บอร์ด / 108 คำถามกับงาน BOI / การแก้ไขโครงการ / แก้ไขอัตราส่วนผู้ถือหุ้นไทย / สามารถโอน-ขายกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้หรือไม่
solar12020 โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563, 13:38:44 (231 สัปดาห์ ก่อน)
Top

บริษัท ฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในกิจการ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภท 7.1.1.2 กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน ยกเว้นขยะ หรือ เชื้อเพลิงจากขยะ

บริษัท ฯ สามารถโอน-ขายกิจการ หรือเปลี่ยนผู้ถือหุ้นได้หรือไม่ 

ถ้าหาก "ได้" บริษัท ฯ จะเสียสิทธิและประโยชน์เงื่อนไขต่าง ๆ ของ BOI หรือไม่คะ

และ ถ้าหาก "ได้" บริษัท ฯ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้างคะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563, 14:59:03 (231 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

ตามมาตรา 56 ของ พรบ.ส่งเสริมการลงทุน

ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเลิกกิจการ รวมกิจการกับผู้อื่น หรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ให้บัตรส่งเสริมนั้นใช้ได้ต่อไปอีกไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันเลิก รวม หรือโอนกิจการ

ในกรณีที่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการที่รวมกันขึ้นใหม่หรือรับโอนกิจการ ประสงค์จะขอรับช่วงดำเนินการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมต่อไป ให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้การส่งเสริม ให้ออกบัตรส่งเสริมโดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้เพียงเท่าที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเดิมยังเหลืออยู่ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรให้การส่งเสริม ให้สั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมด


ตอบคำถามดังนี้

1.สามารถโอนกิจการให้กับผู้อื่นได้ แต่บัตรส่งเสริมจะสิ้นสุดลงใน 3 เดือนนับจากวันโอนกิจการ

หากผู้รับโอนกิจการ ประสงค์จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริมต่อไป สามารถยื่นคำขอรับส่งเสริมภายใน 3 เดือนนับจากวันโอนกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่เหลืออยู่ของโครงการน้น

2,การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ไม่ถือเป็นการโอนกิจการ แต่ยังคงเป็นการดำเนินการโดยนิติบุคคลเดิม

--> หากอัตราส่วนการถือหุ้นไทยไม่ขัดกับเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม ไม่ต้องยื่นเรื่องแก้ไขใดๆ ต่อ BOI

--> หากอัตราส่วนการถือหุ้นไทยต่ำกว่าเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขอัตราส่วนหุ้นไทย ครับ

solar12020 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563, 09:37:56 (230 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

หากนาย A ขายหุ้นทั้งหมดให้นาย B ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหรือว่าโอนกิจการคะ?

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563, 11:09:19 (230 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ครับ

solar12020 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563, 13:50:58 (230 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

ต้องแจ้งหรือดำเนินการ ต่อ BOI อย่างไรบ้างคะ?

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563, 15:42:57 (230 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

ให้ยื่นแบบคำขอแก้ไขอัตราส่วนผู้ถือหุ้น ตาม Link ต่อ BOI ครับ

solar12020 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563, 16:20:12 (230 สัปดาห์ ก่อน)
#6 Top

ขอบคุณมากค่ะ ^_^

Chihiro โพสต์เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566, 10:31:51 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#7 Top

เรียน Admin,

ขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติมค่ะ ในกรณีที่ บริษัท A เลิกกิจการ และ โอนกิจการให้กับบริษัท B  ทั้งสองบริษัทได้รับการส่งเสริมจาก BOI 

1. A และ B ผุ้ถือหุ้นส่วนใหญ่เกิน 50 % เป็นต่างด้าว

2.ไม่ได้ใช้สิทธิBOi ถือครองที่ดิน ใช้สิทธิการนิคม

3.A และ B อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน

4.บริษัท A เปิดดำเนินการแล้ว แต่ยังคงเหลือสิทธิทางภาษี CIT 50% อีก 2 ปี

กรณี  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไทย  จะต้องดำเนินการยื่นเรื่องโอนกิจการอย่างไรบ้างคะ 

ขอบคุณมากค่ะ

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566, 19:10:52 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#8 Top

กรณีที่บริษัท A จะขอโอนกิจการที่ได้รับส่งเสริมให้บริษัท B

บริษัท A จะต้องมีหนังสือถึง BOI เพื่อขอโอนกิจการตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ... ให้บริษัท B (ไม่มีแบบฟอร์ม ร่างขึ้นได้เอง)

และบริษัท B จะต้องยื่นคำขอรับส่งเสริม เพื่อขอรับโอนกิจการ โดยระบุข้อมูลตามที่บริษัท A ได้รับส่งเสริมอยู่เดิม พร้อมกับยื่นหนังสือของบริษัท A เข้ามาพร้อมกันด้วย ครับ

Chihiro โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566, 11:57:22 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#9 Top

ขออนุญาตเรียนสอบถาม Admin เพิ่มเติมค่ะ

หากบริษัท A ได้จำนองเครื่องจักรไว้กับบริษัท B (ผุ้รับโอนกิจการ) กรณีนี้จะต้องดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่คะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566, 13:10:53 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#10 Top

เนื่องจากไม่สามารถอ้างอิงจากประกาศ BOI ได้ จึงขอตอบความเข้าใจของแอดมิน ดังนี้ครับ

การจำนองคือการนำอสังหาริมทรัยพ์ หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น เครื่องจักร ไปจดทะเบียนเป็นหลักประกันการชำระหนี้

ซึ่งหากผู้จำนองผิดสัญญาการชำระหนี้ จะถูกยึดหลักประกันนั้น

กรณีนำเครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิ BOI ไปจำนอง จะต้องได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน โดย
- หากผู้จำนอง ถูกเพิกสิทธิหรือยกเลิกบัตรส่งเสริม ภายใน 5 ปีนับจากวันนำเข้าเครื่องจักรนั้น ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องเป็นผู้ชำระอากรเข้าเครื่องจักรดังกล่าว
- หากผู้จำนอง ผิดสัญญาการชำระหนี้ และถูกยึดเครื่องจักร ภายใน 5 ปีนับจากวันนำเข้าเครื่องจักรนั้น กรรมสิทธิของเครื่องจักรจะเปลี่ยนจากผู้ได้รับส่งเสริม เป็นผู้รับจำนอง โดยจะถือว่าผู้รับจำนองเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักรนั้นในวันรับโอน (ตาม พรบ ส่งเสริมลงทุน มาตรา 42) โดยหากผู้รับจำนองไม่อาจชำระอากรเครื่องจักรได้ครบถ้วน ผู้จำนองจะต้องรับผิดชอบชำระอากรจนครบ

หากผู้ได้รับส่งเสริมนำเข้าเครื่องจักรนั้น ครบ 5 ปี และยื่นตัดบัญชีเครื่องจักรดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้น หากผิดสัญญาชำระหนี้ และถูกยึดเครื่องจักร

จะไม่มีผลกระทบด้านภาระภาษี แต่อาจต้องแก้ไขโครงการ เพื่อลดขนาดกิจการ เนื่องจากเครื่องจักรดังกล่าว ถูกยึดไปแล้ว ไม่สามารถใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมอีกต่อไป


กรณีที่สอบถาม หากเครื่องจักรนั้นนำเข้าเกิน 5 ปี ให้ยื่นตัดบัญชีก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด

ส่วนการโอนกิจการที่ได้รับส่งเสริมจาก A ไป B โดยมีเครื่องจักรที่ A นำไปจำนองกับ B รวมอยู่ด้วยนั้น

ในส่วนของ BOI ไม่น่าจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม

แต่ในส่วนของสัญญากู้ ซึ่ง A นำเครื่องจักรไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ B นั้น
--> เข้าใจว่าต้องมีการแก้ไข/หรือยกเลิกสัญญากู้ดังกล่าวด้วย ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับ BOI ครับ

แก้ไขโดย ADMIN เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566, 13:59:40
Chihiro โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566, 13:45:10 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#11 Top

เรียน Admin

ขอบคุณมากค่ะ

 

Chihiro โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566, 10:08:26 (91 สัปดาห์ ก่อน)
#12 Top

เรียน Admin,

ขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติมเรื่อง การโอนกิจการ BOI ค่ะ ทั้ง2 บริษัทต่อไปนี้เป็น BOI ทั้ง 2 บริษัทค่ะ

A เป็นบริษัท จำกัด โอนสิทธิให้กับ B  บริษัท มหาชน  

กรณีนี้ บริษัท B ซึ่งเป็นผุ้รับโอน   B จะต้องมี มติบอร์ดบริษัท หรือ จะต้องมีมติผู้ถือหุ้น ในการยื่นเรื่องกับ BOI คะ

ขอบคุณค่ะ

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566, 12:35:47 (91 สัปดาห์ ก่อน)
#13 Top

ตามแบบฟอร์มคำขอโอน/ขอรับโอนกิจการ F PA PC 17-01 

ผู้โอน : จะต้องแนบรายงานมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (กรณีเป็นบริษัทจำกัด) หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (กรณีเป็นบริษัทมหาชน)

ส่วนผู้รับโอน : ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องแนบรายงานมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครับ

(แต่หากผู้รับโอนมีมติที่ประชุมฯ ดังกล่าวอยู่แล้ว หากเตรียมไว้ด้วยก็น่าจะสะดวกขึ้น ครับ)

<< ก่อนหน้า       1       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด