![]() ![]() |
1. บริษัทมีบัตรส่งเสริม 3 บัตร โดยผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ทั้ง 3 บัตร โดยการผลิต จะผลิตเป็น Model ตามรุ่นของรถยนต์ ซึ่งแต่ละรุ่นจะขายได้ประมาณ 4-8 ปี โดยบัตรที่ 1 (ปี 2546) นั้น Model ค่อยๆ ทยอยเลิกผลิตแล้วสำหรับรถรุ่นเก่าๆ ทำให้ไม่ค่อยได้ใช้เครื่องจักรซักเท่าไหร่ ประกอบกับเครื่องจักรใช้งานไม่ค่อยได้เสียบ่อย เลยอยากขายเครื่องจักรออกไป 2 เครื่อง คือ OIL PRESSURE 100 Ton และ 130 Ton 2. โดย 2 เครื่องนี้จะทำให้กำลังการผลิตตามบัตรส่งเสริมลดลง (3,225,600 ชิ้น+ 1,209,600 ชิ้น = 4,435,200 ชิ้น) จาก 23,385,600 ชิ้น/ปี (คิดเป็น 18.97% ของยอดกำลังการผลิต) 3. แต่ปัญหาคือ ปีที่ซื้อเครื่องจักรนั้นนานแล้ว ไม่สามารถหาหลักฐานการซื้อในประเทศ เพื่อยื่นในระบบ EMT Online เงื่อนไขจำหน่ายเครื่องจักรไม่มีภาระภาษีค่ะ 4. บริษัท สามารถทำอย่างไรได้บ้างคะ เพื่อให้สามารถขายเครื่องจักรได้ และต้องแก้ไขโครงการลดกำลังการผลิตหรือไม่คะ 5. ลืมคิดไปค่ะว่าซื้อเครื่องจักรในประเทศ ไม่เสียภาษี ดังนั้น สามารถขายได้เลยหรือไม่คะ ถ้ากำลังการผลิตลดลง 18.97% ต้องขอแก้ไขโครงการหรือไม่คะ เพราะตอนนี้สิทธิต่างๆ หมดแล้วยกเว้น การใช้สิทธินำเข้าวัตถุดิบอย่างเดียวค่ะ หรือต้องยื่นอย่างอื่นอีกหรือไม่คะ บริษัท I.... |
![]() ![]() |
ตอบคำถามดังนี้ครับ 1. บัตรส่งเสริมทุกฉบับ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องจักรดังนี้ จะต้องไม่จำนอง จำหน่าย โอน ให้เช่า หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้เครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า 2. ดังนั้น การจำหน่ายเครื่องจักรที่ซื้อในประเทศ หรือการจำหน่ายเครื่องจักรที่นำเข้าแต่ไม่ได้รับยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้า -> จึงไม่ต้องขออนุญาตจำหน่าย 3. แต่ในบัตรส่งเสริมสำหรับกิจการผลิต ยังกำหนดเงื่อนไขดังนี้ จะต้องดำเนินการตามสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ในเรื่องดังต่อไปนี้ ชนิดผลิตภัณฑ์ .............. ขนาดของกิจการ มีกำลังผลิต ........ ปีละประมาณ .............. 4. ดังนั้น การจำหน่ายเครื่องจักรที่ทำให้กำลังผลิตลดลง และไม่เป็นไปตามขนาดกิจการที่ได้รับส่งเสริม -> จึงเป็นการผิดเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ 5. ปัจจุบัน BOI มีแนวทางพิจารณาขนาดกิจการ ดังนี้ โครงการที่มีกำลังผลิต มากกว่า/หรือน้อยกว่า ไม่เกิน 20% ของขนาดกิจการ ถือว่ามีกำลังผลิตตามขนาดกิจการที่ได้รับการส่งเสริม 6. ตามที่บริษัทแจ้ง คือ การจำหน่ายเครื่องจักร 2 เครื่อง จะทำให้กำลังผลิตลดลงเหลือ 81.03% ของขนาดกิจการที่ได้รับส่งเสริม จึงถือว่ายังคงมีกำลังผลิตเป็นไปตามขนาดกิจการที่ได้รับส่งเสริม 7. สรุปคือ 7.1 บริษัทไม่ต้องขออนุญาตจำหน่ายเครื่องจักร เนื่องจากเป็นเครื่องจักรที่ซื้อในประเทศ ไม่ได้รับยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้า 7.2 บริษัทไม่ต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อลดขนาดกิจการ เนื่องจากยังคงมีกำลังผลิตเกินกว่า 80% ของขนาดกิจการที่ได้รับส่งเสริม จึงถือว่ายังคงมีกำลังผลิตตามที่ได้รับส่งเสริม ครับ แก้ไขโดย ADMIN เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2568, 12:42:48
|
<< ก่อนหน้า 1 ถัดไป >>