิบนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร มิฉะนั้น จะไม่สามารถสั่งปล่อยเพื่อขอคืนอากรขาเข้าหรือถอนธนาคารค้ำประกันได้ |
- การขออนุมัติสูตรการผลิต จำเป็นจะต้องรวมรายการวัตถุดิบที่ซื้อภายในประเทศด้วยหรือไม่
-
ตอบ :
การยื่นสูตรการผลิต ควรรวมรายการวัตถุดิบให้ครบถ้วน เพื่อให้สูตรการผลิตมีความสมบูรณ์ โดยควรรวมรายการวัตถุดิบที่นำเข้า และรายการวัตถุดิบที่ซื้อภายในประเทศไว้ด้วยกัน
โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการโอนสิทธิ์ สำหรับการตัดบัญชีวัตถุดิบที่ซื้อในประเทศ แต่หากไม่ต้องนำมาตัดบัญชี ก็ให้ระบุว่าเป็นวัตถุดิบที่ซื้อในประเทศ ไม่นำมาตัดบัญชี
- สูตรการผลิตที่ได้รับอนุมัติแล้ว สามารถขอแก้ไขภายหลังได้หรือไม่
-
ตอบ :
สามารถขอแก้ไขได้ ในหลายกรณี เช่น แก้ไขปริมาณการใช้วัตถุดิบต่อหน่วย แก้ไขชนิดรายการวัตถุดิบโดยเพิ่มการนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป หรือแก้ไขเพิ่มเติมชื่อวัตถุดิบ เป็นต้น
การขอแก้ไขสูตรการผลิต และ/หรือปริมาณสต็อกสูงสุด จะต้องยื่นเอกสารดังนี้
- | หนังสือของบริษัทแจ้งความประสงค์และรายละเอียด |
- | รายละเอียดการขอแก้ไขสูตรการผลิตแต่ละแบบ จำนวน 2 ชุด |
- | บัญชีขอแก้ไขแสดงรายการและปริมาณอนุมัติสูงสุด (รวม) จำนวน 2 ชุด |
- | ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ หรือพิมพ์เขียว หรือตัวอย่าง (ถ้ามี) |
สำหรับการขอแก้ไขสูตรการผลิตอย่างเดียว ไม่ใช้เอกสารในข้อ 3 และเอกสารทุกแผ่นต้องลงนาม พร้อมประทับตราของบริษัท
(ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2555)
หน้าแรก
|
เว็บบอร์ด
|
อ่านกระทู้ถามตอบ
|