Home | สาระน่ารู้

กรุณาตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

ค่าบริการวิศวกรรม และความผิดตามกฎหมายศุลกากร

ความผิดตามกฎหมายศุลกากร

      ประกอบด้วยความผิด 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. การหลีกเลี่ยงภาษี
          หมายถึง การสำแดงราคา ปริมาณ รายการสินค้า หรืออื่นๆ เช่น แหล่งกำเนิด ฯลฯ อันเป็นเท็จ ซึ่งทำให้ภาษีอากรที่รัฐควรจัดเก็บหรือยกเว้น/ลดหย่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง

          กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำผิดโดยสุจริต ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี สามารถทำความตกลงกับกรมศุลฯ เพื่อขอระงับคดีไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นศาลได้ โดยจะต้องชำระเงิน 2 เท่าของอากรส่วนที่ขาด และ 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม/ภาษีสรรพสามิตส่วนที่ขาด และดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่ม

  2. การลักลอบ
          หมายถึง การนำสินค้าผ่านแดนโดยไม่แจ้งศุลกากร เช่น การนำของติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร (Hand Carry) หรือการรับของที่ส่งมาจากนอกราชอาณาจักรที่เป็นไปรษณีย์ด่วน (คูเรียร์) โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นต้น

          การลักลอบนำเข้ามีความผิดริบของ และปรับ 3 เท่าของราคาสินค้าบวกอากร และถูกดำเนินคดีในชั้นศาล

          แต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำผิดโดยสุจริต ไม่มีเจตนาจะลักลอบ สามารถทำความตกลงกับกรมศุลฯ เพื่อขอระงับคดีไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นศาลได้ โดยจะต้องชำระค่าปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของราคาสินค้าบวกอากร และ 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม และดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่ม


การทำความตกลงเพื่อขอระงับคดี

      การที่กรมศุลกากรจะยินยอมให้ทำความตกลงเพื่อขอระงับคดีนั้น จะต้องไม่เข้าข่ายพฤติกรรม ดังนี้

  1. ไม่เคยกระทำผิดซ้ำซาก
  2. ไม่มีการปลอมแปลงเอกสาร
  3. ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางการจับกุม

วิธีการประเมินราคาสินค้าของกรมศุลกากร

      ในการประเมินราคาสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กรมศุลกากรจะประเมินราคาตามราคาที่มีการซื้อขายกันจริง (Transaction Value) แต่ทั้งนี้ จะพิจารณาแนวทางตามหลักเกณฑ์ข้อ 1-6 ประกอบด้วย ดังนี้

  1. ผู้ซื้อและผู้ขายต้องเป็นผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการเบี่ยงเบนในการกำหนดราคา เช่น เป็นบริษัทแม่-ลูก ซึ่งทำให้มีการซื้อขายกันราคาที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ
  2. เปรียบเทียบกับราคาซื้อขายสินค้าชนิดเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
  3. เปรียบเทียบกับราคาซื้อขายสินค้าที่คล้ายคลึงกัน
  4. คำนวณโดยวิธี Deductive (การหักลบค่าใช้จ่าย) คือ พิจารณาจากบัญชีของบริษัทว่า ของที่นำเข้ามานั้นจำหน่ายไปในราคาใด มีค่าใช้จ่ายอย่างไร และมีกำไรมาตรฐานเท่าใด เป็นต้น เพื่อนำไปหักลบจากยอดขาย และคำนวณย้อนกลับเป็นราคาต้นทุนของสินค้านำเข้า
  5. คำนวณโดยวิธี Computed Value คือ คำนวณหาราคาต้นทุนของสินค้านำเข้า โดยเปรียบเทียบจากค่าออกแบบ ค่า know-how ค่าต้นทุนวัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อคำนวณหาราคาของสินค้านำเข้า
          --> วิธีนี้ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์สูง กรมศุลกากรไม่ประกาศใช้วิธีประเมินราคาด้วยวิธีนี้
  6. เมื่อใช้วิธีที่ 1-5 แล้วยังไม่สามารถประเมินราคาสินค้าได้ ให้ย้อนกลับไปประเมินใหม่โดยวิธีที่ 1-5 อีกครั้งหนึ่ง โดยวิธีผ่อนปรนเงื่อนไขมากขึ้น

การประเมินราคาสินค้าและค่าบริการ

      กรณีที่บริษัท A ซื้อสินค้าจากบริษัท B และนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยตรง ราคาที่ A-B ซื้อขายกัน ย่อมนำมาประเมินเป็นราคาของสินค้านำเข้านั้น

      แต่ในกรณีที่บริษัท A ไม่ได้ซื้อจากบริษัท B โดยตรง เช่น ซื้อผ่านบริษัท B1 ในต่างประเทศ ราคาที่จะนำมาประเมินเป็นราคาของสินค้านำเข้านั้น จะต้องประเมินราคาค่าบริการ โดยพิจารณาสถานะของ B1 ประกอบด้วย เช่น

  1. กรณีที่ B1 เป็นตัวแทนจำหน่ายของ B
          ราคาที่จะนำมาประเมินเป็นราคาสินค้าที่ A นำเข้า คือ จำนวนเงินทั้งหมดที่ A ชำระให้แก่ B และ B1 (ไม่ว่าจะรวมจ่ายให้กับ B หรือ B1 ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือแยกจ่ายให้กับทั้ง A และ B ทั้ง 2 ทางก็ตาม)
  2. กรณีที่ B1 เป็นตัวแทนในการจัดซื้อของ A
          ราคาที่จะนำมาประเมินเป็นราคาสินค้าที่ A นำเข้า คือ จำนวนเงินที่ A ชำระให้แก่ B โดยตรง
  3. กรณีที่ B1 เป็นคนกลางที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของทั้ง A และ B
          ราคาที่จะนำมาประเมินเป็นราคาสินค้าที่ A นำเข้า คือ จำนวนเงินที่ A ชำระเป็นค่าสินค้าให้แก่ B และเงินที่ A ชำระให้กับ B1 เป็นค่า Commission รวมกัน

ค่าสินค้าและค่าออกแบบ

      ในการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบ บางครั้งผู้ประกอบการอาจจะต้องว่าจ้างให้บริษัทอื่นออกแบบเครื่องจักรหรือวัตถุดิบนั้นให้ด้วย ค่าออกแบบนี้ถือเป็น "ค่าบริการทางวิศวกรรม" ซึ่งในบางกรณีจะต้องรวมคำนวณเพื่อประเมินเป็นฐานราคาของเครื่องจักรหรือวัตถุดิบนั้นๆ ด้วย ดังนี้

  1. ซื้อแบบภายในประเทศ แล้วส่งไปว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ผลิตเครื่องจักร/วัตถุดิบให้
    -เมื่อนำเครื่องจักร/วัตถุดิบเข้ามา ไม่ต้องนำค่าออกแบบมารวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักร/วัตถุดิบนั้น เนื่องจากค่าออกแบบเป็นบริการที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
  2. ซื้อแบบจากต่างประเทศ แล้วนำแบบเข้ามาเพื่อผลิตเครื่องจักร/วัตถุดิบภายในประเทศ
    กรณีนี้เป็นการซื้อบริการจากต่างประเทศ จึงจะต้องชำระอากรขาเข้าตามชนิดของสื่อที่บรรจุแบบนั้นเข้ามา เช่น
    2.1กรณีซื้อทาง Internet
    ไม่มีภาระอากรขาเข้า แต่บริษัทต้องมีหลักฐานเพื่อชี้แจงในภายหลังได้ หากมีการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
    2.2กรณีเป็นอยู่ในรูปของ Magnetic Tape, CD, แบบพิมพ์เขียว ฯลฯ
    จะต้องชำระภาษีอากรตามพิกัดของสื่อที่บรรจุแบบนั้น
  3. ซื้อแบบจากต่างประเทศ แล้วส่งแบบนั้นไปว่าจ้างผลิตเครื่องจักร/วัตถุดิบในประเทศที่ 3 โดยไม่นำแบบนั้นเข้ามาในประเทศ
    -เมื่อนำเครื่องจักร/วัตถุดิบเข้ามา จะต้องนำค่าแบบมารวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักร/วัตถุดิบนั้นๆ ด้วย โดยใช้วิธีเฉลี่ยราคา
          เช่น หากว่าจ้างออกแบบ 1 ล้านบาท แล้วส่งแบบไปว่าจ้างผลิตเครื่องจักร 2 เครื่อง เครื่องละ 10 ล้านบาท เมื่อนำเครื่องจักรเข้ามาก็จะต้องสำแดงราคาเครื่องจักร เครื่องละ 10.5 ล้านบาท
  4. ซื้อแบบเข้ามาพร้อมกับเครื่องจักร/วัตถุดิบ
    -จะต้องชำระภาษีอากรค่าแบบ ตามพิกัดของประธาน (เครื่องจักร/วัตถุดิบนั้นๆ)
  5. กรณีนำแบบเข้ามาก่อน แล้วจึงนำเครื่องจักร/วัตถุดิบเข้ามาภายหลัง
    -มีวิธีปฏิบัติ 2 วิธี คือ
    5.1เมื่อนำแบบเข้ามา ให้ชำระภาษีอากรของแบบ ตามแนวทางที่ 2.1 หรือ 2.2 จากนั้น เมื่อนำเครื่องจักร/วัตถุดิบเข้ามา ให้ชำระภาษีอากรเครื่องจักร/วัตถุดิบตามพิกัดของสินค้านั้นๆ โดยไม่ต้องนำค่าแบบมารวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักร/วัตถุดิบอีก
    5.2กรณีที่ไม่แน่ใจว่า แบบที่นำเข้ามานั้นจะต้องชำระภาษีอากรตามพิกัดของประธานตามแนวทางข้อ 4 หรือไม่ ให้ชำระภาษีอากรของแบบ ตามแนวทางที่ 2.1 หรือ 2.2 ไว้ก่อน โดยทำใบขนประเภทแยกเที่ยวเรือ จากนั้น เมื่อนำเครื่องจักร/วัตถุดิบเข้ามาแล้ว ให้ติดต่อกรมศุลกากรเพื่อให้ทำการตรวจสอบ เพื่อทำการรวมใบขน และประเมินพิกัดภาษีใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ค่าสินค้าและค่าติดตั้ง

      ในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ บางครั้งจะต้องมีการว่าจ้างให้ทำการติดตั้ง/ตรวจสอบเครื่องจักรนั้นด้วย ค่าบริการที่เป็นการติดตั้ง/ตรวจสอบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จะต้องรวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย ดังนี้

  1. สั่งซื้อเครื่องจักรจากบริษัท A (ต่างประเทศ) และจ้างหรือส่งไปให้บริษัท B (ต่างประเทศ) ติดตั้ง/ตรวจสอบให้ก่อน แล้วจึงนำเครื่องจักรนั้นเข้ามาในประเทศ
    -จะต้องนำค่าว่าจ้างติดตั้ง/ตรวจสอบที่ชำระให้กับบริษัท B มารวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักรที่นำเข้ามาด้วย
  2. สั่งซื้อเครื่องจักรจากบริษัท A (ต่างประเทศ) และว่าจ้างให้บริษัท A หรือ B (ต่างประเทศ) ส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้ง/ตรวจสอบเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ว่าจ้าง (ในประเทศ)
    -ไม่ต้องนำค่าว่าจ้างติดตั้ง/ตรวจสอบที่ชำระให้กับ A หรือ B มารวมคำนวณเป็นฐานราคาของเครื่องจักรที่นำเข้า เนื่องจากการติดตั้ง/ตรวจสอบนั้น เป็นบริการที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

วัตถุดิบ และค่าบริการทางวิศวกรรม

      ค่าบริการทางวิศวกรรมไม่ใช่มีเฉพาะกรณีของการนำเข้าเครื่องจักรเท่านั้น แต่วัตถุดิบหรือสินค้าอื่นๆ ก็อาจมีค่าบริการทางวิศวกรรมด้วย

      กรณีที่บริษัท A (ในประเทศ) จ้างให้บริษัท B (ต่างประเทศ) ผลิตแม่พิมพ์ให้ในราคา 1 ล้านบาท แล้วจ่ายเงินให้กับบริษัท B โดยไม่นำแม่พิมพ์เข้ามา แต่ให้ส่งแม่พิมพ์นั้นไปให้กับบริษัท C (ต่างประเทศ) เพื่อว่าจ้างผลิตวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนให้จำนวน 200,000 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 1 บาท แล้วจึงนำเข้าวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนนั้นเข้ามาในประเทศ

      ในกรณีเช่นนี้ กรมศุลกากรจะพิจารณาว่า วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท C ในราคาชิ้นละ 1 บาทนั้น จะต้องนำค่าแม่พิมพ์มาเฉลี่ยเป็นราคาที่แท้จริงของวัตถุดิบด้วยในราคาชิ้นละ 1,000,000 / 200,000 = 5 บาท ดังนั้น บริษัทจึงต้องสำแดงราคาวัตถุดิบที่นำเข้ามาในราคา 1+5 = 6 บาท

      ค่าบริการทางวิศวกรรมของวัตถุดิบนี้ ไม่ต้องแยกสั่งปล่อยเป็นรายการค่าบริการทางวิศวกรรมเช่นเดียวกับกรณีของเครื่องจักร กล่าวคือ ผู้ประกอบการสามารถสั่งปล่อยได้ภายใต้รายการของวัตถุดิบนั้นๆ โดยตรง แต่จะต้องสำแดงราคาของวัตถุดิบให้ครบถ้วนถูกต้อง


เครื่องจักร และค่าบริการวิศวกรรม

      ในกรณีที่บริษัท ก ในประเทศไทย จ้างให้บริษัท A ในประเทศญี่ปุ่น ออกแบบเครื่องจักรให้ โดยได้จ่ายเงินเป็นค่าจ้างออกแบบให้กับบริษัท A จำนวน 10 ล้านบาท

      จากนั้น บริษัท ก ได้ส่งแบบดังกล่าวไปว่าจ้างให้บริษัท B ในประเทศจีน ให้ผลิตเครื่องจักรให้ โดยมีราคาค่าว่าจ้างผลิตเครื่องจักรคิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท

      เมื่อบริษัท B ผลิตเครื่องจักรเสร็จ และส่งมอบให้กับบริษัท ก (ผู้ว่าจ้าง) บริษัท B ก็จะส่งอินวอยซ์ให้กับบริษัท ก โดยระบุรายละเอียดเป็นค่าเครื่องจักร มูลค่า 20 ล้านบาท ตามสัญญาว่าจ้างผลิต

      แม้ว่าบริษัท ก จะมีหลักฐานตามอินวอยซ์ว่านำเข้าเครื่องจักรจากประเทศจีนในราคา 20 ล้านบาทก็ตาม แต่กรมศุลกากรจะพิจารณาว่า มูลค่าที่แท้จริงของเครื่องจักรนี้ คือ 30 ล้านบาท โดยเป็นค่าเครื่องจักร 20 ล้านบาท และค่าออกแบบ 10 ล้านบาท ซึ่งค่าออกแบบนี้ ถือเป็นค่าบริการวิศวกรรม

      หากบริษัท ก เดินพิธีการโดยสำแดงราคาเครื่องจักรเพียง 20 ล้านบาทตามอินวอยซ์ และถูกตรวจพบ กรมศุลกากรจะพิจารณาว่าเป็นการสำแดงราคาอันเป็นเท็จ และบริษัท ก จะต้องชำระค่าปรับตามระเบียบกรมศุลกากร

      ค่าบริการวิศวกรรมนี้จะต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดอัตราเดียวกันกับเครื่องจักรรายการนั้นๆ แต่บริษัทผู้ได้รับส่งเสริมสามารถขอใช้สิทธิยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าได้เช่นเดียวกับเครื่องจักร


การยกเว้นลดหย่อน/อากรขาเข้าค่าบริการวิศวกรรม

      ในการขอใช้สิทธิยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับค่าบริการวิศวกรรม บริษัทจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับการใช้สิทธิยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร คือ จะต้องยื่นขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักร และยื่นขอสั่งปล่อยเช่นเดียวกัน โดยในการขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักร ให้ระบุรายละเอียด ดังนี้

  1. รายการ
    ให้ระบุเป็น ค่าบริการวิศวกรรมสำหรับเครื่อง .....
  2. ปริมาณ
    ให้ระบุเป็นมูลค่าตามสกุลเงินต่างประเทศที่ว่าจ้างออกแบบ เช่น 33 ล้านเยน เป็นต้น

กรุณาตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์


views 18,218
Total pageviews 4,415,114 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.