Suji โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563, 08:44:30 (247 สัปดาห์ ก่อน)
|
เรียน แอดมิน บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังเปิดดำเนินการ จะสามารถแก้ไขโครงการได้หรือไม่ หากกรรมวิธีการผลิต จากเดิมเช่น ขั้นตอนที่ 1 มีการนำวัตถุดิบเข้ามาประกอบ ต่อมาต้องการเพิ่มขั้นตอนคือ วัตถุดิบนั้นจะต้องทำการตัดแล้วประกอบ ดังนั้นขั้นตอนการตัดนี้ บริษัทฯต้องแก้ไขโครงการหรือไม่ค่ะ
ขอบคุณค่ะ |
ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563, 17:46:52 (247 สัปดาห์ ก่อน)
|
หลักเกณฑ์การแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม เป็นไปตาม ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547 คือ โครงการที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว จะแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์เดิม หรือเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีการลงทุนเพิ่มเติม ไม่ได้ กรณีที่สอบถาม บริษัทได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว แต่จะแก้ไขโครงการ เพื่อเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ สำหรับใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริม 1.หากเป็นกรณีที่ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม สามารถขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบได้ แม้ว่าโครงการนั้นจะเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้วก็ตาม จากนั้นจึงขอแก้ไขบัญชี Max Stock และสูตรการผลิต เพื่อแก้ไข/เพิ่มรายการวัตถุดิบให้เป็นวัตถุดิบตามสภาพก่อนการตัด เพื่อให้นำเข้าวัตถุดิบตามสภาพก่อนการตัด มาใช้ในโครงการได้โดยได้รับสิทธิตามมาตรา 36 2.หากเป็นกรณีที่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น ต้องมีการซื้อเครื่องตัด 2.1 หากการตัดวัตถุดิบ มีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม และมีการลงทุนเกิน 1 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถยื่นขอเป็นโครงการใหม่ (โครงการขยาย) เพื่อผลิตวัตถุดิบจำหน่ายให้โครงการเดิมและลูกค้ารายอื่น 2.2 กรณีไม่เข้าข่ายข้อ 2.1 จะเป็นไปตามประกาศที่ ป.3/2547 ข้อ 4 คือ เลขาธิการ BOI จะเป็นผู้วินิจฉัย โดย BOI อาจอนุญาตให้แก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ โดยเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพิ่มเติมจะไม่ได้รับสิทธิตามมาตรา 28 และจะไม่นับรวมมูลค่าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นขนาดการลงทุนเพื่อคำนวณวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาตัด ตามมาตรา 36 เนื่องจากแนวทางตามคำตอบข้อ 2.2 เป็นความเห็นของแอดมิน จึงขอแนะนำให้ปรึกษากับ จนท BOI ผู้รับผิดชอบโครงการของบริษัทโดยตรง อีกครั้งหนึ่ง ครับ |
Suji โพสต์เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563, 08:55:17 (247 สัปดาห์ ก่อน)
|
เรียน แอดมิน ได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ BOI แล้วค่ะ เนื่องจากบริษัท จะเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ โดยไม่มีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าบัตรนี้ มีการเปิดดำเนินการไปแล้ว และขั้นตอนในการตัดวัตถุดิบ ไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโครงการ และไม่ใช่ขั้นตอนหลัก ดังนั้นสามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีประเด็นให้แก้ไขโครงการ และเครื่องจักรที่เป็นเครื่องตัดนี้ บริษัทฯก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์นำเข้าภายใต้ BOI (จะนำเข้าแบบ JTEPA) เพราะหมดระยะเวลาการนำเข้าไปแล้ว รวมถึงการเปิดดำเนินการไปแล้วด้วย
ขอบคุณค่ะ |
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563, 11:24:30 (247 สัปดาห์ ก่อน)
|
ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติแก้ไขโครงการกรณีที่มีการลงทุนเพิ่ม 1. การลงทุนเพิ่ม คือ การลงทุนเครื่องจักร ไม่ว่าจะนำเข้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 หรือนำเข้าโดยชำระภาษี หรือซื้อในประเทศ ก็ตาม 2. การแก้ไขโครงการ คือ การแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม เช่น ชนิดผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต กรรมวิธีผลิต เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น 1.บริษัทต้องการซื้อเครื่องตรวจสอบชนิดใหม่หลายรายการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตามความต้องการของลูกค้า - กรณีนี้มีการลงทุนเพิ่ม แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ มีขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไขโครงการ จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547 2.เครื่องจักรของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตลดต่ำลง เนื่องจากใช้งานมานาน บริษัทจึงต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนกำลังผลิตเดิมที่ขาดหายไป - กรณีนี้มีการลงทุนเพิ่ม แต่ยังคงเป็นการผลิตสินค้าชนิดเดิม ตามกำลังผลิตเดิม และตามกรรมวิธีการผลิตเดิมที่ได้รับอนุมัติ จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547 3.บริษัทต้องการแก้ไขชนิดผลิตัณฑ์จาก A เป็น A และ B โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิม - กรณีนี้เป็นการแก้ไขโครงการ แต่ไม่มีการลงทุนเพิ่ม จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547
กรณีที่สอบถาม สรุปได้เป็นการแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม คือ จะแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ โดยลงทุนเครื่องตัด ความเห็นส่วนตัวของแอดมิน เห็นว่าเข้าข่ายที่จะต้องขอแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม ตามประกาศ ป.3/2547 หากบริษัทไม่แก้ไขโครงการ วัตถุดิบที่ได้รับอนุมัติอยู่เดิม (วัตถุดิบที่ตัดมาแล้ว) จะไม่ตรงกับวัตถุดิบที่ต้องใช้จริง (วัตถุดิบก่อนการตัด) และจะกระทบกับการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 ของวัตถุดิบรายการนั้น รวมถึงกระทบกับบัญชีรายการสต็อกวัตถุดิบและสูตรการผลิต ที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม สำหรับคำแนะนำของ จนท BOI นั้น อาจเคยมีการวินิจฉัยและกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติภายในของ BOI ไว้แล้ว ซึ่งแอดมินไม่อาจสามารถทราบได้ และหากการแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบนี้ ไม่ทำให้บัญชีรายการสต็อกวัตถุดิบและสูตรการผลิตของโครงการเปลี่ยนแปลงไป บริษัทก็อาจจะไม่ยื่นแก้ไขโครงการตามคำแนะนำของ จนท BOI ก็ได้ ครับ |
<< ก่อนหน้า 1 ถัดไป >>