บอร์ด / 108 คำถามกับงาน BOI / การดำเนินการอื่นๆ / การยกเลิกบัตรส่งเสริม / การคำนวณอากรกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียกเลิกบัตรส่งเสริม
GUEST โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564, 18:29:44 (184 สัปดาห์ ก่อน)
Top

บริษัทต้องการจะยกเลิกบัตรส่งเสริม เข้าใจว่าต้องไปยื่นเสียค่าอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาไม่ถึง 5 ปี ที่กรมศุลกากรก่อน  (ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม เนื่องจากได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว)

ตัวอย่าง เครื่องจักร มูลค่า 500,000 บาท อากร 10% นำเข้ามาใช้แล้ว 4 ปี

วิธีที่ 1  ค่าอากร  500,000 * 10% * 12/60  = 10,000

           ค่า VAT  ( 500,000 + 10,000 ) * 7% = 35,700

วิธีที่ 2  ค่าอากร  500,000 * 10% * 12/60  = 10,000

           ค่า VAT  ( 500,000 + 50,000 ) * 7% = 38,500

จะเห็นได้ว่า วิธีการคำนวณแตกต่างกันตรง ฐานภาษี ที่นำไปคำนวณ VAT 

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ  ว่าวิธีใดถูกต้อง

คุณจิตราภรณ์

ADMIN โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564, 19:03:26 (184 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

บริษัทได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

ดังนั้น หากจะยกเลิกบัตรส่งเสริม จะมีภาระภาษีอากรตามสภาพ สำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามายังไม่ครบ 5 ปี

โดย BOI จะให้บริษัทไปชำระภาษีเครื่องจักรที่นำเข้ายังไม่ครบ 5 ปี และตัดบัญชีเครื่องจักรให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะดำเนินการยกเลิกบัตรส่งเสริมต่อไป


การชำระภาษีเครื่องจักรที่นำเข้ายังไม่ครบ 5 ปี และไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข จะมีภาระภาษีตามสภาพ ณ วันที่ BOI อนุญาตให้ไปชำระภาษี

เช่น หากเครื่องจักรมูลค่า 500,000 บาท อากรขาเข้า 10% นำเข้ามาแล้ว 4 ปี

มูลค่าเครื่องจักรตามสภาพ = 500,000 x 1 / 5 = 100,000 บาท

จึงมีภาระภาษีอากรที่จะต้องชำระดังนี้

อากรขาเข้าที่จะต้องชำระ = มูลค่าเครื่องจักรตามสภาพ x อัตราอากรขาเข้า ณ ปัจจุบัน = 100,000 x 10% = 10,000 บาท

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระ = (มูลค่าเครื่องจักรตามสภาพ + อากรขาเข้า) x VAT = (100,000 + 10,000) x 7% = 7,700 บาท


เนื่องจาก BOI เป็นเพียงผู้แจ้งให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีอากรตามสภาพ

แต่ผู้ที่จะประเมินและเรียกเก็บภาษีอากรคือกรมศุลกากร

ดังนั้น จึงควรติดต่อสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือกรมศุลกากรอีกทางหนึ่งด้วยครับ

solar12020 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565, 11:26:13 (147 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ยื่นเปิดดำเนินการไปแล้ว แต่ติดปัญหาเนื่องจากบริษัทฯ ใช้สิทธิ์ขออนุมัติสั่งปล่อยเครื่องจักรมากกว่าจำนวนที่ติดตั้งจริงในโครงการ 
ดังนั้นในส่วนที่เกิน บริษัทฯ จึงขอชำระภาษีอากร ผ่านระบบ EMT และได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้วค่ะ

คำถามคือ ขั้นตอนต่อจากนี้ บริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้างคะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565, 12:07:11 (147 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

บริษัทนำเข้าเครื่องจักรโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า มากกว่าจำนวนเครื่องจักรที่ติดตั้งอยู่จริง

ดังนั้น เครื่องจักรที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่จริง จึงเป็นเครื่องที่ใช้สิทธิผิดเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม และมีภาระต้องชำระภาษีอากรตามสภาพ ณ วันที่นำเข้า และเบี้ยปรับ VAT


ขั้นตอนคือเมื่อได้รับอนุญาตจาก BOI ให้ชำระภาษีแล้ว ให้ติดต่อกรมศุลกากรเพื่อขอชำระภาษีอากร

หลังจากชำระภาษีเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นตัดบัญชีเครื่องจักรในระบบ EMT ต่อไป ครับ

solar12020 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565, 13:06:58 (147 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

ขอบคุณค่ะ

Thif โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566, 16:24:11 (92 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

เรียน แอดมิน 

รบกวนสอบถาม บริษัท ได้ครบกำหนดยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการ วันที่ 23/01/2566  ซึ่งบริษัท ไม่ประสงค์จะยื่นขอเปิดดำเนินการ และจะขอยกเลิกบัตรส่งเสริมจากการตรวจสอบสิทธิประโยช๋ที่ใช้ คือ ยกเว้นภาษีอากรนำเข้าเครื่องจักร เมื่อวันที่ 18/01/2566  ซึ่งเครื่องจักรยังไม่ครบ 5 ปี
1. ไม่ทราบว่าบริษัท ผิดเงื่อนไขของ BOI หรือไม่เนื่องจากไม่ยื่นขอเปิดดำเนินการ 
2. บริษัทฯเจอเบี้ยปรับ 1 เท่าหรือไม่ค่ะ
เครื่องจักรนำเข้าวันที่ 18/03/2562   เครื่องจักรครบกำหนด 4 ปี     มูลค่าเครื่องจักร = 12,081,396.07   อากร = 0%    Vat  = 845,697.72 
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระ  (12,081,396.07 x 7% = 845,697.72  บาท
เบี้ยปรับ 1 เท่า   =  845,697.72  บาท   
รวมชำระภาษี  = 845,697.72+845,697.72  = 1,691,395.44   

 

ขอบคุณมากค่ะ 

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566, 17:02:32 (92 สัปดาห์ ก่อน)
#6 Top

1. ในส่วนของ BOI

การยกเลิกโครงการ โดยไม่เปิดดำเนินการ เป็นการผิดเงื่อนไขในการให้การส่งเสริม

ซึ่งจะถือเสมือนการไม่ได้รับส่งเสริมตั้งแต่ต้น และจะต้องชำระภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร ตามสภาพ ณ วันนำเข้า

2. การคำนวณอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ควรตรวจสอบกับกรมสรรพากร หรือกรณีนี้ตรวจสอบกับกรมศุลกากรซึ่งจะเป็นผู้เรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร

(ตามความเข้าใจของแอดมินคือ ต้องชำระอากรขาเข้า ตามมูลค่า ณ วันนำเข้า (ไม่มีเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับ)

ส่วน vat จะมีเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน นับจากวันที่นำเข้า ถึงวันที่กรมศุลกากรแจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษี ครับ)

Thif โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566, 12:59:00 (92 สัปดาห์ ก่อน)
#7 Top

เรีบน แอดมิน 

ขอบคุณมากค่ะ 

 

 

KPI77 โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566, 16:47:14 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#8 Top

เรียน แอดมิน

1. บัตรส่งเสริม เปิดดำเนินการแล้ว  สิทธิภาษีเงินได้ใช้ครบตามวงเงินแล้ว

2. เครื่องจักร นำเข้ามาเกิน 5 ปี ตัดจำหน่ายโดยไม่มีภาระภาษี ทุกต้วแล้ว (เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบอยู่ในห้องคลีนรูม)

3. วัตถุดิบเคลียร์สต๊อคคงเหลือเป็น 0 แล้ว

อยากสอบถาม ดังนี้

1.  หากยกเลิกบัตรส่งเสริมเรียบร้อยแล้ว  เครื่องจักรที่ตัดจำหน่ายแล้ว สามารถใช้กับโครงการอื่นได้หรือไม่ อย่างไร เนื่องจาก เครื่องจักรดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ที่ประกอบใช้ในห้องคลีนรูมไม่สามารถจะรื้อออกได้ เพราะห้องคลีนรูมนี้ ใช้ร่วมกัน 2 โครงการ (แบ่งครึ่งการใช้)  อีกโครงการนึงก็ยังใช้งานอยู่

2. ผลิตภัณฑ์สำหรับบัตรส่งเสริมนี้  ลูกค้าในปัจจุบันมีออเดอร์ให้ผลิตถึงแค่สิ้นปี 2566 เท่านั้น จะไม่มีออเดอร์อีก  การยกเลิกบัตรส่งเสริม กับ การเก็บบัตรส่งเสริมไว้ก่อน มีข้อดีข้อเสีย หรือมีผลกระทบอะไรกับบริษัทหรือไม่

 

ขอบคุณค่ะ

 

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566, 18:13:56 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#9 Top

ข้อเท็จจริงคือ บริษัทมี 2 บัตรส่งเสริม โดยมีการใช้ห้องคลีนรูนร่วมกัน (แบ่งพื้นที่ใช้งาน)

และบริษัทจะยกเลิกบัตรที่ 1 จึงขอจำหน่ายอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นห้องคลีนรูน

ขอข้อมูลเพิ่มเติมว่า

1. อุปกรณ์ที่ประกอบเป็นห้องคลีนรูน นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษี ตามบัตรที่ 1 หรือบัตรที่ 2 หรือทั้งสองบัตร

2. บริษัทนำค่าก่อสร้างห้องคลีนรูม ไปคำนวณเป็นมูลค่าการลงทุนของบัตรที่ 1 หรือบัตรที่ 2 หรือปันส่วนตามพื้นที่ใช้งานหรืออื่นๆ ครับ

KPI77 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566, 10:27:05 (65 สัปดาห์ ก่อน)
#10 Top

ข้อมูลเพิ่มเติม ตามตัวหนังสือสีน้ำเงินค่ะ

ข้อเท็จจริงคือ บริษัทมี 2 บัตรส่งเสริม โดยมีการใช้ห้องคลีนรูนร่วมกัน (แบ่งพื้นที่ใช้งาน)

และบริษัทจะยกเลิกบัตรที่ 1 จึงขอจำหน่ายอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นห้องคลีนรูน

ขอข้อมูลเพิ่มเติมว่า

1. อุปกรณ์ที่ประกอบเป็นห้องคลีนรูน นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษี ตามบัตรที่ 1 หรือบัตรที่ 2 หรือทั้งสองบัตร

นำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า ทั้ง 2 บัตร ,  บัตร 1 ตัดจำหน่ายไม่มีภาระภาษี (วางแผนยกเลิก) บัตรที่  2 ตัดบัญชี 5 ปี แล้ว  

2. บริษัทนำค่าก่อสร้างห้องคลีนรูม ไปคำนวณเป็นมูลค่าการลงทุนของบัตรที่ 1 หรือบัตรที่ 2 หรือปันส่วนตามพื้นที่ใช้งานหรืออื่นๆ ครับ

นำไปรวมเป็น cap  ทั้ง 2 บัตร  โดยแชร์เงินลงทุนตามส่วนการใช้งาน ซึ่งเท่ากับมูลค่าในอินวอยซ์ที่นำเข้าเครื่องจักรแต่ละบัตรส่งเสริม 

 

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566, 14:46:30 (65 สัปดาห์ ก่อน)
#11 Top

ขออธิบายหลักการดังนี้

1. กรณีใช้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ร่วมกันระหว่าง 2 โครงการ

ปกติจะให้นับเป็นมูลค่าการลงทุนของโครงการแรก

แต่บริษัทสามารถขอปันสัดส่วนมูลค่าการลงทุนของค่าก่อสร้างได้ เช่น ตามพื้นที่ใช้งานจริง

หรือสามารถขอนำค่าก่อสร้างส่วนขยาย มานับเป็นค่าก่อสร้างของโครงการที่ 2 ได้ ตามข้อเท็จจริง

2. กรณีเครื่องจักร

BOI อาจอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรร่วมกันได้

แต่ไม่อนุญาตให้ปันส่วนค่าเครื่องจักร ร่วมกันระหว่าง 2 โครงการ

3. กรณีห้องคลีนรูน

3.1 ส่วนที่เป็นค่าก่อสร้าง

ปกติควรนับเป็นค่าก่อสร้างของบัตรที่ 1 หรือบริษัทจะขอปันส่วนมูลค่าก่อสร้างตามพื้นที่ใช้งานจริงก็ได้ ตามข้อ 1

3.2 ส่วนที่เป็นอุปกรณ์/ส่วนประกอบของห้องคลีนรูน ซึ่งขอสั่งปล่อยในข่ายเครื่องจักร

ควรใช้สิทธิตามบัตรประธาน (บัตรที่ 1) เท่านั้น

4. บริษัทสามารถขออนุญาตให้ห้องคลีนรูนร่วมกันระหว่างโครงการที่ 1 และ 2 ได้

ยกเว้น กรณีเป็นสาระสำคัญของโครงการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป

5. กรณียกเลิกโครงการที่ 1

หากบริษัทได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องคลีนรูนร่วมกัน (ตามข้อ 4)

บริษัทสามารถขอโอนเครื่องจักร (อุปกรณ์/ส่วนประกอบของห้องคลีนรูน) จากโครงการที่ 1 ไปยังโครงการที่ 2 ได้

6. ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ

บริษัทได้รับอนุมัติจำหน่ายอุปกรณ์/ส่วนประกอบของห้องคลีนรูน ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิของบัตรที่ 1 แล้ว

แต่เป็นส่วนประกอบที่ยังจำเป็นต้องใช้ในห้องคลีนรูน ซึ่งต้องใช้งานในบัตรที่ 2

จะถือว่าอุปกรณ์เหล่านั้นมีสถานะอย่างไร

จำเป็นต้องโอนอุปกรณ์เหล่านั้นจากโครงการที่ 1 มายังโครงการที่ 2 เพื่อให้มีสถานะสมบูรณ์หรือไม่


ความเห็นของแอดมินคือ บริษัทอาจจะใช้สิทธิเครื่องจักรผิดพลาด

คือมีการขออนุมัติส่วนประกอบของห้องคลีนรูน ทั้งในบัตรที่ 1 และบัตรที่ 2

แทนที่จะขออนุมัติเฉพาะในบัตรที่ 1 เพียงบัตรเดียว (พร้อมกับขออนุญาตใช้ร่วมกันระหว่างบัตรที่ 1 และ 2)

จึงทำให้เกิดปัญหา เมื่อมีการยกเลิกบัตรที่ 1

เนื่องจากอุปกรณ์/ส่วนประกอบเหล่านั้น ยังจำเป็นต้องใช้ในห้องคลีนรูน ซึ่งต้องใช้ในบัตรที่ 2

จึงควรจะต้องโอนอุปกรณ์เหล่านั้นจากบัตรที่ 1 มายังบัตรที่ 2 หรือไม่?

 


เบื้องต้นแนะนำว่า

บริษัทอาจจะต้องปรึกษากับ จนท ผู้รับผิดชอบโครงการของบริษัทโดยตรง

โดย จนท อาจมีความเห็นหรือคำแนะนำอื่นก็ได้ครับ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566, 14:53:42 (65 สัปดาห์ ก่อน)
#12 Top

ตอบคำถามเพิ่มเติม

การยกเลิกบัตร ควรดำเนินการหลังจากตัดบัญชีเครื่องจักรและวัตถุดิบเสร็จสิ้นแล้ว จะปลอดภัยกว่า

รวมถึงในกรณีที่เป็นคำถามสอบถาม

หาก จนท เห็นว่าควรโอนส่วนประกอบของห้องคลีนรูม (ซึ่งใช้ร่วมกันระหว่างบัตรที่ 1 และ 2) จากบัตรที่ 1 ไปยังบัตรที่ 2

ก็จะได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน


สรุปคือ การยกเลิกบัตร ควรดำเนินการเป็นขั้นตอนสุดท้าย จนกว่าไม่มีเรื่องอื่นที่ต้องดำเนินการอีกแล้ว ครับ

KPI77 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566, 16:06:22 (65 สัปดาห์ ก่อน)
#13 Top

ขอบคุณมากๆ ค่ะ ยังไงจะขอคอนเฟิมจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้องชัดเจน ตามที่ Admin ได้แนะนำมาค่ะ

<< ก่อนหน้า       1       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด