บอร์ด / 108 คำถามกับงาน BOI / เครื่องจักร / ระยะเวลานำเข้า และการขยายเวลา / นำเข้าเครื่องจักรก่อนได้รับบัตรส่งเสริมได้หรือไม่
GUEST โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566, 11:58:43 (80 สัปดาห์ ก่อน)
Top

บริษัทได้รับหนังสือแจ้งมติให้การส่งเสริม และได้ตอบรับมติแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อยื่นขอรับบัตรส่งเสริม

คำถาม หากบริษัทจะนำเครื่องจักรเข้ามาก่อนออกบัตรส่งเสริม จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรได้หรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร

บริษัท Ai......

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566, 14:12:57 (80 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

การนำเครื่องจักรเข้ามาก่อนได้รับบัตรส่งเสริม แยกเป็น 2 กรณีคือ

1. นำเข้าก่อนวันที่มีมติอนุมัติให้การส่งเสริม

1.1 ต้องไม่นำเข้าก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริม

1.2 ต้องยื่นขอขยายเวลานำเข้าย้อนหลัง โดย BOI จะอนุญาตให้ขยายย้อนหลังได้ถึงวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริม

1.3 จะยื่นขอใช้สิทธิสั่งปล่อยเครื่องจักรเพื่อยกเว้น/หรือขอคืนอากรได้ หลังจากได้รับบัตรส่งเสริมแล้ว และได้รับอนุญาตขยายเวลาย้อนหลังตามข้อ 1.2 แล้ว

2. นำเข้าหลังวันที่มีมติอนุมัติให้การส่งเสริม

2.1 ไม่ต้องยื่นขอขยายเวลาย้อนหลัง เนื่องจากบริษัทมีสิทธิจะนำเข้าได้ตั้งแต่วันที่มีมติอนุมัติให้การส่งเสริม

2.2 จะยื่นขอใช้สิทธิสั่งปล่อยเครื่องจักรเพื่อยกเว้นอากร/หรือขอคืนอากรได้ หลังจากได้รับบัตรส่งเสริมแล้ว


กรณีที่สอบถาม บริษัทนำเข้าเครื่องจักรหลังวันที่มีมติอนุมัติให้การส่งเสริม แต่ยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริม

จึงเป็นกรณีตามข้อ 2 คือไม่ต้องขอขยายเวลานำเข้าย้อนหลัง

โดยมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการดังนี้

1. ผ่านพิธีการศุลกากรโดยชำระภาษีสงวนสิทธิ/หรือยื่นคำร้องขอใช้ธนาคารค้ำประกัน/หรือชลอการผ่านพิธีการศุลกากรไปจนกว่าจะได้รับบัตรส่งเสริม

2. เมื่อได้รับบัตรส่งเสริมและสมัครใช้ระบบ eMT แล้ว ให้ยื่นคำร้องขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักร โดยให้ครอบคลุมรายการเครื่องจักรตามข้อ 1 ด้วย

3. เมื่อได้รับอนุมัติบัญชีเครื่องจักร ให้ยื่นขอสั่งปล่อยคืนอากร/หรือสั่งปล่อยถอนค้ำประกัน/หรือสั่งปล่อยปกติ แล้วแต่กรณี ครับ

thun151 โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฏาคม 2567, 09:18:13 (18 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

ถ้าบริษัทฯ ต้องการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาก่อนที่มติที่ประชุมจะออก บริษัทยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริม แต่มียื่นขอรับการส่งเสริมแล้วนั้น

จะต้องดำเนินการ หรือมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และต้องระบุในใบขนนำเข้าว่า สงวนสิทธิ์บีโอไอ ใช่หรือไม่

ถึงแม้ว่า Duty ขาเข้าเครื่องจักรจะเป็น 0% ก็ยังต้องทำ สงวนสิทธิ์บีโอไอ ไว้ ใช่หรือไม่คะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฏาคม 2567, 12:34:05 (18 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

ตอบคำถามดังนี้

1. สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร มีผลแต่วันที่อนุมัติให้การส่งเสริม

แต่บริษัทสามารถขอขยายเวลาย้อนหลังไปจนถึงวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมได้

2. กรณีบริษัทนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม แต่ไม่ก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริม

บริษัทจะต้องชำระภาษีอากรเครื่องจักรไปก่อน

จากนั้นเมื่อได้รับบัตรส่งเสริมและได้รับอนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรแล้ว

บริษัทสามารถขอขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรย้อนหลัง ตามข้อ 1

และขอสั่งปล่อยคืนอากรเครื่องจักรได้

แต่จะไม่ได้รับคืน vat จากการสั่งปล่อยนี้

3. การระบุการสงวนสิทธิบีโอไอในใบขนขาเข้า เป็นข้อกำหนดของกรมศุลกากร

ขอแนะนำให้สอบถามกับกรมศุลกากรโดยตรง จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและอัปเดตกว่า

4. กรณีเครื่องจักรดังกล่าวมีอัตราอากรขาเข้าเป็น 0

บริษัทไม่จำเป็นต้องยื่นสั่งปล่อยคืนอากร

เนื่องจากบริษัทจะไม่ได้รับคืนอากรขาเข้า (อากรเป็น 0) และไม่รับคืน VAT จากการยื่นสั่งปล่อยนั้น ครับ

thun151 โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฏาคม 2567, 14:01:47 (17 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

4. กรณีเครื่องจักรดังกล่าวมีอัตราอากรขาเข้าเป็น 0

บริษัทไม่จำเป็นต้องยื่นสั่งปล่อยคืนอากร

เนื่องจากบริษัทจะไม่ได้รับคืนอากรขาเข้า (อากรเป็น 0) และไม่รับคืน VAT จากการยื่นสั่งปล่อยนั้น ครับ

อ้างถึงข้อ 4 

ถ้าบริษัทไม่จำเป็นต้องยื่นสั่งปล่อยคืนอากร หมายความว่าไม่ต้องสั่งปล่อยเครื่องจักรนี้ใช่หรือไม่

และถ้าในอนาคต เครื่องจักรนี้ จะต้องมีนำอะไหล่เข้ามาทดแทน จะสามารถนำเขามาภายใต้การสั่งปล่อยบีโอไอได้หรือไม่

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฏาคม 2567, 15:29:19 (17 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

กรณีเครื่องจักรมีอัตราอากรขาเข้าเป็น 0

1. หากยังไม่ได้ผ่านพิธีการขาเข้า

สามารถยื่นขอสั่งปล่อยได้ เพื่อใช้หนังสืออนุมัติสั่งปล่อยเป็นหนังสือค้ำประกันและถอนประกัน VAT

ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่ต้องชำระ VAT

2. หากผ่านพิธีการขาเข้าแล้ว

ไม่จำเป็นต้องยื่นขอสั่งปล่อยคืนอากร เนื่องจากจะไม่ได้รับคืน VAT ด้วยหนังสือสั่งปล่อย

3. เครื่องจักรที่ไม่ได้ยื่นสั่งปล่อยตามข้อ 2

ถือเป็นเครื่องจักรที่นำเข้าโดยไม่ได้ใช้สิทธิ BOI

จึงไม่ต้องยื่นขออนุญาตในข่ายเครื่องจักรที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ เช่น
- นำไปซ่อม
- นำไปเก็บนอกสถานที่
- นำไปใช้เพื่อการอื่น / ให้ผู้อื่นใช้ เป็นต้น

แต่สามารถนำมูลค่าเครื่องจักรนั้นมารวมคำนวณมูลค่าการลงทุน

เพื่อคำนวณวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ ได้ตามปกติ

4. ในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องนำเข้าอะไหล่ของเครื่องจักรที่ไม่ได้ยื่นสั่งปล่อยตามข้อ 2 เข้ามา และต้องการใช้สิทธิ BOI

สามารถยื่นขอแก้ไขบัญชีรายการเครื่องจักรตามข้อ 2 เป็น 0.5 เครื่อง

เพื่อให้สามารถขออนุมัติบัญชีอะไหล่ของเครื่องจักรดังกล่าวได้

5. กรณีเครื่องจักรตามข้อ 2 มีจำนวนหลายเครื่อง

แต่บางเครื่องใช้สิทธิ BOI บางเครื่องไม่ได้ใช้ BOI

อาจจะเป็นภาระในการควบคุมการใช้สิทธิให้ถูกต้อง

รวมถึงการใช้สิทธิของอะไหล่ของเครื่องจักรดังกล่าวด้วย

จึงควรระมัดระวังในการเลือกวิธีที่จะใช้ด้วย ครับ

<< ก่อนหน้า       1       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด