GUEST โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 12:38:02 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
บริษัทฯ ต้องการขอผ่อนผันกรรมวิธีการผลิต เพื่อนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปมาเพื่อผลิตสินค้าให้ทันตามความต้องการของลูกค้า เพราะบริษัทเปิดใหม่ พนักงานยังไม่มีความชำนาญในการควบคุมเครื่องจักร จึงทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามแผนการผลิต ขอสอบถามดังนี้
1. บริษัทต้องขอผ่อนผันกรรมวิธีการผลิตใช่หรือไม่ แล้วทางบีโอไอมีหลักเกณฑ์การอนุมัติให้กี่เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตตามบัตร เอาสูงสุดนะค่ะ 2. วิธีการกรอกแบบฟอร์มแก้ไขโครงการเพื่อผ่อนผันกรรมวิธีการผลิต ต้องกรอกส่วนไหนบ้าง แล้วส่วนไหนที่ไม่ต้องกรอก 3. การขอผ่อนผันนี้ทำให้เราสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเข้ามาได้ แล้วถ้าบริษัทจะนำเข้าเป็นวัตถุดิบแล้วไปจ้างบริษัทบีโอไอเหมือนกันให้ผลิตให้ได้หรือไม่ คือเรานำเข้าวัตถุดิบแล้วไปจ้างบริษัทอื่นผลิตเป็นกึ่งสำเร็จรูป แล้วเราก็ไปรับมาเพื่อมาผ่านกรรมวิธีที่เหลือ แล้วส่งออกไป สามารถทำได้หรือเปล่า |
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 12:57:00 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
1. การผ่อนผันให้นำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปมาใช้ในการผลิต จะอนุญาตให้ตามที่จำเป็นจริง แต่ต้องไม่ขัดกับสาระสำคัญของโครงการนั้น เช่น
- โครงการผลิต TV เดิมมีขั้นตอนฉีดพลาสติก ประกอบแผงวงจร (PCBA) และอื่นๆ หากจะขอนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกที่ขึ้นรูปแล้ว ก็จะพิจารณาว่าไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากหากไม่มีขั้นตอนนี้เลย ก็ยังสามารถให้ส่งเสริมได้ ดังนั้น ในกรณีนี้ไม่ควรใช้วิธีผ่อนผัน แต่ควรแก้ไขกรรมวิธีผลิตเป็น ฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติกฉีดหรือจัดซื้อมา เพื่อที่จะทำได้ทั้ง 2 วิธี - โครงการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก เดิมมีขั้นตอนการฉีดพลาสติกและพ่นสี หากขอผ่อนผันนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกที่ฉีดแล้วมาพ่นสีอย่างเดียว ก็คงอนุญาตลำบาก เว้นแต่หากจำเป็นจริงๆ ก็อาจผ่อนผันเป็นกรณีไป โดยอาจกำหนดจำนวนที่น้อยที่สุดในครั้งนั้นครั้งเดียว และกำหนดว่ารายได้ในส่วนนี้ไม่ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น 2. ที่ต้องกรอก คือ - ข้อมูลทั่วไปสำหรับการแก้ไขทุกประเภท - เรื่องที่ขอแก้ไข - เหตุผลที่ขอแก้ไข - และข้อ 4.2 ชนิด ปริมาณและระยะเวลาที่จะนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป 3. การผ่อนผันกรรมวิธีการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบไปว่าจ้างผลิต มีแนวทางพิจารณาคล้ายๆ กับการผ่อนผันนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปตามข้อ 1 คือต้องดูว่าจะกระทบกับสาระสำคัญของโครงการมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่กระทบหรือกระทบน้อย ก็ให้ได้ แต่ถ้ากระทบมาก ก็จะไม่อนุญาต การขอผ่อนผันนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป และการขอนำวัตถุดิบไปว่าจ้างผลิต เป็นคนละกรณีกัน ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับอนุมัติให้นำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป A แต่ต่อมาอยากจะเปลี่ยนเป็นขอนำวัตถุดิบไปว่าจ้างผลิตชิ้นส่วน A ก็ต้องขออนุมัติด้วย ซึ่งหากบริษัทเตรียมการตั้งแต่ต้น จะยื่นการแก้ไขทั้ง 2 วิธีนี้เข้ามาพร้อมกันในคำขอเดียวกันก็ได้ |
GUEST โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 13:05:00 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
บริษัทต้องการนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปเข้ามาจากบริษัทแม่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่บริษัทฯทำเองได้ตามกระบวนการผลิตที่ได้รับอนุมัติส่งเสริม
เนื่องจากบริษัทแม่ได้ปิดไลน์สุดท้าย (ไลน์ประกอบ) ไปแล้ว จึงต้องการส่งชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปนั้นมาให้เราผลิตต่อจนจบ แล้วส่งกลับไปขายบริษัทแม่ ขอสอบถามว่า ปัจจุบันเปิดดำเนินการเต็มโครงการไปแล้ว จะยังสามารถแก้ไขดังกล่าวได้หรือไม่ บริษัทฯ แค่ต้องการผลิตต่อจากบริษัทแม่เฉพาะล๊อตนี้เท่านั้น ไม่ใช่ตลอดไป |
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 13:13:35 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
1. กรณีที่เปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว ก็ยังสามารถขอแก้ไขโครงการได้ หากไม่มีการลงทุนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังผลิตหรือเพิ่มขั้นตอนการผลิต
แต่ถ้าเป็นกิจการในหมวด 5 (เครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วน) แม้จะเปิดดำเนินการแล้ว จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ 2. กรณีที่สอบถาม เป็นการผ่อนผันกรรมวิธีการผลิตชั่วคราว เพื่อนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปมาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม ดังนั้น แม้จะเปิดดำเนินการครบตามโครงการแล้ว ก็ยังขอผ่อนผันกรรมวิธีผลิตได้ 3. หากได้รับผ่อนผันตามข้อ 2 ปกติจะได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ แต่การยกเว้นภาษีเงินได้ จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป |
GUEST โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 17:34:19 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
ขอสอบถามขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มเติม ดังนี้
หลังจากที่เราขออนุมัติให้สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปได้แล้ว ขั้นต่อไปจะต้องขอสูตรที่สำนักงานเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ 1 ผลิตภัณฑ์หรือไม่ หรือสามารถนำหนังสือแจ้งอัพข้อมูลที่ไอซีได้เลย |
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 17:38:56 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
จะต้องขออนุมัติสูตร และแก้ไขบัญชีรายวัตถุดิบและ Max Stock เหมือนกับเป็นการเพิ่มสินค้าอีก 1 โมเดล
เพื่อให้สามารถสั่งปล่อยชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูป และสามารถตัดบัญชีได้อย่างถูกต้อง ไม่สับสนกับโมเดลที่ผลิตอยู่เดิม |
GUEST โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 18:20:58 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
ทางบริษัทฯ ยื่นคำร้องไว้ครั้งแรกตอนขอบัตรส่งเสริมว่า จะนำเข้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมาผ่านกระบวนการเจาะ และทำเป็นสินค้าสำเร็จรูป แต่ตอนนี้ยังไม่นำเครื่องจักรเข้ามา นำวัตถุดิบที่เจาะสำเร็จแล้วมาจากต่างประเทศ และมาดำเนินการต่อจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักร
บริษัทต้องการขอยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะต้องยื่นขอปริมาณวัตถุดิบ แต่ยื่นไม่ได้ เพราะยังไม่มีการนำเข้าเครื่องจักร อย่างนี้เราสามารถขอแก้ไขคำขอดังกล่าวก่อนได้ไหม แล้วเมื่อจะนำเข้าเครื่องจักรก็ไปขอแก้ไขคำขอดังกล่าวอีกครั้ง |
ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556, 18:38:34 (569 สัปดาห์ ก่อน)
|
กรณีที่สอบถาม บริษัทเดิมยื่นคำขอไว้ว่า
- จะนำชิ้นงานกึ่งสำเร็จมาเจาะรู จากนั้นผลิตเป็นสินค้า แต่ในช่วงแรกที่ยังไม่นำเข้าเครื่องเจาะรู อยากจะผ่อนผันเป็น - จะนำชิ้นงานกึ่งสำเร็จที่เจาะรูแล้ว มาผลิตเป็นสินค้า กรณีเช่นนี้ ให้ยื่นเรื่องขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิต เพื่อขอนำชิ้นงานกึ่งสำเร็จรูปที่เจาะรูแล้ว เข้ามาใช้ในการผลิตเป็นการชั่วคราว ซึ่งสามารถยื่นเรื่องได้หลายวิธี เช่น 1) ขอผ่อนผันไม่เกิน 10 % ของปริมาณผลิตจริงในแต่ละปี 2) ขอผ่อนผันเป็นเวลา mm เดือน จนกว่าจะนำเข้าเครื่องเจาะรู 3) ขอผ่อนผันจำนวน xx ชิ้น จนกว่าจะนำเข้าเครื่องเจาะรู ... เป็นต้น วิธีที่ 2 และ 3 จะตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด แต่วิธีที่ 1 จะอนุมัติได้ง่ายที่สุด .................................................... คำถามนี้มีประเด็นที่ไม่ชัดเจน คือ บริษัทไม่สามารถยื่นขออนุมัติบัญชีสต๊อควัตถุดิบได้ เนื่องจากยังไม่ได้นำเข้าเครื่องจักร แต่มีข้อน่าสังเกตุว่า โครงการของบริษัทไม่น่าจะมีเฉพาะเครื่องเจาะรูเท่านั้น เพราะถ้ามีแค่ขั้นตอนเจาะรู ไม่น่าจะขอรับส่งเสริมได้ (มูลค่าเพิ่มต่ำเกินไป) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงแรก บริษัทต้องการนำเข้าชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปที่เจาะรูแล้ว ดังนั้น จึงต้องรอให้ได้รับอนุมัติแก้ไขกรรมวิธีการผลิตก่อน จึงจะสามารถขออนุมัติบัญชีชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปนั้นได้ แต่หากจำเป็นจะต้องนำเข้ามาก่อน ก็ต้องยื่นขอใช้ธนาคารค้ำประกัน หรือชำระภาษีไปก่อน แล้วค่อยยื่นขอสั่งปล่อยถอนค้ำประกัน หรือขอคืนอากร หลังจากที่ได้รับอนุมัติแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเรียบร้อยแล้ว |
<< ก่อนหน้า 1 ถัดไป >>