DUCK โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฏาคม 2564, 16:10:07 (174 สัปดาห์ ก่อน)
Top

รายละเอียดบัตรส่งเสริม

เลขที่บัตรส่งเสริม :

64-00-00-00-000000

ประเภทกิจการ :

4.17 กิจการซ่อมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อการอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์/บริการ :

การซ่อมแซมชิ้นส่วนของเครื่องอัดอากาศและก๊าซ

สถานภาพ :

เปิดดำเนินการ

วันที่ออกบัตร :

23 มี.ค. 2564

วันที่เปิดดำเนินการ :

24 ก.พ. 2546

 

เรียน เจ้าหน้าที่ 

จากข้อมูลข้างต้น ทางบริษัทได้รับการโอนกิจการ และได้รับบัตรส่งเสริม วันที่ 23 มีนาคม 2564  ในสถานภาพขึ้นว่าเปิดดำเนินการแล้ว ทางบริษัทต้องทำเรื่องเปิดดำเนินการไหมคะ

 

และการรายงานความคืบหน้าปีละ 2 ครั้ง  ทางบริษัทต้องทำไหมคะ และถ้าต้องทำ เราดูจากระบบ ไม่มีปุ่มให้คลิ๊กกรอกรายละเอียดการรายงาน

รบกวนเจ้าหน้าที่ แนะนำหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ 

ADMIN โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฏาคม 2564, 12:13:37 (174 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

การรับโอนกิจการ หากโครงการที่ได้รับโอนมาได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว

1. ผู้รับโอน ไม่ต้องยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการต่อ BOI อีก โดยในบัตรส่งเสริมของผู้รับโอนจะไม่ระบุเงื่อนไขวันครบกำหนดที่ต้องเปิดดำเนินการ

2. การรายงานความคืบหน้าปีละ 2 ครั้ง เปนเงื่อนไขต้องปฏิบัติจนกว่าจะได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการ
ดังนั้น กรณีนี้ก็ไม่ต้องยื่นรายงานความคืบหน้าเช่นเดียวกัน ครับ

Chihiro โพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2564, 12:38:52 (171 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

เรียน Admin,

ขอรบกวนสอบถามเรื่อง การแก้ไขกำลังการผลิต production capacity และ วงเงินลงทุน หากบริษัทกรอกคำขอโดยตัวเลขของ capacity และ วงเงินลงทุน น้อยกว่า  50 %หรือ มากกว่า 50 % ของcapacity และ วงเงินลงทุนจริง ณ วันเปิดดำเนินการ boi จะแก้ไขให้เป็นไปตามยอดจริง ณ วันเปิดดำเนินการหรือไม่คะ 

ขอบคุณค่ะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564, 13:25:06 (171 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

1. กรณีตรวจสอบเปิดดำเนินการ พบว่ามีกำลังผลิตจริงต่ำกว่ากำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม

- จะเปิดดำเนินการให้ตามกำลังผลิตที่ตรวจสอบได้จริง แม้ว่าจะต่ำกว่าบัตรส่งเสริมมากก็ตาม

 

2. กรณีตรวจสอบเปิดดำเนินการ พบว่ามีกำลังผลิตจริงสูงกว่ากำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม

2.1 กรณีเป็นโครงการที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558

  1) หากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่เดิม ไม่แตกต่างกับการยื่นขออนุมัติเป็นโครงการใหม่หลังวันที่ 1 มกราคม 2558

      - จะเปิดดำเนินการให้ตามกำลังผลิตที่ตรวจสอบได้จริง โดยจะเพิ่มเกินกว่า 30% ของกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมก็ได้

  2) หากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่เดิม แตกต่างกับการยื่นขออนุมัติเป็นโครงการใหม่หลังวันที่ วันที่ 1 มกราคม 2558

      - จะเปิดดำเนินการให้ตามกำลังผลิตที่ตรวจสอบได้จริง แต่จะเพิ่มได้ไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม

2.2 กรณีเป็นโครงการที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

- จะเปิดดำเนินการให้ตามกำลังผลิตที่ตรวจสอบได้จริง โดยจะเพิ่มเกินกว่า 30% ของกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมก็ได้


คำอธิบาย

1. นโยบายและหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนฉบับปัจจุบัน ตาม ประกาศ กกท ที่ 2/2557 มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ทำให้โครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมก่อนและหลังวันที่ 1 มกราคม 2558 ได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน

2. ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการเพิ่มกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์เดิมได้ไม่เกิน 30% หากสิทธิประโยชน์แตกต่างระหว่างโครงการเดิมกับการยื่นขอรับส่งเสรืมเป็นโครงการใหม่

3. การเพิ่มกำลังผลิตตามผลการตรวจสอบเปิดดำเนินการเต็มโครงการ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์การเพิ่มกำลังผลิตไม่เกิน 30% ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย ครับ

Chihiro โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564, 14:58:52 (171 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

ขอบคุณมากค่ะ

NTCCC โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566, 12:08:46 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

การเปิดดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายถึงเป็นการตัดบัญชีเครื่องจักรเพื่อปลอดภาระภาษีไปพร้อมด้วยหรือไม่?

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566, 13:23:04 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#6 Top

การเปิดดำเนินการ หมายถึงการดำเนินการครบถ้วนตามที่ได้รับการส่งเสริม ได้แก่

- มีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระครบตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม

- มีกำลังผลิตครบตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม

- มีขั้นตอนการผลิตครบตามที่ได้รับการส่งเสริม เป็นต้น

ซึ่งต้องเปิดดำเนินการภายใน 36 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม (ขอขยายเวลาเปิดดำเนินการได้)

ไม่เป็นการตัดบัญชีเครื่องจักรเพื่อปลอดภาระภาษีไปพร้อมกัน ครับ

runn โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566, 14:41:06 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#7 Top

ในกรณีที่ทางบริษัท มี CAP วงเงินจากการลงทุน ไม่เกิน 50 ล้าน ซึ่งได้ยกเว้นภาษีปีละไม่ถึง 5 ล้าน ในกรณีที่เช่าพื้นที่อยู่ อยากทราบว่าถ้าไม่จดทะเบียนสัญญาเช่าเพื่อเอามูลค่าตามสัญญาเช่ามาเป็นเงินลงทุน ซึ่งการขอจดทะเบียนสัญญาเช่ามีค่าใช้จ่ายมาก และเมื่อจดแล้วไม่ได้ใช้วงเงินที่เพิ่มขึ้นจากนับรวมมูลค่าในสัญญาเช่า ที่นับเป็นมูลค่าการลงทุน ในกรณีถ้าไม่จดก็ไม่เอามานับรวมเป็นเงินลงทุนใช่มั้ยครับ

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566, 15:24:57 (66 สัปดาห์ ก่อน)
#8 Top

1. ในขั้นอนุมัติให้การส่งเสริม

หากบริษัทชี้แจงว่า จะทำสัญญาเช่าอาคารหรือโรงงาน โดยมีระยะเวลาการเช่ามากกว่า 3 ปีและจดทะเบียนกับกรมที่ดิน

BOI จะรวมมูลค่าเช่าตามสัญญา ในการคำนวณ cap วงเงินด้วย

2. ในขั้นเปิดดำเนินการ

หากบริษัทไม่จดทะเบียนสัญญากับกรมที่ดิน

BOI จะคำนวณ cap วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ใหม่

โดยไม่นำค่าเช่าอาคารหรือโรงงานมานับเป็น cap วงเงิน

และจะแก้ไขวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ในบัตรส่งเสริม

3. การไม่จดทะเบียนสัญญาเช่า ไม่เป็นการผิดเงื่อนไข BOI

แต่จะถูกปรับลด cap วงเงินยกเว้นภาษี ตามข้อ 2

โดยบริษัทจะต้องระมัดระวังไม่ให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เกินกว่าวงเงินที่จะถูกปรับลดตามข้อ 2

หากบริษัทใช้สิทธิยกเว้นภาษีเกินกว่าวงเงินไปแล้ว จะเป็นการใช้สิทธิผิด

ซึ่งบริษัทต้องแก้ไขแบบภาษีเงินได้ และชำระภาษีและค่าปรับต่อกรมสรรพากรให้ถูกต้อง ครับ

runn โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566, 08:12:30 (49 สัปดาห์ ก่อน)
#9 Top

บริษัท มีบัตร 2 ใบ ตั้งอยู๋คนละที่อยู่ แต่อยู่ในอำเภอเดียวกัน บัตรที่ 1 เปิดดำเนินการแล้ว บัตรที่่ 2 ยังไม่เปิดดำเนินการ

ทางบริษัทต้องการ นำเครื่องจักรบัตร 1 ย้ายไปตั้งอยู่ในโรงงานบัตรที่ 2 โดยกำลังการผลิตยังเป็นของบัตร 1

อยากทราบว่า ต้องแจ้ง BOI หรือไม่ ในการตรวจเปิดดำเนินการบัตรที่ 2 ต้องดำเนินการอะไรหรือไม่ครับ

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566, 11:17:16 (49 สัปดาห์ ก่อน)
#10 Top

1. บัตรส่งเสริมจะระบุที่ตั้งโรงงาน เฉพาะจังหวัด และนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น

- บริษัทจะตั้งโรงงานในอำเภอใดของจังหวัดที่ระบุในบัตรส่งเสริมก็ได้

2. ใบอนุญาตเปิดดำเนินการ จะระบุเลขที่ตั้ง ตำบล อำเภอ จังหวัด ของที่ตั้งกิจการ ไว้โดยละเอียด

- การนำเครื่องจักร วัตถุดิบ ที่นำเข้าโดยใช้ยกเว้นภาษีอากร ไปเก็บหรือติดตั้งใช้งานนอกสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตเปิดดำเนินการ จะต้องได้รับอนุญาตจาก BOI


กรณีที่สอบถาม บริษัททจะนำเครื่องจักร (ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ) บัตรที่ 1 ไปติดตั้งในที่ตั้งของบัตรที่ 2 ซึ่งอยู่คนละที่ตั้งกับบัตรที่ 1

- ต้องได้รับอนุญาตก่อน

- อาจมีการนำเครื่องจักรของบัตรที่ 1 ไปใช้ในบัตรที่ 2 จึงต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นโดยละเอียด ครับ

runn โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566, 11:49:20 (49 สัปดาห์ ก่อน)
#11 Top

บริษัททจะนำเครื่องจักร บัตรที่ 1 ไปติดตั้งในที่ตั้งของบัตรที่ 2 ซึ่งอยู่คนละที่ตั้งกับบัตรที่ 1

ทั้ง 2 บัตรไม่ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษ๊นำเข้าเครื่องจักรครับ  ในกรณีนี้ต้องดำเนินการแจ้งหรือไม่ครับ

 

ADMIN โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566, 15:32:01 (49 สัปดาห์ ก่อน)
#12 Top

ความเห็นของแอดมินคือ

การนำเครื่องจักรที่ไม่ได้นำเข้าโดยใช้สิทธิของบัตรที่ 1 ไปติดตั้งที่สถานประกอบการของบัตรที่ 2 แต่ยังคงใช้เพื่อการผลิตของบัตรที่ 1

1. กรณีบัตรที่ 1 ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการ

- ไม่ต้องแจ้ง BOI เนื่องจากยังคงมีที่ตั้งสถานประกอบการในจังหวัดเดียวกัน (และนิคมเดียวกัน) จึงยังไม่ขัดกับเงื่อนไขที่ตั้งในบัตรส่งเสริม
- โดยในขั้นออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการ BOI จะระบุที่ตั้งให้ครอบคลุมทั้ง 2 พื้นที่

2. กรณีบัตรที่ 1 ได้รับในอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

- ให้แจ้ง BOI ทราบ เนื่องจากที่ตั้งสถานประกอบการของบัตรที่ 1 จะไม่ตรงกับที่ระบุในใบอนุญาตเปิดดำเนินการ
- โดย BOI อาจดำเนินการแก้ไขใบอนุญาตเปิดดำเนินการของบัตรที่ 1 ให้ครอบคลุมทั้ง 2 ที่ตั้ง ครับ

<< ก่อนหน้า       1       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด