บีโอไอกับพัฒนาการอุตสาหกรรมยานยนต์
ที่มา : วารสารส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม 2559 กว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ด้วยสัดส่วนการส่งออกที่สูงกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท ทำให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 8 แสนล้านบาทต่อปี และมูลค่าเพิ่มการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในภาคการผลิตของประเทศ (Gross Domestic Product Originating From Manufacturing) รวมทั้งยังสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาอีกหลายประเภท และด้วยอัตราการใช้ชิ้นส่วนในประเทศในอัตราที่สูงและหลากหลาย โดยรถปิกอัพเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80 รถยนต์นั่งเฉลี่ยร้อยละ 45 และรถจักรยานยนต์ร้อยละ 90 จึงช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการต่อเนื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 500,000 คน และยังมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา จากทั้งผู้ประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย อุตสาหกรรมยานยนต์ยังยกระดับประเทศไทยจากการเป็นผู้บริโภค ไปสู่การเป็นฐานการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และพัฒนาสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการบูรณาการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง พัฒนาการของการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ในอดีตรถยนต์ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นโยบายในระยะแรกจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่เมื่อผู้ประกอบการเริ่มเข้มแข็งและมีตลาดที่ชัดเจนแล้ว นโยบายในระยะหลังก็เปลี่ยนไปเน้นให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเพียงฐานการประกอบรถยนต์ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ดี การให้ส่งเสริมผลิตรถยนต์ก็ยังไม่ได้หายไปจากนโยบายของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง เนื่องจากยังมีการเปิดให้ส่งเสริมผลิตรถยนต์เป็นบางช่วง ซึ่งอาจให้สิทธิและประโยชน์ไม่เท่ากันแล้วแต่กรณี เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนในรถยนต์บางประเภทที่เห็นว่าสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ระยะแรก เปิดศักราชให้ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ทดแทนการนำเข้า หลังจากที่ประเทศไทยนำเข้ารถยนต์มาได้ระยะหนึ่ง ก็เข้าสู่ยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยนโยบายภาครัฐขณะนั้นมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์มากขึ้น ด้วยการให้สิทธิและประโยชน์ รวมถึงใช้มาตรการทางด้านภาษี ในปี 2509 บีโอไอในฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทผู้ประกอบรถยนต์ มีผู้ประกอบการ 4 ราย (Four Pioneers) และในปี 2512 มีผู้ได้รับส่งเสริมฯ อีก 12 ราย มีการประกาศควบคุมการนำเข้ารถยนต์นั่ง รวมถึงใช้กำแพงภาษีสำหรับรถยนต์นำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ระยะกลาง ยกเลิกการส่งเสริมผลิตรถยนต์วางรากฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ (ปี 2512-2537) เนื่องจากการผลิตรถยนต์ในยุคนั้น ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์มาประกอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สูญเสียเงินตราออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแล้วหลายรายที่สามารถประกอบธุรกิจและขยายกำลังผลิตได้โดยไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ในปี 2512 รัฐบาลจึงเปลี่ยนนโยบายโดยยกเลิกให้การส่งเสริมฯ ผลิตรถยนต์ และหันมาให้ส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตชิ้นส่วนที่หลากหลาย เกิดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง และพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์อย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในประเทศประสบความสำเร็จ นโยบายรัฐบาลขณะนั้นจึงได้เพิ่มสัดส่วนการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากขึ้นด้วย จนกระทั่งต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ในช่วงปี 2534 เป็นยุคเริ่มต้นของการเปิดเสรี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เมื่อกระทรวงพาณิชย์ประกาศยกเลิกการควบคุมการนำเข้ารถยนต์นั่ง และคณะรัฐมนตรีได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์และภาษีการค้าของรถยนต์โดยรวม ส่งผลให้ภาระภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและรถยนต์ที่ประกอบในประเทศลดต่ำลง เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง
ระยะปัจจุบัน เปิดให้การส่งเสริมผลิตรถยนต์อีกครั้ง (2537 – ปัจจุบัน) ในปี 2537 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย และรัฐบาลได้เปิดให้การส่งเสริมกิจการประกอบรถยนต์อีกครั้งหลังจากที่ยกเลิกมาตั้งแต่ปี 2512 โดยกำหนดให้กิจการประกอบรถยนต์ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรตามเกณฑ์ที่ตั้งโรงงาน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากการส่งออก ทำให้มีผู้ผลิตรายใหม่มาลงทุนในประเทศไทย เช่น General Motor, Ford และ BMW เป็นต้น นโยบายรัฐบาลในช่วงนั้นมุ่งไปที่การฟื้นฟูและเยียวยาภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจและค่าเงินบาทในปี 2540 โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกเพื่อเพิ่มกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่บริษัทผู้ผลิตต้องการมาสร้างฐานการผลิตที่เข้าถึงตลาดได้ง่าย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนทางการผลิตไปพร้อมๆ กัน จึงมีการเปิดให้ส่งเสริมฯ ผลิตรถยนต์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และมีการปรับปรุงนโยบายรวมถึงสิทธิและประโยชน์ต่างๆ เรื่อยมา เพื่อสร้างไทยเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทรถยนต์ข้ามชาติ จะมีเพียงช่วงปี 2543 รัฐบาลได้ยกเลิกการให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการประกอบรถยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์หลักเพียงการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเท่านั้น เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออก ภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน
1. คงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์
ภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย "ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในกลุ่ม 100 อันดับแรกของโลกจำนวน 57 ราย มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย" ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของผู้ผลิตหลายค่าย และมีการส่งเสริมฯ ให้มีการผลิตรถยนต์หลากหลายประเภท รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ จนเกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง มีบริษัทผู้ประกอบรถยนต์รายสำคัญของโลกกว่า 18 ราย และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในกลุ่ม 100 อันดับแรกของโลก จำนวน 57 ราย ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย แบ่งเป็นผู้ประกอบการใน Tier 1 กว่า 700 ราย และ Tier 2 และ 3 จำนวนกว่า 1,700 ราย ครอบคลุมทั้งการผลิตชิ้นส่วนจำพวกตัวถัง ทั้งโลหะ พลาสติก และยาง ชิ้นส่วนเครื่องยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ชิ้นส่วนระบบบังคับเลี้ยว ชิ้นส่วนระบบเบรก และอื่นๆ ช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รายชื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย
ในปี 2557 ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 12 ในโลก มีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตทั้งสิ้นไปหลายภูมิภาคทั่วโลก การส่งเสริมการลงทุนกับแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ 1. เทคโนโลยียานยนต์บนแนวคิด "Sustainable Mobility" แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิด "Sustainable Mobility" ที่รถยนต์จะต้องมีความ "สะอาด ประหยัด ปลอดภัย" ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคต จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency- IEA) พบว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก จะกระทบกับความมั่นคงทางพลังงานของโลกอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 รถประเภทที่เป็นเครื่องยนต์ระบบเก่าทั้งดีเซลและเบนซิน จะค่อยๆลดความสำคัญลง และถูกแทนที่ด้วยรถประเภทพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ รถไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV), Hybrid Plug- in, Hybrid และ Fuel cell ตามลำดับภายในปี 2593 ข้อจำกัดเหล่านี้ถูกนำมากำหนดเป็นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ไม่เฉพาะแต่บีโอไอที่กระตุ้นให้ค่ายรถต่างๆ หันมาเพิ่มสัดส่วนการพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ในรูปของมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับยานยนต์และชิ้นส่วนที่ตอบโจทย์นี้ หรือโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิตอัตราใหม่ที่จะถูกคำนวณบนพื้นฐานของปริมาณ Co2 ที่ปล่อยออกจากรถยนต์ แทนขนาดความจุกระบอกสูบตามหลักเกณฑ์เดิมตั้งแต่ปี 2559 หรือแม้แต่ Eco Sticker ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดให้รถยนต์ที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ต้องแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลสมรรถนะรถ ตลอดจนปริมาณ Co2 และอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน นโยบายด้านยานยนต์ของไทยและเพื่อนบ้านต่างมุ่งไปสู่การพัฒนารถยนต์สะอาด แนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต ที่มา ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์, Marketing director, Mazda Sales Thailand, มีนาคม 2558
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่
Eco Sticker ของกระทรวงอุตสาหกรรม
2. การส่งเสริมการลงทุนบนแนวคิด Sustainable Mobility
หลังจาก Eco-Car รุ่นแรกมีกระแสตอบรับที่ดี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ บีโอไอจึงได้เปิดให้การส่งเสริมฯ Eco -Car รุ่นที่ 2 อีกครั้ง เพื่อให้นักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่ตัดสินใจขยายการลงทุนให้ต่อเนื่อง โดยกำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมการประหยัดพลังงาน และความปลอดภัยที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นกว่า Eco-Car รุ่นแรกแลกกับสิทธิและประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6 ปี และอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จูงใจยิ่งกว่าเดิมที่ร้อยละ 14 ลดลงจากเดิมร้อยละ 17 ในแง่ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศแล้ว ข้อกำหนดด้านปริมาณการผลิต 100,000 คันต่อปีนั้น ยังช่วยผลักดันให้เกิดการส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ และเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจยานยนต์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์นั่งของประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อรองรับตลาดประเทศญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์ สำหรับรถยนต์รุ่น Mitsubishi Mirage, Nissan March และ Nissan Almera ซึ่งไม่มีการผลิตรถยนต์รุ่นเหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่นเลย ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งที่มีมาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง
Product Champion ของประเทศไทย
เงื่อนไขของ Eco-Car
ปริมาณการผลิต Eco-Car รุ่นที่ 1 และ 2
Eco-Car รุ่นที่ 1 และ 2 ของแต่ละค่าย
2.2 การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์แห่งอนาคต
การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN BEV HUB)
การผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต้องอาศัยหลายปัจจัย ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการด้านภาษีเพียงอย่างเดียว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 กำหนดแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN BEV HUB) โดยจะส่งเสริมให้มีการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออก รวมทั้งส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ การสร้างสถานีประจุไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมของระบบสายส่ง และสร้างมาตรฐานสถานีประจุไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนได้มุ่งไปสู่การให้ส่งเสริมฯ ผลิตยานยนต์ในกลุ่มนี้ โดยตั้งแต่ปี 2548 ได้เริ่มให้การส่งเสริมฯ จากรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (EcoCar) รุ่นที่ 1 และ 2 อุปกรณ์สำหรับรถยนต์ Hybrid, Electric Vehicles (EV) และ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEV) ปัจจุบัน ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric VehiclesEV) โดยเริ่มจากรถโดยสารไฟฟ้า และชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอรี่ ทั้งการผลิต ประกอบ และรีไซเคิล Traction Motor and Drive, Supercapacitor และชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการประจุไฟฟ้า เป็นต้น การส่งเสริมผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ ปัจจุบันมีการกล่าวถึงพลังงานไฮโดรเจนซึ่งบางค่ายรถ เช่น โตโยต้า ได้มีการพัฒนาขึ้นมาขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตจากระบบเซลล์เชื้อเพลิง แทนเชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือไฟฟ้าจากมอเตอร์ในรถยนต์ไฟฟ้า โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือสารที่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ (Substance of Concern- SOCs) ระหว่างการขับขี่ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกระยะ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนต้องใช้พลังงานมาก และจำ เป็นต้องใช้วัตถุดิบที่มีไฮโดรเจน เช่น น้ำ หรือเชื้อเพลิงอื่นๆ รวมถึงขั้นตอนการแยกไฮโดรเจนออกมานั้น ยังต้องใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตมาจากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่พลังงานทางเลือกเช่น ลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ยังมีราคาสูงมากในปัจจุบัน จึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงก้าวขึ้นมาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการพัฒนาต่อยอดชิ้นส่วนสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ของรถยนต์ประเภทนี้ เช่น เซลล์เชื้อเพลิง (FC Stack) อุปกรณ์เพิ่มศักยภาพเซลล์เชื้อเพลิง (FC Boost Converter) และถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูง และทำตลาดแพร่หลายออกไปสู่ผู้บริโภค จะเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ครั้งสำคัญ
|
|